เปิด 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟปี 66 คนไทยจ่อจ่ายเพิ่มสูงสุด 6.03 บาท/หน่วย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิด 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟปี 66 คนไทยจ่อจ่ายเพิ่มสูงสุด 6.03 บาท/หน่วย

Date Time: 15 พ.ย. 2565 07:38 น.

Summary

  • “กกพ.” เผย 3 ทางเลือกปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่เดือน ม.ค.–เม.ย.66 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย ขยับขึ้นเป็น 5.37, 5.70 และ 6.03 บาทต่อหน่วย

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

“กกพ.” เผย 3 ทางเลือกปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่เดือน ม.ค.–เม.ย.66 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย ขยับขึ้นเป็น 5.37, 5.70 และ 6.03 บาทต่อหน่วย เปิดรับฟังความเห็น 14–27 พ.ย.นี้ ก่อนประกาศใช้จริง ย้ำหากตรึงต่อ “กฟผ.” ส่อแบกรับภาระแตะ 2 แสนล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ดกกพ.) เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประจำรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 โดยได้นำค่าเอฟทีประมาณการ และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาพิจารณา ส่งผลให้ค่าเอฟทีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3 กรณี ทั้งนี้ จะเปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ.วันที่ 14-27 พ.ย.นี้ ก่อนพิจารณาและประกาศผลอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพื่อบังคับใช้ต่อไป

สำหรับ 3 กรณีได้แก่ กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 จำนวน 224.98 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย.66 จำนวน 158.31 สต.ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บ เพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สต.ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ ม.ค.-เม.ย.66 จำนวน 191.64 สต.ต่อหน่วย แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย.66 จำนวน 158.31 สต.ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สต.ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบใน 2 ปี โดย กฟผ.ต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง แทนประชาชน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 จำนวน 158.31 สต.ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

“ค่าเอฟทีรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ที่ปรับขึ้น 68.66 สต.ต่อหน่วยมาอยู่ที่ 93.43 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่หากงวดนี้จะคงไว้ที่เดิม กฟผ.ต้องแบกภาระจริงเพิ่มเป็น 170,000 ล้านบาท (สะสมตั้งแต่งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.64 ถึงงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.65) ซึ่งหากรวมตัวเลขประมาณการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวด ก.ย.-ธ.ค.65 อีก 34,000 ล้านบาท ก็จะเป็น 200,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าจะตรึงค่าไฟฟ้าได้อย่างไรนั้นต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาล แต่ก็อาจพอมีวิธี คือเปลี่ยนหลักการ เช่น ให้ประชาชนใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกก่อน สำหรับค่าไฟฟ้าแพง มาจากปัจจัยเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก ที่ราคาสูงขึ้นกว่างวดก่อนหน้าถึง 82.66% ของราคาเชื้อเพลิงรวมยังไม่รวมการนำเข้าถ่านหิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงรวมเพิ่มขึ้น

“ค่าไฟฟ้าไทยยังอ่อนไหว และผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนของก๊าซในอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณจะเข้าสู่ภาวะปกติได้เพียงใด เพื่อลดพึ่งพิงนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพง ขณะที่ราคาแอลเอ็นจีโลกก็ยังแกว่งตัวระดับสูงหากมองทิศทางการเพิ่มขึ้นของก๊าซฯอ่าวไทย ค่าไฟฟ้ามีโอกาสลดลงมาที่ 4-5 บาทต่อหน่วย”

นายคมกฤชกล่าวอีกว่า เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าบริการรายเดือน กกพ. ยังได้ปรับลดค่าบริการรายเดือนสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.66 ดังนี้ 1.บ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย เดิม 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน 2.กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำเดิม 46.16 บาท/เดือน เป็น 33.29 บาท/เดือน 3.กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร เดิม 228.17 บาท/เดือน เป็น 204.07 บาท/เดือน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ