เปิดบทสรุปเศรษฐกิจปีเสือลำบาก สแกนมุมมองวิกฤติ โอกาสปี 2566

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดบทสรุปเศรษฐกิจปีเสือลำบาก สแกนมุมมองวิกฤติ โอกาสปี 2566

Date Time: 26 ธ.ค. 2565 07:01 น.

Summary

  • หลังจากเทศกาลคริสต์มาสผ่านไป เราเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 ปีแห่งความยากลำบากอีกปีหนึ่งของคนไทย ทั้งจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าจะคลี่คลาย แต่ก็ไม่สามารถถอดหน้ากาก

Latest

กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย เอสเอ็มอีอ่อนแอ! เสี่ยงเป็นบริษัทซอมบี้

หลังจากเทศกาลคริสต์มาสผ่านไป เราเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 ปีแห่งความยากลำบากอีกปีหนึ่งของคนไทย ทั้งจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าจะคลี่คลาย แต่ก็ไม่สามารถถอดหน้ากากอนามัย ยังหายใจไม่ได้เต็มปอด

นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติเงินเฟ้อสูงลิ่ว ที่มาจากราคาพลังงาน ราคาน้ำมันและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามที่ปะทุขึ้น ในประเทศยูเครน ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ฝั่งรายได้ยังไม่ฟื้นตัว

ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายปี ยังมีผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยไทยที่ปรับสูงขึ้น หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจปรับทิศทางนโยบายการเงินเพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ยังเป็นจุดอันตรายของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เมื่อปีนี้ ปีที่ย่ำแย่กำลังจะผ่านไป ทิศทางของปีหน้าฟ้าใหม่จะ ดีขึ้นได้อย่างไร เป็นคำถามที่คนไทยอยากรู้

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสรับฟังมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 : วิกฤติ และโอกาส จาก ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร วิทยาการการจัดการสําหรับ นักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งจะทำให้เรา เห็นภาพของขวบปีที่ผ่านมา ในปีเสือที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือน และภาคธุรกิจไทย จากต้นทุนราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

รวมทั้งเห็นภาพในปีหน้า ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกที่จะหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง และอาจจะดีกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่เรายังต้องเผชิญกันต่อไปในปีหน้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่า ปีกระต่ายปีหน้า เรามีโอกาสที่จะได้สัมผัส “ปีกระต่ายทองคำ” กันหรือไม่...

เหลียวหลังเศรษฐกิจไทยปี 2565

ดร.มนตรีเริ่มต้นจากการทบทวนมองย้อนหลังเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน โดยเริ่มจากภาคต่างประเทศ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีลักษณะที่พึ่งพาต่างประเทศสูงถึง 72%

“ตลอดช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนนัก ท่องเที่ยวลดลงจาก 40 ล้านคน ในปี 2562 ทําให้การท่องเที่ยว ซึ่งเคยทํารายได้ให้กับประเทศมากถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี และการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด–19 ได้บรรเทาลง มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทําให้การท่องเที่ยวปรับตัว ดีขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยราว 11 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศราว 650,000 ล้านบาท และการจ้างงานมากกว่า 2.5 ล้านคน

ในฝั่งของการส่งออกเริ่มดีขึ้น โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัวประมาณ 10% และเริ่มการขยายตัว ติดลบในไตรมาสที่ 4 ทําให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวเพียง 6-7% จากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว หลังจากเกิดเหตุการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับสองของโลก วันละ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันของโลก หรือโอเปก พลัส (OPEC Plus) มีมติลดกำลังผลิตน้ำมันช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันยังคงสูง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่งสูงขึ้น นำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก”

โดยสหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น มีอัตราเงินเฟ้อ 9.1%, 10%, 10.1% และ 10% ตาม ลำดับ สูงสุดในรอบ 40 ปี ทําให้ธนาคาร กลางของประเทศต่างๆจําเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2% โดยเฉพาะยิ่งธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งติดต่อกัน จากต้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0-0.25% มาอยู่ที่ 4.50%

ขณะที่อังกฤษและยุโรปได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ประกอบกับขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรป รวมกันมีขนาดประมาณเกือบ 40% ของเศรษฐกิจโลก จึงนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ การผลิต การจ้างงานที่ลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 2565

ในประเทศอ่วมค่า ครองชีพ–เงินเฟ้อพุ่ง

สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในปีที่ผ่านมา ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาในประเทศ 28% แต่ ถือเป็น 3 ภาคส่วนสำคัญ และเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐบาล

ดร.มนตรี เล่าให้ฟังต่อว่า “ภาคครัวเรือนของไทยในปี 2565 ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา
รอบด้าน ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว ทั้งจากผลกระทบของหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งสูงถึง 89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือ ตัวเลขนี้นับเฉพาะหนี้ในระบบของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจเท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์และนอกระบบ”

โดยหนี้ครัวเรือนสามารถจำแนกเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน 30% หนี้สินเชื่อรถยนต์ 20% หนี้สินเชื่อบัตรเครดิต 30% และหนี้สินเชื่อบุคคลอีก 20% และเมื่อประกอบกับอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 7% สูงสุดในรอบ 20 ปี ทําให้ภาคครัวเรือนต้องเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่ภาวะการจ้างงานยังไม่กลับสู่ภาวะปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อดอกเบี้ยเงินกู้ และภาระผ่อนส่งหนี้ให้ต้องปรับขึ้นตาม เป็นภาระภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นอย่างมาก

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน การลงทุนใหม่ยังไม่มากนัก จากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 และกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ลดลง ภาคเอกชนจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกตราสารหนี้จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินเริ่มเพิ่มขึ้น พร้อมกับดอกเบี้ยได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะทําด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

สำหรับภาครัฐบาล ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น จาก 6.8 ล้านล้านบาท หรือ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2562 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านล้านบาท หรือ 61% ของจีดีพีในปี 2565 ภายใต้กรอบภาระหนี้สาธารณะกำหนดไม่เกิน 70% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังขยายตัว 2.5-3.5%

โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้น 6-7% เพราะการเพิ่มขึ้น ของการส่งออกทุกๆ 4% จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ 1% ภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ 11 ล้านคน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 6.5% อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

แลหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566

ส่วนทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 นั้น ดร.มนตรีให้ความเห็นว่า “ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ในปี 2566 ประเทศไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสพอสมควร”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวราว 3.0-3.5% การ ส่งออกขยายตัวเพียง 1% ส่วนการท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาราว 22 ล้านคน นำ รายได้เข้าประเทศราว 1.3 ล้านล้านบาท มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 อย่างมาก อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 3.0-4.0% อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75-2.25% ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ดร.มนตรีมองว่า แม้เศรษฐกิจจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหา แต่ยังขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากแรงขับเคลื่อนจากการกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมที่น่าสนใจ เรื่องแรกคือ การ ที่รัฐบาลเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตในระดับสูงสุด ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะเป็นโอกาสต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว เนื่องจากชาวซาอุดีอาระเบีย มีรายได้ สูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี

เรื่องต่อมาคือ การระบาดของโควิด-19 ที่ได้บรรเทาลง และมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและแพร่หลาย รวมทั้งยังมีมาตรการผ่อนคลายการเดินทางของประเทศต่างๆ น่าจะมีผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2566 น่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยราวๆ 22 ล้านคน นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศราว 1.3 ล้านล้านบาท และการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นราว 2.5 ล้านคน

โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีประชากร 1,400 ล้านคน และคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid ในราวกลางปี 2566 โดยจีนเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้ามูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุด อันดับ 2 ของโลก การผลิตสินค้าของจีนมีห่วงโซ่อุปทานโยงถึงประเทศต่างๆทั่วโลก และที่สำคัญนักท่องเที่ยวชาวจีนมีผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เนื่องจากชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกปีละกว่า 200 ล้านคน

ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช้อปดีมีคืน ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2566 ซึ่งสามารถนําไปลดหย่อนภาษีได้เป็นมูลค่า 40,000 บาท จะช่วยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูงราวๆ 2 ล้านคน จะทําให้มีเม็ดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนราว 60,000 ล้านบาท

ปัจจัยบวกถัดมา ต่อยอดจากการประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้ช่วยให้นักธุรกิจทั่วโลกมีความมั่นใจในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมทั้งการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้ามา ลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้น การเจรจาการค้า FTA ระหว่าง ASEAN และ EU ยังมีความคืบหน้า หลังจากหยุดชะงักไป 6 ปี จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ปัจจัยบวกสุดท้ายคือ การเลือกตั้งในเดือน พ.ค.2566 ซึ่งจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

“เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยพบว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีเม็ดเงินจากกิจกรรมต่างๆที่หมุนเวียนในช่วงการเลือกตั้งราว 40,000 ล้านบาท จะช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และการเลือกตั้งจะส่งผลเชิงจิตวิทยาในการที่จะมี รัฐบาลชุดใหม่ มี ครม.ชุดใหม่ ทีมเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งมีนโยบายใหม่ๆจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ การลงทุน และการใช้จ่ายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566”

ปัจจัยเสี่ยงปีกระต่ายใน–นอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีแรงหนุน แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังจับตา เริ่มจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องมายังประเทศไทย

โดยปัจจัยแรกคือ ภาวะเงินเฟ้อสูง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูง จากการที่สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่คลี่คลายลงประกอบกับการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC PLUS ส่งผลราคาน้ำมันยังคงสูง ทําให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมการขนส่งแพงขึ้น และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงทั่วโลก

ปัจจัยต่อมาคือ อัตราดอกเบี้ย มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก จากการที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศ พยายามควบคุมเงินเฟ้อ เพราะแต่ละประเทศจะมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่จะต้องกำกับดูแล และจากการที่ภาวะเงินเฟ้อสูงนี้ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและถดถอย โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวราว 3.5%

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากภาคในประเทศมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 89% ของจีดีพี จะกระทบต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่ง มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะปกติ นอกจากนั้น หนี้สาธารณะของรัฐบาลยังสูงถึง 61% ของจีดีพี มีผลต่อการจัดทํา งบประมาณของภาครัฐ เพราะการก่อหนี้จะทําได้อย่างมีขีดจำกัด ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน หรือเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

นอกจากนั้น ราคาน้ำมันที่ยังคงสูงอยู่จะส่งผลต่อราคาสินค้า ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง รวมทั้งค่าไฟฟ้าจะมีผลกระทบต่อ ค่าครองชีพของภาคครัวเรือน และภาวะเงินเฟ้อของปีหน้า ในที่สุด

ท้ายที่สุด แม้ว่าการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.2566 จะมีผลดีทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบ และสร้างความเชื่อมั่นเมื่อเรามี ครม.ชุดใหม่ แต่ก็จะมีผลกระทบการบริหารงบประมาณ และการจัดทํางบประมาณของปี 2567

กล่าวคือ ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง การบริหารงบ ประมาณจะทําได้แบบมีข้อจำกัด ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้ามีความจำเป็นไม่เหมือนการบริหารงานในช่วงปกติ

นอกจากนี้ การจัดทํางบประมาณของปี 2567 ซึ่งตามปกติรัฐบาลจะเตรียมเสนอกรอบงบประมาณโดยการเห็นชอบจาก ครม. ในราวปลายเดือน มี.ค. และเข้าสภาเพื่อขอความเห็นชอบ กรอบงบประมาณและตั้งกรรมาธิการพิจารณาในรายละเอียดประมาณ 120 วัน และมีผลในวันที่ 1 ต.ค.2567

แต่จากการที่มีการเลือกตั้งใหม่ จะทําให้กระบวนการจัดทํางบประมาณน่าจะแล้วเสร็จราวปลายปี 2566 ซึ่งจะทําให้ปีงบประมาณ 2567 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ต้องล่าช้าออกไป จำเป็นต้องใช้กรอบงบประมาณของปี 2566 ไปพลางก่อน แต่มีข้อจำกัดคือ ใช้ได้เฉพาะงบประจําเท่านั้น ยังผลให้เครื่องมือการคลังด้านรายจ่ายมีข้อจำกัดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า

ทั้งหมดนี้ คือ ทั้งวิกฤติและโอกาส ซึ่งเราทุกคนผ่านมาแล้วภายใต้เศรษฐกิจไทยปีเสือ 2565 และแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ 2566.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ