ส่องธุรกิจ Google หลายแพลตฟอร์มยังคงครองแชมป์ ที่คู่แข่งยากจะเอาชนะได้

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่องธุรกิจ Google หลายแพลตฟอร์มยังคงครองแชมป์ ที่คู่แข่งยากจะเอาชนะได้

Date Time: 26 ม.ค. 2566 17:05 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ย้อนดูธุรกิจ Google แต่ละแพลตฟอร์มใช้เวลาเท่าไรยอดผู้ใช้งานถึงแตะ 10 ล้าน หลัง ChatGPT มาแรง ทำสถิติผู้ใช้งานทะลุ 10 ล้านภายใน 40 วัน

Latest


การเข้ามาของ ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ แทนที่จะมาใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลนานๆ แค่ถาม AI ก็ได้คำตอบภายในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ทำให้ Google ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดเสิร์ชเอนจิน ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่า 92% (ข้อมูลในปี 2565) มานานแบบชนิดที่เรียกได้ว่าหาอะไรมาโค่นยากต้องสั่นคลอนกันเลยทีเดียว

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การออกผลิตภัณฑ์ในสังกัดของ Google ก็มีการขยายออกไปหลากหลายรูปแบบ และได้เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงตลอดเวลามาอยู่แล้ว Thairath Money ได้รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นของ Google พร้อมกับคู่แข่งธุรกิจมาฉายภาพให้เห็นกันได้อย่างชัดเจนขึ้น

1.Google Search

ระบบเสิร์ชเอนจินที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2540 มีจุดแข็งคือระบบ SEO ที่มีเสถียรภาพและน่าเชื่อถือสูง โดยระบบอัลกอริทึมช่วยจัดลำดับเว็บไซต์ยอดนิยม ซึ่งปรับตามลักษณะของผู้ใช้งานเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความถูกต้อง อีกทั้งยังมีบริการโฆษณาเว็บไซต์ Google Ads ที่ใช้ประโยชน์จากเสิร์ชเอนจินของตัวเองจนกลายเป็นแหล่งรายได้หลัก และกลายเป็นเจ้าตลาดเสิร์ชเอนจินด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 92% ทิ้งห่าง Bing ของบริษัท Microsoft และ Yahoo ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 3.42% และ 1.23% ตามลำดับ

2.Google Map
บริการแผนที่ดิจิทัลเปิดให้บริการเมื่อปี 2548 สามารถค้นหาสถานที่และดูเส้นทางได้แบบ Real time มีระบบอัลกอริทึมกับ AI เข้ามาช่วยในการหาเส้นทางอื่นๆ ที่เร็วที่สุดเพื่อให้ไปถึงจุดหมายตามสภาพการจราจร โดยประมวลผลจากตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งานร่วมกับระบบ GPS รองรับการใช้งานบนเว็บไซต์และมือถือทั้งระบบ IOS และ Android ด้วยความได้เปรียบจากเสิร์ชเอนจินของตัวเองที่รวบรวมข้อมูลทั่วโลกเอาไว้ประกอบกับปริมาณการใช้งานมือถือระบบ Android จึงทำให้แผนที่มีความแม่นยำสูงตามไปด้วยจนสามารถครองตลาดได้

3.Google Drive
เป็นบริการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลบนพื้นที่เก็บข้อมูลระบบคลาวด์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีฟีเจอร์หลากหลายช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้แบบ Real Time จากสถิติปี 2565 พบว่า Google Drive ยังเป็นผู้นำตลาดด้วยสัดส่วน 28.13% ตามมาด้วย Dropbox 27.6%

4.Google Chrome
โปรแกรมเว็บเบราเซอร์ (Web Browser) ที่ใช้สำหรับเปิดเว็บไซต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันเป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน เป็นอย่างมากเพราะมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยและปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานในระดับสูง อีกทั้งยังมีความรวดเร็วในการเปิดหน้าเว็บไซต์ จากสถิติปี 2565 ยังเป็นผู้นำตลาดเว็บเบราเซอร์ของโลก ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 65.84%

5.Google Meet
โปรแกรมวิดีโอประชุมทางไกลรูปแบบออนไลน์ ให้บริการทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่มีบัญชี Google ก็สามารถเข้าใช้งานได้ มีฟีเจอร์ช่วยทำงานระหว่างการประชุม เช่น การแชร์หน้าจอการนำเสนอ การนำภาพไปแสดงบนจอทีวีสำหรับการใช้งานในห้องประชุม หรือการใช้ไวท์บอร์ดร่วมกันแบบ Real Time มีคู่แข่งที่สำคัญคือ Zoom ที่เป็นผู้นำส่วนแบ่งทางการตลาด 42.7% ในปี 2565 ในขณะที่ Google Meet ตามหลังอยู่ที่ 31.4%

6.Google Cloud
เป็นระบบคลาวด์แพลตฟอร์มที่ให้บริการลักษณะ Web Server ช่วยในการจัดการ ประมวลผล จัดเก็บ และปกป้องข้อมูลจากการโจรกรรม โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนกับ Server เองซึ่งมีต้นทุนสูง ลดความยุ่งยากขององค์กรในการบริหารโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2565 มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 11% เป็นอันดับสามรองจาก Microsoft Azure และ Amazon Web Services (AWS) ที่ครองตลาดอยู่ที่ 21% และ 34% ตามลำดับ

7.Google Pay
โมบายเพย์เมนต์ที่มีความปลอดภัยในการชำระเงินเมื่อซื้อสินค้าในร้านค้า และแอปพลิเคชัน โดยมี Google Wallet เป็นที่เก็บบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เพื่อให้สามารถใช้กับ Google Pay รวมถึงบัตรสะสมคะแนน บัตรผ่านขึ้นเครื่อง และรายการอื่นๆ โดยจากสถิติปี 2565 ถ้าไม่นับ Alipay และ WeChat Pay ของจีน ซึ่งมีผู้ใช้งานสูงเป็นสองอันดับแรกของโลก ตำแหน่งก็จะตกเป็นของ Apple pay ส่วน Google Pay เป็นอันดับสอง ต่อมาเป็น Paypal ตามลำดับ

8.Google Plus
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เปิดตัวเมื่อปี 2554 โดยมีฟีเจอร์คล้ายกับ Facebook มีฟีเจอร์ที่เป็นจุดเด่นเรียกว่า Hangouts ซึ่งสามารถ Video call ได้ ถึงแม้จะสร้างมาเพื่อดิสรัปคู่แข่งในตอนนั้นอย่าง Facebook แต่ก็ต้องปิดตัวลงในปี 2019 เนื่องจากทำข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลและจำนวนผู้ใช้งานน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

9.YouTube
แพลตฟอร์มรับชมวิดีโอที่มีผู้ใช้งานอันดับ 1 ของโลก ที่รวบรวมวิดีโอไว้ทั่วโลก สามารถรับชมและอัปโหลดวิดีโอได้ทันทีโดยไม่ต้องสมัครบัญชีหรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ใดๆ มีรายได้หลักมาจากการขายเวลาโฆษณาบนคลิปวิดีโอ ถึงแม้คอนเทนต์ YouTube Originals จะไม่สามารถสู้กับ
ซีรีส์และหนังที่ครองตลาดผู้ชมไปแล้วจาก Netflix และ Disney+ แต่ก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของความหลากหลายและแปลกใหม่ของคอนเทนต์จาก YouTuber ที่มาพร้อมกับบริการฟังเพลง YouTube Music ที่คู่แข่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะตามทัน

10.Google Assistant
บริการผู้ช่วยส่วนตัว AI อัจฉริยะที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงให้ช่วยทำกิจกรรมต่างๆ บนสมาร์ทโฟนหรือช่วยสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ความได้เปรียบของ Google คือ การมีระบบปฏิบัติการ Android ที่มีคนใช้งานทั่วโลก บวกกับคลัง Data ของตัวเองซึ่งจะช่วยให้ Google Assistant ฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ปัจจุบัน Google assistant และ Siri ถือเป็นผู้นำตลาดด้วยการครองสัดส่วนคนละ 36% ตามมาด้วยอันดับสอง Alexa อยู่ที่ 25% และอันดับสาม Cortana ที่ 19%


อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ Google ที่ออกมานั้นยังคงมีการครองตำแหน่งผู้นำในตลาดเป็นส่วนใหญ่ และการเข้ามาของ ChatGPT แม้ว่าจะไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของเสิร์ชเอนจิน Google แต่ก็ทำให้ CEO ซุนดาร์ พิชัยมีการประกาศ Code Red เรียกประชุมทีมที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนแนวทางและกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI เมื่อมีข่าวออกมาเช่นนี้จึงมีนักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์กันไปในหลายทิศทาง แต่ถ้ามองออกมา จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่า Google จะตกขบวนใน AI ไปเสียทีเดียว เพราะอย่าลืมว่าบริษัทแม่อย่าง Alphabet ยังมี Deep Mind ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกโมเดล Reinforcement Learning ที่ทำให้สามารถโต้ตอบด้วยข้อมูลกับมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ แบบเดียวกับ ChatGPT ด้วยซ้ำ

และล่าสุดโฆษกของ Google ได้เปิดเผยว่ามีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่า 20 อย่าง รวมถึงเวอร์ชันทดลองของ ผลิตภัณฑ์ Google Search ที่ผสานการทำงานเข้ากับแชตบอต AI ภายในปีนี้ โดยในเวอร์ชันทดลองนี้จะให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และรับรองความถูกต้องของข้อมูลตามข้อเท็จจริงอีกด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ