มาแล้ววิธียื่นภาษีปี 2565 แบบออนไลน์ รวมถึงค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ควรรู้
ใครบ้างที่ต้องยื่นเสียภาษี
คนไทยที่มีรายได้ทุกคนควรยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีก็ตาม โดยกฎหมายระบุไว้ว่า
- คนไทยทุกคนกรณีที่โสด มีรายได้ และได้เงินเกิน 120,000 บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายเดือนละ 10,000 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี
- คนไทยทุกคนกรณีที่สมรส มีรายได้ และได้เงินเกิน 220,000 บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายเดือนละ 18,333 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี
เอกสารที่ควรเตรียมก่อนยื่นเสียภาษี
- ชื่อ สกุล ของผู้ยื่นภาษี และคู่สมรส
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่ทำงานอยู่ หรือนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างอื่นๆ
ยอดเงินที่เป็นรายได้
- ยอดที่จ่ายให้กับกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, SSF, RMF, LTF, กองทุนประกันสังคม, กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
- หนังสือรับรองการหักเสียภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ใบ 50 ทวิ
- เลขบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส, บุตร, บิดามารดา ที่นำมากรอกยื่นเพื่อลดหย่อนภาษี
หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตของผู้ยื่นภาษี และประกันสุขภาพของบิดาหรือมารดาที่นำมายื่นลดหย่อนภาษี
- ข้อมูลการยื่นลดหย่อนภาษีอื่นๆ เช่น ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล หรือ มูลนิธิที่กำหนด
ยื่นเสียภาษีปี 65 ถึงเมื่อไหร่
ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2565 แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สรรพากร (คลิกที่นี่) ยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 เม.ย. 66 ส่วนที่ต้องไปยื่นที่สำนักงานกรมสรรพากรนั้นสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มี.ค. 66
ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ต่างกันอย่างไร
หลายคนยังสงสัยว่า เราจะยื่นภาษีเงินได้นั้นควรกรอกข้อมูลผ่าน ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ดี โดยข้อแตกต่างมีดังนี้
ภ.ง.ด.90 : รายได้ที่รับจากการจ้างงาน รวมถึงรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน ค่าเช่าบ้าน เงินปันผล หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีรายได้จากช่องทางอื่น นอกเหนือจากเงินเดือน
ภ.ง.ด.91 : รายได้ที่ได้จากการจ้างงานเพียงอย่างเดียว เช่น เงินเดือน โบนัส เบี้ยประชุม เป็นต้น
สำหรับการลดหย่อนภาษีปี 2565 นั้นมีดังนี้
ค่าลดหย่อนกลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนตัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรสคนละ 60,000 บาท (อนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน)
- ค่าลดหย่อนบุตร (คนที่ 2 เป็นต้นไป) คนละ 30,000 - 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการ/ทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มเบี้ยประกัน
- เบี้ยประกันชีวิต หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่เสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และหากรวมกับ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มการลงทุนในกองทุนต่างๆ
- กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ หากรวมกับ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับ RMF เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.
- ลงทุนกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับกบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินประกันสังคม ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีตามมาตรการรัฐ
- ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ช้อปดีมีคืน 2565 ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจในวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนในกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักลดหย่อนอื่นๆ ทั้งหมด
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคมและโรงพยาบาลรัฐ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักลดหย่อนหย่อนอื่นๆ (ยกเว้นเงินบริจาคทั่วไป)
- เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท