“คงกระพัน” เดินหน้าสู่ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล–พลาสติกย่อยสลายได้เอง ลดขยะ เดินหน้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยันพร้อมรับเศรษฐกิจโลกถดถอย เพราะกระจายความเสี่ยงลงทุน นำเทคโนโลยีมาลดต้นทุน บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ไว้รองรับ นับตั้งแต่วิกฤติโควิด–19
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC (จีซี) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของจีซี ในปี 2566 ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมประยุกต์ใช้ภายใต้หลักการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในแนวคิด GC Circular Living และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการผลิตลงให้ได้ 20% ภายในปี 2573 และลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี 2593 ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตทั้งระบบ
ตั้งเป้าปีนี้กำไรไม่หวั่นโลกถดถอย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้นั้น นายคงกระพันกล่าวว่าจีซีไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากได้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ต่อเนื่องความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทั้งการกระจายความเสี่ยงด้วยการไปลงทุนในต่างประเทศ การลดต้นทุนการผลิตบริหารจัดการต้นทุนองค์กร การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ บริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น โดยปีที่ผ่านมา สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรกว่า 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 ยังอยู่ในภาวะขาดทุน ซึ่งได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วว่า ขาดทุน 7,784 ล้านบาท และสถานการณ์ปีนี้คาดว่าจะกลับมามีกำไร
“จีซี ยังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบการซื้อกิจการ โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล หรือโครงการลดก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเป็นการเดินตามวิสัยทัศน์เศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่การปฏิบัติการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีตั้งแต่การบริหารจัดการขยะอัจฉริยะ นวัตกรรมการรีไซเคิล และอัปไซคลิง รวมถึงการผสานทักษะของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ”
ปักหมุดใหม่ “ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก”
นายคงกระพัน กล่าวต่อว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการจัดการขยะพลาสติก และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยสร้างงานในชุมชน ตอบโจทย์ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทยด้วย จีซี ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท แอลพลา กรุ๊ป ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล โดยทั้ง 2 บริษัทมีความตั้งใจร่วมกันที่จะรักษาคุณค่าของพลาสติกไว้ให้มากที่สุด ภายใต้ชื่อบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด มาดำเนินบริหารจัดการ
โดยโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะผลิตเป็นพลาสติกคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา สหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration : US FDA) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เริ่มเดินเครื่องผลิตเมื่อเดือน ต.ค.2565 ที่ผ่านมามีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน 30,000 ตันต่อปี และเม็ดพลาสติกชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้งและมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่
“ช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทย ได้ถึง 60,000 ตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านต้น”
ต่อยอดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
นายคงกระพัน กล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัท เอ็นวิคโค อยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) สำหรับรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะได้รับการอนุมัติช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ใช้กำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นเป็น 60-80% จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตได้ 40% และส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพิ่มขึ้น
แม้พลาสติกรีไซเคิลจะมีต้นทุนสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 20-30% แต่เชื่อว่าลูกค้าจะบริหารจัดการต้นทุน ด้วยการจัดสรรงบประมาณและงบด้านกิจการเพื่อสังคม (CSR) มาร่วมในกระบวนการผลิต เพราะหากเทียบกับการที่ผู้ประกอบการโดยตั้งกำแพงภาษีจากยุโรปที่กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งต้องเสียภาษี 800 ยูโรต่อตัน ที่จะใช้ปีนี้ การใช้พลาสติกรีไซเคิลจะคุ้มค่ากว่าการถูกเรียกเก็บภาษี
“เชื่อว่าปี 2566 การใช้พลาสติกรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้น และหลังได้รับมาตรฐานความปลอดภัยจาก อย. ใช้พลาสติกในหมวดอาหารได้ และทำให้โรงงานพลาสติกรีไซเคิลทำงานอย่างครบวงจร โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมสร้างนิสัยคัดแยกขยะ ช่วยเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมและยังช่วยสร้างเศรษฐกิจ ระดับชุมชน ซึ่งเป็นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน”