สมาคม “ตั้งตระกูล” พร้อมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คนจีนสีขาวเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้าน เชื่อจีนเปิดประเทศไม่ได้มีแต่นักท่องเที่ยวจีน แต่จะมีนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกจำนวนมากด้วยเหตุผลจูงใจมากมาย
ที่สมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย นายสมชาย เวชากร นายกสมาคมตั้งตระกูล และคณะกรรมการบริหารสมาคม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในโอกาสที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศว่า สมาคมตั้งตระกูล ยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักลงทุนจีนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้านอย่างสุจริตในทุกๆ เรื่อง
นับตั้งแต่เรื่องของวัฒนธรรม จารีตในสังคมไทย ไปจนถึงข้อกฎหมายที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนมาก ตลอดจนกฎเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของ บีโอไอ ซึ่งปัจจุบันได้มีการแก้ไขให้การเข้ามาลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยดำเนินไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยในเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทย เช่น สินค้าเกษตร หากสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกไปขายได้อย่างประเทศญี่ปุ่น การลงทุนจากต่างประเทศก็จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกก็จะสูงตามไปด้วย
“ในโลกยุคใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้ประกอบการยังอยู่ในโลกของตัว หรือ สุขสบายอยู่ในแต่ในโลกของตัวก็พอ (Comfort Zone) โอกาสดีๆ ของคุณจะหมดไป และล้มหายตายจากไปในที่สุด”
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า การทำวิจัย และพัฒนาเป็นความสำคัญมากสำหรับภาคการผลิตเพื่อส่งออก แต่ เมื่อการปรับโครงสร้างการผลิตยังไม่เกิดขึ้นครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม ประเทศไทยก็คงจะเหลือเครื่องยนต์เดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ รายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวนั่นเอง แต่ก็ยังนับเป็นข่าวดีในแง่ของธุรกิจการท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่า น่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสร้างรายได้ให้แก่คนไทยในประเทศได้อีกมาก หรือ มีนักท่องเที่ยวโดยรวมเพิ่มขึ้น 25 ล้านคนจากปี 2565 ที่ผ่านมา
“ย้อนกลับมาดูสิ่งดีๆ ที่ประเทศไทยมี คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีอัตราต่ำเพียง 7% ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ไม่ได้สูงเหมือนในสหรัฐฯ หรือ ยุโรป สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่จูงใจให้นักลงทุนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากกว่าจะไปลงทุนในดินแดนที่เก็บภาษีสูงๆ”
แต่ก็กระนั้นก็ยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะในเรื่องของการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์มากมายจากข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ขณะเดียว กันก็ควรพิจารณาด้วยว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมใดที่ช่วยเหลือไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ และปล่อยให้ล้มหายตายจากไป ไม่ใช่อุ้มไว้ให้เป็นปัญหาแก่ภาคธุรกิจโดยรวม
ด้านเจ้าสัวชุมพล พรประภา คณะกรรมการบริหารของสมาคมตั้งตระกูล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ครอบครัวพรประภา ซึ่งเคยทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสันของญี่ปุ่น ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจสู่การร่วมลง ทุนกับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนอย่าง ค่าย BYD แล้ว หลังจากวิเคราะห์การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าพบว่ากำลังมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้โดยเหตุจากข้อห้ามของรัฐบาลจีนเรื่องที่จะไม่ให้มีการขายรถยนต์สันดาปภายในปี 2030 ในประเทศจีนอีกต่อไปแล้วนั่นเอง สำหรับประเทศไทย สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ปี 2565 มีจำนวน 10,000 คันเศษ ส่วนในปี 2566 คาดว่า จะมีการจดทะเบียน เพิ่มเป็น 25,000-30,000 คัน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ปีถัดไปจะมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 50% ส่วนยอดการผลิต และจำหน่ายรถยนต์ในค่ายญี่ปุ่นที่ยังคงยึดการผลิตรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาป และพยายามก้าวสู่การผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนนั้น นายชุมพล กล่าวว่า ต้นทุนของรถยนต์ไฮโดรเจนมีราคาแพงเกินกว่าผู้บริโภคจะรับได้
“ปัจจุบัน จีนมีเทคโนโลยีการผลิตที่ไปไกลกว่าประเทศไทยเรามาก โจทย์นี้จึงยากสำหรับรัฐบาลไทยที่จะตัดสินใจว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐาน และเป็นพวก Real Sector หรือภาคการผลิตที่แท้จริงสำหรับการสร้างงาน สร้างเงินได้...
ขณะที่กลุ่มเศรษฐกิจเก่า หรือการผลิตรุ่นเก่าๆ (Old Economy) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศ ไทยในเวลานี้ จะคงสถานะพวกเขาไว้อย่างไร ที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญก็คือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศว่า ภายในปี 2035 จีนจะสร้างมาตรฐานของจีนให้เป็นมาตรฐานโลก และถึงวันนี้ คนอื่นจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของจีน ส่วนไทย อย่าเพิ่งวางใจว่า จะมีคนจีนเข้าประเทศไทยเป็นสิบล้านคน ถ้าไม่สร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีก่อน”