บรรยง ชี้โครงสร้างรัฐไทย ทำเศรษฐกิจติดกับดัก มีคอร์รัปชัน ขาดการแข่งขัน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

บรรยง ชี้โครงสร้างรัฐไทย ทำเศรษฐกิจติดกับดัก มีคอร์รัปชัน ขาดการแข่งขัน

Date Time: 24 ม.ค. 2566 12:38 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • บรรยง ชี้โครงสร้างรัฐไทย ทำเศรษฐกิจติดกับดักนานนับสิบปี มองรัฐไทยใหญ่เกินไป ขาดการแข่งขัน แนะปฏิรูปแบบไม่แตกหักคือคำตอบ

Latest


บรรยง ชี้โครงสร้างรัฐไทย ทำเศรษฐกิจติดกับดักนานนับสิบปี มองรัฐไทยใหญ่เกินไป ขาดการแข่งขัน แนะปฏิรูปแบบไม่แตกหักคือคำตอบ

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และศิษย์เก่า คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวผ่านรายการ Econ Connect โดยสมาคมศิษย์เก่า คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาช้า ไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่มีรากของปัญหาในระดับโครงสร้างรัฐมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง

ย้อนไปเมื่อปี 2503 ที่ธนาคารโลกเริ่มวัดรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศทั่วโลก ไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน นับแต่นั้นมา ช่วงปี 2500-2555 ประเทศไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งเป็นอันดับสามของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม 10 ปีให้หลังมานี้ ระเทศไทยกลับเติบโตได้เชื่องช้า มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นขยายตัวได้ 6-10% ต่อปี ที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนมากรวมทั้งจาก TDRI กล่าวถึงขนาดของรัฐไทยที่ใหญ่เกินไป แสดงถึงบทบาทรัฐและอำนาจรัฐมีมากเกินไป

ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกได้พิสูจน์ว่า อำนาจรัฐที่มากเกินไปไม่ดี รัฐต้องมีขนาดที่จำกัดและทำเฉพาะสิ่งที่ควรทำเท่านั้น อาทิ ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 130 ล้านคน มีข้าราชการเพียง 5 แสนคน ส่วนประเทศไทยมีข้าราชการถึง 2.2 ล้านคน

อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ในการบริหารงานภาครัฐสูงไทยที่สุดในเอเชีย หรือเท่ากับ 8% ต่อจีดีพี เมื่อภาครัฐรับผิดชอบงานส่วนใหญ่ในประเทศแบบผูกขาด ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมักต่ำกว่าภาคเอกชนเพราะขาดการแข่งขัน

"ยิ่งระบบราชการใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือคอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันคือการขายอำนาจรัฐ โครงสร้างที่ไม่ดีทำให้คนไม่ดีอยากเข้าไปใช้อำนาจรัฐ ถ้ารัฐเล็กลง คอร์รัปชันไม่ได้ คนที่แสวงหาผลประโยชน์ก็อยู่ไม่ได้"

นายบรรยง เสนอว่า การแก้ปัญหาโครงสร้างประเทศ คือการลดรัฐ ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน ในปัจจุบันบริการพื้นฐานของประเทศทำโดยรัฐวิสาหกิจ ด้วยงบประมาณรัฐวิสาหกิจในแต่ละปี 5-6 ล้านล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดก็ยังดำเนินธุรกิจได้ แต่รัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งกับภาคเอกชนมักขาดทุนยับเยินเกือบทุกราย

ในปัจจุบันมีดัชนีสำคัญ 5 ตัวที่ใช้วัดความเจริญในระดับประเทศ ได้แก่

1 ดัชนีวัดรายได้ต่อหัว หรือ GDP per capita

2. ดัชนีวัดความกระจายความมั่งคั่ง หรือ Gini Coefficient

3. ดัชนีการเป็นประชาธิปไตย หรือ Democracy Matrix

4. ดัชนีการเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์ หรือ Index of Economic Freedom

5. ดัชนีวัดความโปร่งใส หรือ Corruption Perceptions Index

โดยจะพบว่าประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลก อาทิ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะมีคะแนนสูงทั้ง 5 ดัชนี สะท้อนว่าเงื่อนไขสำคัญของความเจริญมีสามอย่าง คือ เป็นประชาธิปไตย ใช้ระบบทุนนิยมแบบแข่งขันสมบูรณ์ และมีระบบตรวจสอบที่ไม่อนุญาตให้มีการโกงกิน หากบรรลุได้ก็จะนำไปสู่ความมั่งคั่งและทั่วถึงทั้งประเทศ

สร้างแรงจูงใจไปพร้อมแรงกดดัน

ในสังคมไทยอาจไม่ชอบคำว่าทุนนิยม แต่แท้จริงแล้วทุนนิยมที่ดีสร้างโลกมาโดยตลอด ในโลกของการแข่งขันต้องมีทั้งสองแรง คือ แรงจูงใจและแรงกดดัน ถ้าไม่กดดันก็จะเป็นแบบระบบคอมมิวนิสต์ แม้มีเจตนารมณ์ที่ดีจากการจัดสรรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่มีคนจำนวนมากรอรับส่วนแบ่งมากกว่าลุกขึ้นมาทำเอง ต่างจากระบบทุนนิยมที่เน้นสร้างประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้คนทุ่มเทสร้างนวัตกรรม ผลักดันประสิทธิภาพ จนกระทั่งระบบคอมมิวนิสต์สู้ไม่ได้และถูกทั้งโลกยกเลิกไปโดยปริยาย

สำหรับการสร้างแรงกดดันต้องมาจากภาคประชาชน ภาครัฐต้องเริ่มด้วยการยอมรับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งต้องให้สาธารณชนรับรู้และเข้าใจปัญหา เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน ถูกพิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่าคุณธรรมจริยธรรมแก้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องจับต้องยาก แต่เมื่อประชาชนตระหนักรู้ว่าถูกเอาเปรียบ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปมีประโยชน์กว่าแบบปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติมีต้นทุนที่สูงเสมอมา

ยกตัวอย่างเช่น รัสเซีย หรืออาหรับสปริงที่เคยมีการปฏิวัติ ยังไม่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้นจึงต้องใช้การจัดเรียงโครงสร้างประเทศใหม่แบบไม่แตกหัก หรือ Reform ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

"ในปี 2566 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ความคาดหวังคือการได้รัฐบาลที่ตระหนักรู้ถึงปัญหา และเริ่มลงมือแก้ปัญหาที่โครงสร้าง แต่สิ่งที่กังวลคือเริ่มเห็นการหาเสียงแบบใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้ว นับเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เห็นได้จากบทเรียนโครงการจำนำข้าวทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยถดถอย ทรัพยากรของรัฐถูกใช้ไปมหาศาลและเป็นหนี้ติดพัน".


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ