เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับว่ามีแต่ข่าวธุรกิจที่สร้างความฮือฮา ชนิดที่เรียกว่าไม่รู้จะตามเคสไหนก่อนดี โดยเฉพาะข้อสรุปของ ดีลยักษ์ของสองโทรคมนาคม ที่ล่าสุดได้ประกาศชื่อบริษัทใหม่ ที่เกิดจากการควบรวมออกมาอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ จากการที่ ทรู มีความหลากหลายของบริการมากกว่า
หลายคนตั้งคำถามกันไม่น้อยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่า ดีแทคจะหายไปเลยใช่หรือไม่? แล้วจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้และพนักงานอย่างไร? ก็ได้มีการออกมาชี้แจงแล้วว่า แบรนด์ดีแทคยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติม คือ การมีบ้านหลังใหม่ ที่มีบริการมากกว่า ที่จะทำให้ผู้ใช้ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น เน็ตบ้าน โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก รวมถึงบริการดิจิทัลต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ กสทช. ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องคงแบรนด์ไว้ 3 ปี
แต่อีกหนึ่งความน่าสนใจของเหตุการณ์หลังจากนี้ คงโฟกัสไปที่ทิศทางการเติบโตของกลุ่มทรูหลังจากที่ได้ควบดีแทคเข้ามาแล้ว โดยที่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเลยคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีขนาดใหญ่ขึ้นในทุกมิติ โดยมีสารตั้งต้นจาก จำนวนผู้ใช้ที่หลั่งไหลเข้ามาจากการควบรวมเดิมที่ทรูมีอยู่ 33.6 ล้านหมายเลข ผนวกเข้ากับดีแทค 21.1 ล้านราย รวมทั้งสองแบรนด์กว่า 54.7 ล้านราย (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2565) Thairath Money จะพาไปเจาะกันว่าผู้ใช้จำนวนมากกว่า 50 ล้านรายนี้ จะเข้าไปเติมเต็ม พร้อมสร้างการเติบโตให้กับทรูในจุดใดบ้าง และในอนาคตจะได้เห็นอะไร?
ธุรกิจโทรคมนาคมเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว …
ต้องทำความเข้าใจแบบนี้ก่อนว่า เดิมทีทรูไม่ได้ให้บริการเพียงแค่ธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่เป็นการให้บริการเครือข่ายมือถือ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง ทรูมูฟเอช เพียงเท่านั้น แต่ ทรู ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในเครือที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างระบบนิเวศของตัวเองที่ต่อยอดมาจากผู้ใช้งานธุรกิจเครือข่ายมือถือเป็นหลัก
ต่อมา เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เทรนด์อุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป ดังนั้นธุรกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อให้ไปต่อและยังคงสร้างการเติบโตได้มากขึ้นด้วย
ย้อนกลับไปที่ครั้งแรกที่ได้มีการควบรวมกิจการของทั้งสองยักษ์ใหญ่ ความตั้งใจแรกของดีลนี้ที่ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทออกมาแถลง คือ ต้องการก้าวข้ามการเป็นเพียงธุรกิจโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม ไปสู่การเป็น Tech Company ซึ่งการประกาศออกมาเช่นนี้มีนัยสำคัญต่อความเป็นไปของธุรกิจทั้งหมด อย่างชัดเจน เพราะนั่นหมายความว่า
ธุรกิจโทรคมนาคมแบบเดิมอิ่มตัวจนมาถึงจุดที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้อีกต่อไปแล้ว โดยเครือมือถือกลายเป็นเพียงทางผ่านให้ผู้ใช้งานเข้าถึงโลกดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งการแข่งขันของธุรกิจนี้ก็เน้นกันไปที่การออกแคมเปญ ลดราคาเพื่อดึงผู้ใช้ อีกทั้งการลงทุนในการขยายเครือข่ายยังใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลอีกด้วย
โดยผลสำรวจจาก Cable.co.uk รายงานว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยได้รับการจัดอันดับให้มีค่าบริการดาต้าที่ถูกที่สุดในอาเซียน แม้ว่าจะมีต้นทุนคลื่นความถี่สูงที่สุดในโลก
ซึ่งถ้ามองในแง่ของอัตราการเติบโตเชิงรายได้กำไร เทียบกับต้นทุน อาจไม่ได้มีความคุ้มค่าสักเท่าไหร่ แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน
ดังนั้นจึงทำให้ ผู้ให้บริการสัญญาณเป็นเหมือนท่อส่ง สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจในอนาคตที่ลดต่ำลง หรือเรียกง่ายๆ ว่าใกล้ถึงทางตันเข้าทุกที
หลังจากที่เห็นถึงเหตุผลในเชิงธุรกิจที่ต้องการที่จะทรานส์ฟอร์มแล้ว มาพิจารณากันถึงโอกาสและผลประโยชน์ของกลุ่มทรูที่ได้จากการควบรวมกันบ้าง ….
รวมร่างเพื่อแปลงกายสู่ธุรกิจเทคโนโลยี…
แน่นอนว่าการควบรวมครั้งนี้ จะมีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่หลีกหนีจากความเป็นธุรกิจโทรคมนาคม ไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจผ่านแหล่งรายได้ใหม่ ที่เรียกได้ว่าเป็นแสงสว่างให้กับธุรกิจโทรคมนาคมอีกครั้ง คือ ธุรกิจดิจิทัล
โดยแผนหลังจากควบรวมของกลุ่มทรู แน่นอนว่าที่เห็นชัดคือ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการประมาณการกันไว้ว่า รายได้จะเติบโตแตะระดับ 217,000 ล้านบาท ส่วนกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายราว 83,000 ล้านบาท
และส่วนแบ่งการตลาดจะอยู่ที่ไม่เกิน 40% ซึ่งถ้าเป้าหมายเพื่อแข่งกับ AIS ที่มีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 40% ก็ไม่รู้ว่าจะนับอย่างไรให้ไม่เกินจำนวนนี้ ในขณะที่ตลาดนี้ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ที่สนามมีไว้สำหรับผู้เล่นรายใหญ่สองราย
นอกจากนี้จะมีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ถ้าตามแผนเดิมที่เคยมีการประกาศไว้ โครงสร้างของธุรกิจใหม่ ที่นอกเหนือไปจากบริการเครือข่ายสัญญาณ จะมีตั้งแต่ AI IoT Digital Media Cloud Technology SPACE Technology รวมถึงจะมีการจัดตั้ง Venture Capital มูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศที่มาเปิดในไทยด้วย
สำหรับธุรกิจใหม่ของกลุ่มทรูในส่วนของการให้บริการเทคโนโลยีใหม่นั้น จะเป็นการต่อยอดมาจาก True Internet Data Center (trueICD) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการโซลูชันบนระบบคลาวด์ ที่นำไปสู่ trueIoT และ true analytics ที่จะเป็นส่วนของ การวิเคราะห์ข้อมูล แอปพลิเคชัน AI และ Blockchain ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Digital Media จะต่อยอดมาจากบริการเดิมอย่าง trueID และ trueYOU
หลังจากที่เห็นอาณาจักรของทรู รวมถึงทิศทางที่ต้องการจะมุ่งไปในอนาคตแล้วนั้น คงจะนึกภาพออกว่า ถ้าผู้ใช้จำนวนกว่า 54.7 ล้านราย มาใช้บริการผลิภัณฑ์ต่างๆ และอยู่ในระบบนิเวศของกลุ่มทรู จะทำให้แต่ละส่วนธุรกิจมีโอกาสเติบโตขนาดไหน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดิจิทัล
และที่สำคัญทรูอาจมองไกลถึงการต่อยอดเข้าสู่ Money Game อย่าง Virtual Bank ที่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง AIS ซึ่งมีทรัพยากรในลักษณะเดียวกัน ประกาศออกมาอย่างชัดเจนพร้อมจับมือพันธมิตรอย่างแข็งแกร่งในการเข้าชิงใบอนุญาตที่แบงก์ชาติมีไว้อย่างจำกัด
เพราะทรูเองก็มี Ascend Group ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่คุ้นเคยกันดีในฐานะบริษัทแม่ของ Ascend Money สตาร์ทอัพฟินเทคระดับยูนิคอร์นเจ้าของ TrueMoney Wallet ที่มีกลุ่ม CP เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ พร้อมด้วยพันธมิตรเหนียวแน่นอย่าง Ant Group พี่ใหญ่ด้านฟินเทคบินตรงจากจีนมาเสริมทัพ
แม้ Ascend Group จะแยกตัวมาจาก ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อความคล่องตัวแล้ว แต่ความสัมพันธ์ยังคงแน่นแฟ้น ที่ไม่ใช่แค่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกันเท่านั้น แต่ trueICD ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นธุรกิจในเครือ Ascend Group ยังเป็นหนึ่งในทีมดาวรุ่งของธุรกิจใหม่ของทรูด้วย
ทั้งหมดนี้ นำมาสู่การเป็นที่น่าจับตามองจริงๆ ว่าหลังกระบวนการควบรวมสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยนั้น จะขยายขนาดของยักษ์ให้ใหญ่ได้มากแค่ไหน และมาลุ้นกันว่าจะก้าวสู่ Money Game ด้วยการเข้าเป็นผู้ท้าชิงใบอนุญาต Virtual Bank หรือไม่และเป็นไปในลักษณะใด…