หลังจากที่มีการประกาศเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด หรือ TDX ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แม้ไม่ได้เปิดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี แต่จะมุ่งเน้นที่ Investment Token และ Utility Token ก็ตาม ถือเป็นที่จับตาของนักลงทุนและผู้ประกอบการไม่น้อยถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว
ในบทความนี้ เราจะพามาทำความเข้าใจการเปิดตัว TDX ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กันให้มากขึ้น ตั้งแต่ภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกมีอะไรบ้าง และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีสัดส่วนเป็นอย่างไรจากทั้งหมด รวมถึงแนวทางการปรับตัวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบทบาทที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนข้อจำกัดและความท้าทายที่ยังต้องรอความชัดเจนนั้นมีอะไรบ้าง
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงาน SET in the city 2022 ในหัวข้อ Roadmap สู่การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ว่า ภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งมีหลากหลายประเภท โดยตลาดตราสารหนี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 119 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
รองลงมาเป็นตลาดหุ้นอยู่ที่ 91.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีจำนวนหลักทรัพย์รวมกว่า 59,400 หลักทรัพย์ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 882.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยสัดส่วนหลัก คือ สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 38.91 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนอยู่ที่ 9.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น ฮ่องกง อังกฤษ รวมกัน 11.8 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 0.49 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดทองคำอยู่ที่ 10.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า เล็กกว่าตลาดตราสารหนี้กว่า 10 เท่า
ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 0.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีขนาดเล็กกว่าตลาดทองกว่า 10 เท่า หุ้นและตราสาหนี้กว่า 100 เท่า มีจำนวนเหรียญประมาณ 9,426 โทเคน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 54.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Bitcoin ยังคงครองสัดส่วนหลักอยู่ที่ 0.37 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40 % รองลงมาเป็น Ethereum 0.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17.22% ส่วน Stablecoin (USDT และ USDC) รวมกันอยู่ที่ 0.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12.13% และเหรียญอื่นๆ รวมกันอยู่ที่ 0.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30.74%
จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซีเป็นผู้ครองสัดส่วนหลัก ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น Investment Token และ Utility Token มีเพียงแค่ 1% ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทยได้มีการแบ่งประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย แบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด ได้แก่ CBDC (โครงการอินทนนท์ของธนาคารแห่งประเทศไทย) และ Private DC (แบ่งเป็น Stable Coin และ Blank Coin)
- Investment Token เป็นสินทรัพย์ที่มีการให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ หรือ กิจการใดๆ ได้แก่ STO (Security Token Offerings) ในไทยมี Siri Hub Token และ Project-based ในไทยมี Destiny Token
- Utility Token เป็นสินทรัพย์ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใกที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งจะมีทั้งประเภท ไม่พร้อมใช้ (เช่น JFIN SIX OMG) และพร้อมใช้ (เช่น MVP Token PopCoin)
“ดังนั้นแล้ว Digital Asset ไม่ได้มีแค่คริปโตเคอร์เรนซี แม้ว่าส่วนใหญ่จะใช่ แต่สำหรับ ตลท. ในอนาคต การลงทุนใน investment token และ utility token จะมีความน่าสนใจมากขึ้น” ดร.ภากร กล่าว
การปรับตัวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จาก traditional asset สู่ digital asset
ดร.ภากร กล่าวว่า เราได้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากของกระบวนการทำงาน โดยมีการปรับการรับส่งข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ให้สามารถรองรองรับความต้องการของผู้ลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งยังดำเนินการทั้งหมดอยู่ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันเราได้เริ่มต้นที่หุ้นกู้
ในสเตปต่อมาเราได้มีการปรับการให้บริการในรูปแบบของ Hybrid เช่น การซื้อขายหย่วยย่อย อย่าง Fractional Trading ซึ่งได้มีการทำกับ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipt) อีกทั้งยังมี LiVE Platform สำหรับการระดมทุนของสตาร์ทอัพและ SME ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของนักลงทุน ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์แบบเดิม
และในอีกขั้น ซึ่งเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ คือ การออกแบบสินทรัพย์ด้วย Smart Contract ไม่ยึดติดสินทรัพย์แบบเดิม โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กลต. ในการเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ชื่อว่า TDX ซึ่งในอนาคตจะเป็นการเปิดให้มาระดมทุนในตลาดนี้ ซึ่งจะเป็น ICO Issuer มาออกสินทรัพย์เป็น Investment Token หรือ Utility Token ผ่าน ICO Portal หลังจากนั้นก็จะสามารถนำมาซื้อขายได้ใน TDX ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว และในอนาคตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล TDX จะรองรับเพียงแค่ Investment Token และ Utility Token เท่านั้น
จากตัวเลขที่ได้มีการอธิบายไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าปริมาณของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Investment Token และ Utility Token ในตลาดโลกยังคงสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในหลายประการ โดยเฉพาะในด้านการกำกับดูแล
ดร.ภากร อธิบายต่อว่า เมื่อพูดถึงการออกหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล เรามี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และ พ.ร.ก. ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ จะครอบคลุม หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารอื่นๆ ที่กลต. กำหนด ซึ่งมีการเสนอขายผ่าน FA และบริษัทหลักทรัพย์
ส่วน พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะครอบคลุมใดๆ ก็ตามที่เป็น Token อย่าง Investment Token (Project based) Utility Token (ไม่พร้อมใช้) ซึ่งเสนอขายผ่าน ICO Portal เหล่านี้ กลต. เป็นผู้กำกับดูแล
ด้วยกฎระเบียบข้อบังคับข้างต้นจึงทำให้สินทรัพย์ใดๆ เมื่อเป็นหลักทรัพย์ จะไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะอยู่คนละส่วนของการกำกับดูแล
แต่โจทย์ที่น่าสนใจอีกประการ คือ STO ของและหลักทรัพย์ต่างๆ Investment Token ที่เป็น asset-backed เข้าข่ายหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล และใครมีหน้าที่กำกับดูแลในส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันทางการอยู่ระหว่างพิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะออก มาเพื่อทำให้ตลาดสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหลายอย่าง เช่น cryptocurrency ที่ต้องมาพิจารณากันว่าจะมีการกำกับดูแลอย่างไร หากในอนาคตจะอยู่ในฐานะที่เป็น mean of payment หรือในฐานะที่เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ประเด็นต่างๆ ที่จะต้องรอความชัดเจนมีดังนี้
- มาตรการด้านภาษีจากการซื้อขาย ได้แก่ Capital Gain tax ปัจจุบันมีการผ่อนปรน ให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรในภาษีปีเดียวกัน สำหรับธุรกิจกรรมที่ผ่าน exchange ภายใต้การกำกับของ กลต และ Value-added tax ปัจจุบันอยู่ระหว่างผ่อนปรนให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่ผ่าน exchange ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต.
- มาตรการด้านภาษีจากการออก token โดยปัจจุบันการเสนอขาย token ยังต้องมีการเสีย VAT อยู่ ยังต้องมีอยู่อีกหรือไม่
- ลักษณะทางบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัล โดย Instrument อาจไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจของ issuer เนื่องจากเป็นเงินที่ issuer ได้รับจากการออกขายโทเคน อาจต้องบันทึกบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น debt หรือไม่
- ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ STO ปัจจุบันยังไม่สามารถทำ STO ได้ เนื่องจากต้องแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อรองรับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล และประเด็น voting rights ที่อาจต้องมีการปรับแก้ไขใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดหรือไม่ อย่างไร
ดร.ภากร กล่าวปิดท้ายว่า จากอดีตที่ผ่านมาในปี 2555 มูลค่าตลาดของ SET อยู่ที่ 11.8 ล้านล้านบาท mai 0.13 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนของธุรกิจการเงินและประกันภัย 21% รวมถึง ทรัพยากร 21% การบริการ 18% ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันปี 2565 มูลค่าตลาดของ SET อยู่ที่ 19.3 ล้านล้านบาท mai 0.56 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนของธุรกิจบริการ 25% รวมถึง ทรัพยากร 23% การเงินและประกันภัย 15% เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านการเติบโตอย่างชัดเจน โดยหลังจากนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2575 การระดมทุนแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัทที่มีขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ตลท. ยังมี LiVEx ซึ่งจะทำให้ตลาดทุนของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น และเปิดโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าระดมทุนได้มากขึ้นเช่นกัน และสุดท้ายเรามี TDX ที่มาเติบโตไปพร้อมกับการขยายของตลาด Digital Asset ในอนาคต ที่จะเพิ่มโอกาสการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน ลภัสรดา พิพัฒน์ lapatrada.p@thairathonline.co.th