จับกระแสลงทุนรับปีกระต่าย หุ้น-ทองคำ-น้ำมัน-ดอกเบี้ย-ค่าเงินบาท

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับกระแสลงทุนรับปีกระต่าย หุ้น-ทองคำ-น้ำมัน-ดอกเบี้ย-ค่าเงินบาท

Date Time: 5 ม.ค. 2566 06:45 น.

Summary

  • เศรษฐกิจไทยในปีกระต่าย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย ดอกเบี้ยขาขึ้น จีนคลายล็อกดาวน์ วิกฤติพลังงานในยุโรป ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจบานปลาย โควิดกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นทุกวัน ในฟากฝั่งภาคธุรกิจ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปีกระต่าย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย ดอกเบี้ยขาขึ้น จีนคลายล็อกดาวน์ วิกฤติพลังงานในยุโรป ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจบานปลาย โควิดกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นทุกวัน ในฟากฝั่งภาคธุรกิจ ยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง และค่าดอกเบี้ยต่างขยับขึ้นไปหมด

ภาคของการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กลับมาหดตัว ผลพวงจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าถดถอย บวกกับค่าเงินบาทแข็ง ฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทยลดลง นับจากนี้ต้องหวังรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ

มองไปข้างหน้าปัจจัยความไม่แน่นอน ยังคงประดังเข้ามาตลอดเวลา และเต็มไปด้วยความผันผวน ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการลงทุน เพียงแต่ทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นควรถือเป็นโอกาส ควรหาจังหวะเข้าลงทุน หากเลือกลงทุนได้ถูกต้องเดินถูกทาง ก็สามารถสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยได้รวดเร็ว

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้คัดสรรเหล่าบรรดากูรูชั้นนำในแวดวงของตลาดหุ้น ทองคำ การเงิน และน้ำมัน มาชี้ช่องทางการลงทุนในปีกระต่าย ดังนี้...

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ส่องตลาดหุ้นไทยน่าลงทุนที่สุด

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย

ให้ทิศทางตลาดหุ้นปีนี้ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวอย่างรุนแรง และมีปัจจัยความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล การลงทุนในตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงสูงและต้องทำด้วยความระมัดระวัง ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยมักให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในปีนั้น ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศควรศึกษาความเสี่ยงให้รอบด้าน

มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะค่อนข้างแน่นอนแล้ว สะท้อนทั้งจากดัชนี US Recession Probability ที่พุ่งแตะเกือบ 100% และภาวะ Inverted Yield Curve (ดอกเบี้ยสั้นสูงกว่าดอกเบี้ยยาว) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนก็ส่งสัญญาณอ่อนแอลงต่อเนื่อง และน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกัน ท่ามกลางวิกฤติพลังงานและเงินเฟ้อที่ขยายตัวทำจุดสูงสุดใหม่

ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรป คาดว่าจะยังอยู่ในขาลงในปีนี้ ยกเว้นบางช่วงที่อาจเกิดภาวะ Bear Market Rally หรือการปรับขึ้นช่วงสั้นในขณะที่ภาพใหญ่ยังเป็นขาลง โอกาสที่จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและตลาดหุ้นน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะเงินเฟ้อรอบนี้ไม่น่าลดลงง่ายๆ

ส่วนตลาดหุ้นจีนดูน่าสนใจขึ้นในระยะสั้น หลังรัฐบาลจีนเริ่ม ผ่อนคลายมาตรการโควิดลงบ้าง แต่ในระยะยาวนักลงทุนยังคงต้องระมัดระวัง เพราะจีนเริ่มใช้นโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับตลาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนรัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจมากกว่าภาคธุรกิจเอกชน

“ตลาดหุ้นไทย คือหนึ่งในตลาดหุ้นที่น่าลงทุนที่สุดในปีหน้า และมีแนวโน้ม Outperform ตลาดหุ้นโลกต่อเนื่องไปอีก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เริ่มกลับมาเป็นบวก”

โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในปีหน้า อีกทั้งไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อจีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นช่วงกลางปีนี้

ปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับตลาดหุ้นไทย คือการเมือง ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าผลการเลือกตั้งที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นหรือแย่ลง และรัฐบาลใหม่จะมีทีมเศรษฐกิจที่สามารถเรียกคะแนนความเชื่อมั่นได้ขนาดไหน!!

ธนรัชต์ พสวงศ์
ธนรัชต์ พสวงศ์

“ทองคำ” ปีกระต่ายสดใสยุคขาขึ้น

ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

มองแนวโน้มราคาทองคำตลาดโลกในปีนี้ คาดว่าจะเป็นขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะถดถอย และแรงซื้อทองแท่งจากจีนและอินเดียที่เป็นผู้ใช้ทองคำรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก

ซึ่งในปีนี้คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีจะอยู่ที่ 5.00-5.25% ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ขณะที่การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรปและอังกฤษ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยได้

ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอดีตโดยส่วนใหญ่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ถ้าย้อนกลับไปราวกว่า 50 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯเคยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 7 ครั้ง ราคาทองคำโดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ดังนั้นกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงคาดว่าจะมีแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวลง ไม่ได้ถดถอยรุนแรง แต่เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอยจากการขาดแคลนพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูง

ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจของจีนและอินเดียในปีนี้ จะขยายตัว 4.4% และ 6.1% ตามลำดับ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียที่คาดจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ความต้องการทองแท่งจากจีนและอินเดียจะสูงขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ประเมินว่า ราคาทองคำตลาดโลกปีนี้จะปรับขึ้นแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า ส่วนจุดต่ำสุดคาดว่าจะอยู่ระดับ 1,660–1,680 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดคืออัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯและยุโรปยังอยู่ในระดับที่สูง และเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ส่วนเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นและคาดว่าจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งเงินลงทุนจากต่างประเทศคาดจะไหลเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย ทำให้การลงทุนในทองแท่งต้องระวังความเสี่ยงจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

การลงทุนระยะสั้นแนะนำเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำตลาดโลกปรับลดลงมาที่ 1,730 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนระยะยาวแนะนำทยอยสะสมที่ราคาต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้อาจเลือกลงทุนทองแท่งในรูป เงินดอลลาร์สหรัฐฯหรือ USD Gold Trade หรือลงทุนทองแท่งในรูปเงินบาท แต่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้ USD Futures ในตลาด TFEX

ฐิติมา ชูเชิด
ฐิติมา ชูเชิด

ดอกเบี้ยยังขึ้นต่อ–เงินบาทแข็ง

ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

มองแนวทิศทางดอกเบี้ยของไทยปีนี้ “จะเป็นขาขึ้น ตามการส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ที่สื่อสารชัดเจนว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินไทยที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า คือจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนไป (Gradual and measured policy normalization)”

หลังจากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นแล้ว ก็จะเห็นการส่งผ่านนโยบายการเงินจากดอกเบี้ยนโยบายไปยังดอกเบี้ยอื่นๆ ในตลาดการเงินตามมา ธุรกิจและประชาชนคงต้องเตรียมพร้อมเจอกับภาวะต้นทุนเงินกู้ที่จะสูงขึ้นเทียบกับช่วงโควิดที่ดอกเบี้ยไทยต่ำมาก

ถ้ามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ล่าสุด ธปท.ประเมินว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยก็คงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ กดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำสุดเท่าที่เคยทำมาอยู่ที่ 0.5% นานกว่าสองปีในช่วงโควิด แต่สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยกลับสู่ระดับปกติที่เคยเป็นได้

สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อไทยปีหน้าจะยังสูงกว่าเป้าเงินเฟ้อ 1–3% ของ ธปท.ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ก่อนกลับเข้าเป้าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะสอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวเพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย แม้ภาพรวมเงินเฟ้อปีหน้าจะลดลงจากปีนี้ที่สูงกว่า 6% ตามราคาน้ำมันโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่เริ่มปรับลง แต่ราคาพลังงานในประเทศคงไม่ได้ลดตามมากนัก เพราะรัฐบาลช่วยตรึงราคาไว้ช่วงโควิดมีภาระอุดหนุนกว่าสองแสนล้านบาท ในช่วงข้างหน้าคงเห็นรัฐบาลทยอยลดการอุดหนุน และมีกลไกเก็บเงินคืนภาระก้อนนี้จากผู้ใช้พลังงาน จึงน่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนพลังงานไปราคาสินค้าและบริการอื่นตามมา

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มต่อเนื่องจาก 1.25% ณ สิ้นปี 65 เป็น 2% หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในปีหน้าไม่เปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงมากและยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินคงประเมินขนาดและจังหวะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

นอกจากดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ยังมีการ สิ้นสุดของมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) ในช่วงโควิดจาก 0.46% เป็น 0.23% ของฐานเงินฝากเพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้อย่างน้อย 0.4% จึงมองว่าการเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินในอัตราเดิมตั้งแต่ต้นปีนี้ จะมีผลให้เกิดการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามกลไกที่เคยเกิด ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะปรับสูงขึ้นตามด้วยเหตุผลนี้อีก รวมถึงการ สิ้นสุดของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวในเดือน เม.ย.นี้ จะทำให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมากหรือมีกลไกรัฐค้ำประกันความเสี่ยงเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจในช่วงโควิดจะหมดลง

ส่วนค่าเงินบาทปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในกรอบ 33–34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 66 ค่าเฉลี่ยปีหน้าอยู่ในช่วง 33.5–34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะอ่อนค่าลงตามการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปสู่ระดับที่สูงมากพอแล้ว ที่สำคัญเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ ที่น่าจะชะลอลงมากหลังยาแรงของเฟดออกฤทธิ์ มองกลับมาปัจจัยในประเทศเอง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ มองแนวโน้มปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะสูงกว่าปีนี้เกินสองเท่าราว 28 ล้านคน โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศ

นิธิภัทร แสงดาวฉาย
นิธิภัทร แสงดาวฉาย

น้ำมันดิบดูไบ 85-95 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นิธิภัทร แสงดาวฉาย นักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts)

ทีม PRISM Experts ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของประเทศไทย ในปีนี้ราคาจะเคลื่อนไหวในกรอบเฉลี่ย 85–95 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพราะมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่กำลังการผลิตจากรัสเซียอาจจะหายไปจากตลาด หลังสหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเต็มรูปแบบ รวมทั้งความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ หรือโอเปกพลัส (OPEC+) ในการพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก

“ต้องจับตาผู้ผลิตรายอื่นๆว่า จะสามารถเพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่ขาดหายไปจากรัสเซียได้มากน้อยเพียงใด โดยคาดว่าน้ำมันจากรัสเซียจะหายไปจากตลาด 500,000–1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเด็นการยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา ที่อาจเป็นหมากอีกตัวหนึ่งในเกมการต่อรองของราคาน้ำมันโลก ในประเด็นการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเข้ามาในตลาดจากหลายๆผู้ผลิต”

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ยังจะต้องจับตาต้นทุนการผลิต ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ และนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่ม Non-OPEC อาจจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าระดับ 90 เหรียญฯ นอกจากนี้โอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรักษาสมดุลของตลาด แต่อาจจะทำได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก โดยอาจเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียง 600,000 บาร์เรลต่อวัน

ทีม PRISM ขอฟันธงว่า ในปีนี้กำลังการผลิตน้ำมันโลก โดยเฉพาะที่มาจากรัสเซียจะปรับตัวลดลง 800,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่จากโอเปกพลัสปรับตัวเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรลต่อวัน และจาก Non–OPEC ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ