ลั่นระฆัง “APEC CEO Summit 2022” เอกชนระดมสมองหาหนทางฝ่าวิกฤติฟื้นเศรษฐกิจ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลั่นระฆัง “APEC CEO Summit 2022” เอกชนระดมสมองหาหนทางฝ่าวิกฤติฟื้นเศรษฐกิจ

Date Time: 31 ต.ค. 2565 06:59 น.

Summary

  • หลังจากประเทศไทย รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในปี 65

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

หลังจากประเทศไทย รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในปี 65 ภายใต้แนวคิดหลัก OPEN. CONNECT. BALANCE. หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

ตลอดทั้งปีนี้ หน่วยงานต่างๆ จึงได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่างๆอย่างต่อเนื่องมากกว่า 100 การประชุม แต่ไฮไลต์ ของการเป็นเจ้าภาพเอเปกครั้งนี้อยู่ที่ช่วงกลางเดือน พ.ย.65 ที่จะมีการประชุมระดับ “ผู้นำ” วันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยคาดหวังว่า ผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจจะเดินทางมาร่วมประชุม และผู้นำจะสามารถออก “แถลงการณ์ร่วม” ผลักดันความร่วมมือระหว่างสมาชิกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ดังนั้น ในช่วงการประชุม ผู้นำ “สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก” (APEC Business Advisory Council : ABAC) หน่วยงานภาคเอกชนของเอเปกที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำ แก่ผู้นำและเจ้าหน้าที่เอเปกด้านเศรษฐกิจ และในส่วนของไทยอยู่ภายใต้ความร่วมมือของ “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน” (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “APEC CEO Summit 2022” วันที่ 16-18 พ.ย.65

ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมประเด็นด้านเศรษฐกิจ และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการฝ่าวิกฤติ และความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงแนวทางการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคเอกชน เพื่อนำเสนอต่อ “ผู้นำ” ก่อนนำไปสู่การดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ “นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์” ประธาน APEC CEO Summit 2022 และรองประธานกรรมการหอการค้าไทยถึงความสำคัญของการจัดประชุมนี้ รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยและคนไทย เชิญติดตาม

นายสนั่น อังอุบลกุล
นายสนั่น อังอุบลกุล

CEO ร่วมทลายข้อจำกัดเศรษฐกิจ

นายสนั่นเล่าว่า ภาคเอกชนไทยได้มาช่วยเสริมการจัดงานของภาครัฐ ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “APEC CEO Summit 2022” วันที่ 16-18 พ.ย.นี้ ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ “EMBRACE ENGAGE ENABLE”

โดย EMBRACE สื่อถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ส่วน ENGAGE สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตร่วมกัน และ ENABLE สื่อถึงการขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ให้การดำเนินการทางธุรกิจ สามารถเป็นไปได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนเป้าหมายหลักของการประชุม คือ การส่งเสริมการเปิดเขตเสรี การค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ที่สำคัญยังเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์ประเทศให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน เพิ่มตัวเลขการท่องเที่ยว กระตุ้นการค้า และการส่งออก เพราะการมาร่วมประชุมของนักธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป (ไต้หวัน) ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นแรงเหวี่ยงในการฟื้นเศรษฐกิจไทย

“การจัดการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทย เพราะจะเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจและไทยได้เชื่อมโยง เศรษฐกิจกับนานาชาติ ซึ่งจะมีผลทำให้ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของเรายกระดับขึ้น”

เนื่องจากการประชุมนี้ เป็นการรวมตัวของสุดยอดผู้นำเอเปก, CEO, ผู้กำหนดนโยบาย และ ผู้นำทางความคิดจาก 21 เขต ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงแสวงหาแนวทางแก้ไขประเด็นสำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญ

โอกาสสำหรับคนไทย-เศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 ยังจะช่วยเปิดโอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ให้แก่ผู้ประกอบการ และคนไทย ทั้งในเรื่องการต่อยอดทางการค้า และกระตุ้นการท่องเที่ยว

แต่ภาคเอกชนเห็นว่า สิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ คือ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) ให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น

“เราเห็นความสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ระดับ สากล และปรับตัวทางธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งจะทำให้การค้ามีความคล่องตัว โปร่งใส และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก”

ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน มาตรการจูงใจด้านภาษี และปรับปรุงกฎระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยให้อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน และกลุ่ม Talent ต่างๆจากทั่วโลก ให้มาทำงานและพักอาศัยระยะยาวในไทย เพราะนอกจากได้เงินลงทุนแล้ว ยังเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจ้างงาน ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Regional Hub) ได้ต่อไป

“พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบที่ดีที่จะช่วยกันผลักดัน เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยใช้จุดแข็งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G สร้างความได้เปรียบเหนือเพื่อนบ้าน”

ส่วนการผลักดัน BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจ ที่คำนึงสิ่งแวดล้อมนั้น ภาคเอกชนเห็นว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ แต่หลายคนยังไม่เข้าใจ จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ และร่วมมือกันทำให้เห็นผลโดยเร็ว

โดยเศรษฐกิจชีวภาพนั้น ต้องยกระดับพืชผลทางการเกษตร สมุนไพรต่างๆให้มีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา ปรับปรุง ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องนำมาใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ให้กลับมาเป็นประโยชน์มากขึ้น และเศรษฐกิจสีเขียว คือ การดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเสริมภาคการท่องเที่ยวได้ โดยทั้ง 3 สิ่งนี้ ต้องทำพร้อมๆกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์

เสนอแผนฝ่าวิกฤติ-ความท้าทายใหม่

นายพจน์กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 มีความสำคัญมาก เพราะเอเปกไม่ได้ประชุมแบบพบปะกันมานานถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 62-64 เพราะวิกฤติโควิด-19 และในปีนี้มีวิกฤติห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) มาซ้ำเติมอีก ทำให้ขาดแคลนพลังงาน และอาหาร เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้นมาก

จึงนับเป็นโอกาสที่ดี ผู้นำ CEO และผู้บริหารระดับสูงภาคธุรกิจจะเดินทางมาไทย เพื่อหารือถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น และร่วมเจรจากับผู้นำ ซึ่งจะสร้างโอกาสการค้า และการลงทุนให้เกิดขึ้นทั้งต่อไทยและภูมิภาค

สำหรับการจัดประชุมของเอกชน ในนาม กกร. จะเกิดขึ้นวันที่ 13-16 พ.ย.65 ณ ดิ แอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯ โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) จะประชุมกันก่อนเพื่อสรุปประเด็น ที่ได้จากการระดมความคิดเห็นภาคเอกชน 4 ครั้งก่อนหน้านี้ ในการร่วมกันฝ่าวิกฤติ และความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อนำเสนอผู้นำเอเปก จากนั้นวันที่ 16-18 พ.ย. จะเป็นการประชุม APEC CEO Summit 2022 ณ ดิ แอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯ

“การจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นจากโควิด ภาคเอกชนเห็นว่า จะต้องมีการกระตุ้นการค้า และการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน รวมถึงการฟื้นฟูผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย (MSME) ที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นการเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืน และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี”

ดังนั้น ประเด็นที่จะมีการหารือกันในที่ประชุม APEC CEO Summit ครั้งนี้ คือ ความร่วมมือที่จะบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริม MSME การเงิน ระบบสาธารณสุขและสุขภาพ เพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคต การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านความยั่งยืน เช่น ยุทธศาสตร์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ เอกชนไทยจะผลักดันแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมด้าน BCG เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน โดยจะผลักดันให้สมาชิกนำไปปรับใช้ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร และสนับสนุนนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของเอเปก ที่มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต ขณะเดียวกัน BCG ยังช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโน โลยี การวิจัย พัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อการดำเนินในธุรกิจใหม่

รวมถึงจะหารือถึงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ที่ ABAC ผลักดันมานานถึง 10 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดการเจรจาได้ ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้า การบริการ การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น จึงจะต้องเดินหน้าผลักดัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

“ผลของการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) เนื่องจากเวทีนี้ ภาคเอกชนจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะต่อผู้นำ ในประเด็นด้านการค้า การลงทุน หรือประเด็นที่ได้รับความสนใจ และนำไปสู่การผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงสะท้อนมุมมอง ปัญหา และการพัฒนาที่จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเอเปกเท่านั้น”

บิ๊กเอกชนตบเท้าร่วมงานคึกคัก

สำหรับไฮไลต์ของการประชุม APEC CEO Summit 2022 อยู่ที่ CEO บริษัทใด ประเทศใด บ้างจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ที่ไทย ซึ่งนายพจน์ยืนยันว่า มีภาคเอกชนไทยและสมาชิกตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว เช่น บมจ.ซีแวลู, บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, TCP Group, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, เซ็นทรัล กรุ๊ป, บจ.โลหะกิจรุ่งเจริญทรัพย์, SCG, บมจ.เมืองไทยประกันภัย, บจ.บุญรอดบริวเวอรี่, บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ, บจ.ทั้งฮั่วซิน, บจ.ไทยน้ำทิพย์ เป็นต้น

ส่วนของ สมาชิก อาทิ Johnson & Johnson, Meta, ExxonMobil, google, Freeport-McMoRan เป็นต้น และคาดว่า จะมีรายอื่นๆเพิ่มเติมอีกมาก เพราะ ขณะนี้กำลังทยอยตอบรับเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง

“คาดว่าจะมี CEO จากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 500-600 คน และผู้บริหารระดับสูงในไทย กว่า 200 คน ยังไม่นับรวมคณะผู้ติดตามและทีมงาน เข้าร่วมงานครั้งนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยได้ไม่น้อย”

ทั้งนี้ ได้เชิญผู้นำเศรษฐกิจต่างๆกล่าวสุนทรพจน์ในมิติต่างๆของเขตเศรษฐกิจนี้ โดยมีหัวข้อ เช่น เศรษฐกิจโลกและอนาคตของเอเปก นวัตกรรมแนวหน้าในอนาคต อนาคตของการค้าและการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก เป็นต้น

และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย ที่ต้องการผลักดันแนวคิด BCG Model ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงเน้นจัดการประชุมแบบ “Green Meeting” หรือการจัดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน (Sustainability)

โดยแนวทางดังกล่าวได้ถ่ายทอดผ่านการเลือกสถานที่ (Green Venue) การจัดเตรียมเอกสาร (Green Document) การจัดเตรียมอุปกรณ์ (Green Arrangement) การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม (Green Catering) และการทำ Carbon Footprint ที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดปริมาณขยะ รวมทั้งมีการนำ Mobile Application มาใช้ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุม (Smart Hospitality) อย่างเต็มรูปแบบ

แต่ในช่วงจัดการประชุมยังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ด้วย เพราะจะมีการโปรโมตอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงของที่ระลึก ที่จัดเตรียมไว้สำหรับมอบให้กับผู้นำ และผู้เข้าร่วมงาน ได้ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย เพื่อโชว์ความเป็นไทยให้ผู้เข้าร่วมงานมีความประทับใจ

“APEC CEO Summit 2022 จะเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจที่ทรงคุณค่าของประเทศและของภูมิภาค จึงขอเชิญชวนคนไทย ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ร่วมกันอย่างดีที่สุด” นายพจน์กล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ