US-China Tech War และภูมิรัฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

US-China Tech War และภูมิรัฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

Date Time: 6 พ.ย. 2565 09:00 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • สหรัฐฯ ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ขั้นสูงไปจีนรอบใหม่

Latest


ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ขั้นสูงไปจีนรอบใหม่ในวันที่ 7 ต.ค. 65 สำหรับชิปที่มีการใช้งานขั้นสุดท้าย หรือ End-Use ในอุตสาหกรรมที่เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมสินค้ามากกว่ารอบก่อนๆ

โดยได้กำหนดให้สินค้าบางรายการในหมวดชิปขั้นสูง ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วยชิปขั้นสูง และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนส่วนประกอบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ และสินค้าต่างๆ ที่ส่งออกไปโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Fabrication plant) ขั้นสูงในจีน เป็นสินค้าควบคุมที่จำเป็นจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อการส่งออก

มาตรการล่าสุดนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บริษัทสหรัฐฯ ทั้งที่ทำธุรกิจในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงบริษัทต่างชาติที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้บุคลากรสัญชาติสหรัฐฯ ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในสหรัฐฯ และองค์กรสหรัฐฯ สนับสนุนการพัฒนาและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในโรงงานจีน หากไม่ได้รับใบอนุญาต

โดยได้ยกเว้นการขยายการผลิต "เซมิคอนดักเตอร์รุ่นเก่า" หรือชิปที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการผลิตขนาด 28 นาโนเมตร หรือเก่ากว่านั้น นอกจากนี้หากรัฐบาลประเทศใดไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการตรวจสอบว่าสินค้าของบริษัทถูกนำไปใช้งานขั้นสุดท้ายตามที่ระบุไว้หรือไม่ บริษัทนั้นอาจถูกบรรจุในบัญชี Unverified list และ Entity list ในที่สุด ซึ่งจะกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ต่อไป

มาตรการล่าสุดนี้แสดงถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในการกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในยุทโธปกรณ์ทางทหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาวุธทำลายล้างสูง ระบบการวางแผนและโลจิสติกส์ และระบบการทหารไร้คนขับ (Autonomous military systems) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเปิดศึกครั้งใหม่เพื่อแย่งชิงอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลก และต้องการรักษาความมั่นคงทางทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ท่ามกลางบริบทโลกที่แบ่งขั้วอย่างชัดเจนมากขึ้นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน เช่น การค้า การลงทุน และการทหาร แน่นอนว่ามาตรการครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกในทุกขั้นตอน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตสินค้าขั้นปลายต่างๆ โดยเฉพาะในจีน แต่จะผ่านช่องทางไหนนั้น บทความนี้จะแนะนำผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อประเมินผลกระทบต่อไป


ภูมิรัฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

ในการประเมินภูมิรัฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครั้งนี้ จะเจาะจงไปที่ 3 ช่วงของห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เทคโนโลยีในการผลิตชิปขั้นสูง โรงงานผู้ผลิตชิปขั้นสูง และบริษัทผู้นำชิปไปประยุกต์ใช้ในสินค้าขั้นปลาย โดยจะเลือกชิปที่ใช้กระบวนการ 5nm (5nm Process) เป็นตัวอย่าง เพราะเป็นชิปที่มีความทันสมัยมากที่สุด ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก โดยเฉพาะการผลิตชิปขั้นสูง กระจุกตัวในผู้เล่นรายใหญ่น้อยราย จึงทำให้มีความเปราะบางต่อปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์

1. เทคโนโลยี Extreme Ultraviolet Lithography (EUV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการผลิตชิป 5nm ในปัจจุบัน มีเพียงแค่บริษัท ASML ของเนเธอร์แลนด์แห่งเดียวในโลกที่สามารถผลิตได้ โดย ASML ไม่ได้ผลิตชิปเอง แต่ผลิตเครื่องจักรที่ผู้ผลิตชิปขั้นสูงทั่วโลกจำเป็นต้องใช้ ทำให้ ASML เป็นเงื่อนไขและกุญแจสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ในการกีดกันการเข้าถึงชิปขั้นสูงของจีน

ทั้งนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้กำหนดให้เทคโนโลยี EUV เป็นสินค้าควบคุมที่จำเป็นจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนสามารถส่งออกได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ASML ไม่เคยส่งออกเทคโนโลยี EUV ไปจีน เนื่องจากยังไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีทรัมป์กดดัน

นอกจากนี้ มาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ ASML ประกาศให้พนักงานสัญชาติสหรัฐฯ พนักงานที่ถือกรีนการ์ด และพนักงานที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ งดให้บริการลูกค้าในจีนชั่วคราวไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม

ขณะที่ บริษัทฯ กำลังประเมินผลกระทบของมาตรการนี้ ซึ่งการที่จีนยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี EUV ของ ASML ได้จากมาตรการกีดกันของสหรัฐฯ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในจีน และอาจทำให้จีนจำเป็นต้องใช้เวลานานขึ้นในการวิจัยและพัฒนาจนกว่าจะสามารถผลิตชิปขั้นสูงในประเทศเองได้

2. บริษัทที่สามารถผลิตชิป 5nm ได้ในปัจจุบัน มีเพียงสองบริษัท ได้แก่ TSMC และ Samsung ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยทั้งสองบริษัทพึ่งพาเครื่องจักรเทคโนโลยี EUV จาก ASML ในการผลิต เนื่องจากในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ การตั้งโรงงานผลิตชิปและปรับเปลี่ยนให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้หลายบริษัท เช่น NVIDIA AMD และ Apple เลือกที่จะจ้างบริษัทภายนอกผลิตชิปตามที่ออกแบบมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ TSMC และ Samsung ในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TSMC ซึ่งมีศักยภาพการผลิตชิปขั้นสูง (5nm และ 7nm) มีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 92% ของโลก จึงทำให้เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งนี้เพราะ TSMC ก็จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในขั้นตอนการผลิตเช่นกัน ดังนั้นมาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ จึงจะกระทบการทำธุรกิจผลิตชิปขั้นสูงที่จะส่งมอบให้บริษัทจีนได้

3. ชิป 5nm นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากมาย เช่น ชิป M2 หรือ A16 Bionic ของบริษัท Apple ที่ใช้ใน MacBook และ iPhone รุ่นล่าสุด ตามลำดับ หรือชิป GPU H100 ของบริษัท NVIDIA ที่ใช้ใน Data Center เพื่อการเทรน AI และการคำนวณขั้นสูง เป็นต้น สะท้อนถึงความสำคัญและบทบาทของชิปขั้นสูงในการพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีใหม่ๆ สหรัฐฯ จึงต้องการจำกัดความสามารถของจีนในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้

โดยเฉพาะชิปที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลซึ่งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 สหรัฐฯ ได้สั่งให้บริษัท NVIDIA ยุติการส่งออกชิปขั้นสูงที่ใช้ในกระบวนการ AI ไปจีน เพื่อไม่ให้จีนใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ


ท่าทีและการตอบโต้จากจีน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยืนยันที่จะให้ความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้การแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีจะยังคงอยู่ต่อไป และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึงความมั่นคง (Security) ถึง 80 ครั้ง มากกว่าคำอื่นๆ

เช่น เศรษฐกิจ (Economy) ที่กล่าวถึงเพียง 22 ครั้ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการรักษาความมั่นคงของประเทศท่ามกลางปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดสูง ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี ซึ่ง สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึงประเด็นนี้มากถึง 5 ครั้ง โดยศักยภาพในการผลิตชิปขั้นสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนในปัจจุบันนั้นยังมีความคลุมเครือ โดยบางฝ่ายมองว่าจีนสามารถผลิตชิปได้ที่กระบวนการ 14nm

แต่ TechInsights ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเทคโนโลยีขั้นสูงเผยว่า จีนสามารถผลิตชิปด้วยกระบวนการกึ่ง 7nm ได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี EUV ของ ASML ทั้งนี้ถึงแม้ว่ากระบวนการผลิตอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ทัดเทียมกัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนที่เร่งปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

ในภาพใหญ่แล้ว นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ชัดเจนมากขึ้นดังกล่าว จะกลายเป็น New normal ที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทความโดย ปัณณ์ พัฒนศิรินักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ