เปิดวิสัยทัศน์ “4 กูรู” ภาครัฐ และเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ “ร่วมปลุกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” ในงานเสวนา “THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน” เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน”
งานเสวนา “THAIRATH FORUM 2022” จัดโดย “ไทยรัฐ กรุ๊ป” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เมืองไทยประกันชีวิต เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารยูโอบี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน, กรมการค้าภายใน และวิริยะประกันภัย
ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างมีความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเศรษฐกิจที่หลากหลาย “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สรุปใจความสำคัญให้ได้อ่านกัน รวมทั้งสามารถติดตามย้อนหลังผ่าน Facebook และ youtube ไทยรัฐ ออนไลน์ ดังนี้
บรรยง พงษ์พานิช
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
“บริหารเศรษฐกิจง่ายๆ ด้วย 3 หลัก คือ มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน” เป็นคำแนะนำของ “บรรยง” ในการฟื้นเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ 1.มั่งคั่ง ทำให้รายได้เฉลี่ยของประเทศสูงไปเรื่อยๆ 2.ทั่วถึง คือ ต้องเติบโตอย่างทั่วถึง และ 3.ยั่งยืน เราต้องตื่นก่อน การจะแก้ปัญหาอะไร ต้อง Face the Brutal Fact ต้องยอมรับความจริง แม้ไม่สวยหรู
ข้อเท็จจริงคือ เศรษฐกิจไทยติดกับดักมากกว่า 20 ปี ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ตนเกิด จนตอนนี้แก่แล้วก็ยังไม่เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสียที ถ้าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้ 3% คงใช้เวลาอีก 20 ปีกว่าจะขึ้นไปซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล ถ้าระหว่างกลางประสบภาวะวิกฤติอีก ก็คงต้องฝากลูกหลานดูต่อ ตนคงอยู่ไม่ทันดูแล้ว
โดยประเทศพัฒนาแล้ว ต้องมีรายได้ 12,500 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี แต่ของไทยยังแค่ 7,200 เหรียญ ยังต้วมเตี้ยม เวียดนามก็แซงเรา เพราะเศรษฐกิจโตได้ 7.5% ตอนที่ตนเป็นเด็ก ปี 1960 เวียดนามมีรายได้ 2.2 เท่าของไทยที่ 220 เหรียญต่อคนต่อปี แต่ไทย 110 เหรียญ แต่ตอนนี้อยู่ที่ 4,100 เหรียญ
“ดังนั้น ไทยต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างที่สะสมมานาน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องลดขนาดรัฐที่ใหญ่เกินไป มีบทบาทเกินไป และมีอำนาจมากเกินไป รวมถึงกระจายอำนาจรัฐ โดยเราต้องทำมากกว่าพูด ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหา และผู้นำต้องเข้าอกเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง”
ผมได้อาสาไปปฏิรูปรัฐ ซึ่งพบว่า สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิรูป คือ รัฐวิสาหกิจ เชื่อหรือไม่ว่า รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง มีทรัพย์สิน 18 ล้านล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวมกันปีละ 6 ล้านล้านบาท
2 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ส่วนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีคนบอกว่า เป็นแผนที่หันหลังกลับไปสู่ Center Plan Economy คือ รัฐวางแผนให้ทุกอย่างและยังขยายรัฐให้ใหญ่ขึ้นอีก เพราะตั้งหน่วยงานรัฐใหม่ 56 หน่วยงาน ใช้คนอีกไม่รู้กี่แสนคน อีกทั้งยังกำหนดเป็นกฎหมายที่ต้องทำตามไปอีก 20 ปี ซึ่งน่ากลัวมาก
การพลิกฟื้นประเทศไม่มีทางที่จะพลิกฟื้นแบบกระเด้งเลยทันที แต่ต้องอดทน เข้าใจ วางรากฐานระยะยาว ต้องชักชวนคนอื่นให้มาร่วมกันปฏิรูป การปฏิรูปที่ดีที่สุด คือ ต้องเอาที่กระจุกตัวไปกระจายสู่ประชาชน 70 ล้านคน แต่ที่ยากคือ คน 70 ล้านคนไม่รู้สึกอะไรเพราะได้คนละนิด แต่คนไม่กี่หมื่นที่ได้ประโยชน์มากกว่าลุกขึ้นมาคัดค้าน
“คำแนะนำระยะสั้น เวลาเกิดวิกฤติ หนีไม่พ้นรัฐต้องแทรกแซง แต่ต้องแทรกแซงอย่างฉลาด และชั่วคราว แต่การแทรกแซงต้องใช้ทรัพยากรก้อนใหญ่ มีรัฐเท่านั้นที่จะหยิบยืมทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ต้องขยายรัฐแบบชั่วคราว ไม่ใช่ขยายแล้วแช่เลย”
ส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่มีมากถึง 60% ของจีดีพีนั้น แก้ปัญหาง่ายนิดเดียว คือ เปลี่ยนนิยาม เพราะเรานิยามหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งมีอยู่ 800,000 ล้านบาทว่าเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจริงๆไม่ควร เพราะรัฐวิสาหกิจคืนหนี้เองได้ เช่น ปตท.บริษัทในเครือ หรือการบินไทย ถ้าแก้อย่างถูกจุด เพดานหนี้จะเพิ่มขึ้นมา 6% อีกอย่างที่จะเพิ่มศักยภาพ คือ ขายรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดแล้วให้หมด ไม่รู้รัฐจะถือไว้ทำไม ถือไว้ให้คนแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกัน ถ้าขายได้ จะได้เงินมากถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท ขยายเพดานหนี้ได้อีกกว่า 10%
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย (TTR)
ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพมหาศาลสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเศรษฐกิจที่จะต่อยอด ทุกประเทศในอาเซียนอยากล้มช้างแบบประเทศไทย จะเล่าให้ฟังความหวังประเทศมีอะไรบ้าง ซึ่งคงไม่พ้น 12 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และท่องเที่ยว
ส่วนเรื่องการดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ล่าสุด บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ประกาศลงทุนในประเทศไทย 190,000 ล้านบาท ใน 15 ปี ถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้เลยหากไม่ได้การลงทุนครั้งนี้ และตรงนี้ไม่ลอยมา เพราะต้องแข่งกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ขณะที่ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเป็นปัญหาหมักหมมมานาน จึงขอถึงพูดการบ้านที่ประเทศไทยต้องทำเพื่อสร้างศักยภาพและให้ประเทศอยู่รอดต่อไปได้ คือ ในจีดีพีของไทย 70% มาจากรายได้การส่งออก และ 3 อุตสาหกรรมที่ใหญ่มากคือ รถยนต์ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท อิเล็กทรอนิกส์ 2 ล้านล้านบาท และท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท รวม 7 ล้านล้านบาท หรือ 50% ของจีดีพี ซึ่งประเทศไทยจะต้องรักษาและส่งเสริม 3 อุตสาหกรรมนี้ไว้ให้ได้
ในกรณีของอุตสาหกรรมรถยนต์ อินโดนีเซียและเวียดนามพยายามดึงส่วนแบ่งฐานการผลิตของไทย โดยขณะนี้ไทยพยายามเปลี่ยนการเป็นฐานการผลิตจากรถยนต์ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันกับอินโดนีเซียที่พยายามดึงไป เพราะมีฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกกว่า และอีก 2 เดือนจะเห็นเรื่องที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าสู้กับอินโดนีเซียได้
“ตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา ผมได้เดินหน้าเชิงรุกพูดคุยกับผู้ประกอบการต่างชาติ ว่าไทยอยากเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะคิดเป็น 15% ของจีดีพี ซึ่งเขามองไทยมีความแข่งแกร่ง แต่ก็ถามกลับมาว่า คนไทยจะเปลี่ยนจากการใช้รถน้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไหม ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 20,000 คัน และในงานมอเตอร์โชว์สิ้นปีนี้หวังว่าจะมีการซื้อเพิ่มอีก 30,000 คัน ซึ่งเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยสูงที่สุดในเอเชียแล้ว”
ส่วนหนึ่งไทยผลิตขายคนไทย ส่วนที่เหลือนำไปส่งออก ก็ได้รับการตอบรับจากญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกาที่จะใช้ไทยเป็นฐานผลิต ตรงนี้ถ้าหากเราไม่รักษาอีก 5-10 ปีเหลือศูนย์แน่ ตอนนี้เราสามารถดึงให้นักลงทุนต่างชาติมาลง 360,000 ล้านบาท ขณะที่เราเสีย 70,000-80,000 ล้านบาทในการสนับสนุนแต่รักษาฐานการผลิตไว้ได้
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยต้องแข่งกับเวียดนามที่มีค่าแรงถูกกว่า ไทยจึงปรับโดยดึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ในโลก มีค่ายอเมริกา จีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น โดยได้มีการพูดคุยเพื่อพยายามดึงการลงทุนให้ไทยเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้
ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เคยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน คงไม่มีทางกลับไปที่เดิม รัฐบาลจึงออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาว หรือวีซ่า LTR เพื่อให้พำนักในไทยได้ 10 ปี หากดึงชาวต่างชาติที่ใช้วีซ่า LTR ได้สำเร็จ ตามเป้า 1 ล้านคนจะมีเงินเข้ามาเสริมในประเทศ 1.7 ล้านล้านบาท
“สิ่งที่ผมพูดใน 4 อุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลมาแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว วันนี้ไม่ใช่เพ้อฝันว่าเขาจะมาแต่เขามาแล้ว หากทำสำเร็จจะได้ 10% ของจีดีพีที่เป็นการจัมฟ์สตาร์ตประเทศไทย”
เศรษฐา ทวีสิน
ประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
“สิ่งที่อยากเห็นในอีก 5 ปีข้างหน้า จริงๆอยากให้โฟกัสวันนี้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ หากมองย้อนไปดูตัวเลขกำไรของโรงกลั่นน้ำมัน โดยเฉพาะไทยออยล์ ปีที่แล้วกำไร 12,000 ล้านบาท ขณะที่ประชาชนเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะแง่ค่าครองชีพ ราคาเชื้อเพลิงแพง และปีนี้ผ่านไปเพียง 6 เดือน ไทยออยล์กำไร 30,000 ล้านบาท ถ้าตลอดทั้งปีจะกำไรเท่าใด ขณะที่คนระดับเปราะบาง เดือดร้อนมาก”
ดังนั้น จึงไม่อยากให้มองข้ามไปถึง 5 ปี แม้เป็นเรื่องที่ดี ต้องคิด ต้องทำ แต่ควรมองปีนี้ก่อน
“ปัญหาน้ำมันแพง ค่าครองชีพแพง จะมาพูดอธิบายอะไร ค่าอากร ค่าภาษี ผมและประชาชนก็ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ แต่สนใจเรื่องน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง และยังมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก เพื่อสกัดเงินทุนสำรอง ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพปรับขึ้นในทุกมิติ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่”
ขอเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ที่ประธานาธิบดีเดินทางไปยืนในเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ นายกรัฐมนตรีของไทยก็ควรเดินทางไปต่างประเทศ ไปช่วยทะลวง ติดต่อค้าขาย ช่วยเปิดทางให้ ก็น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ เช่น มีข่าวดีมาชะโลมใจบ้าง คืออะเมซอน ได้ประกาศการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริง สามารถทำได้มากกว่านี้ ทั้งในแง่ปากท้อง และลดความเหลื่อมล้ำ
ขณะนี้ถือว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำเรื่องถูกต้อง แต่อาจไม่ถูกใจทุกคน จึงขอฝากไว้กับรัฐบาล ขอแนะนำเครื่องมือที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยนโยบายการคลัง คือ เครื่องมือด้านภาษี เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้แต่ละปีเก็บได้ไม่กี่ร้อยล้านบาท หรือเพียง 5% ของการจัดเก็บรายได้
“เมื่อคนมีที่ดินจำนวนมาก ใช้ทรัพยากรของประเทศจำนวนมาก ก็ต้องยอมจ่ายมาก เพื่อทำให้รัฐบาลมีงบประมาณมาสนับสนุนด้านอื่นๆทั้งสาธารณสุข การศึกษา และอุดหนุนราคาพลังงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ทำเพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่มีนัยในการจัดเก็บรายได้จริงๆ”
ยกตัวอย่าง ภาษีหุ้น คนเล่นหุ้น คือ คนชั้นกลาง คนรวย จะจัดเก็บก็จัดเก็บ และต้องจัดเก็บในอัตราเหมาะสม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปศึกษา แม้เรื่องการจัดเก็บภาษีอาจไม่ถูกใจทุกคน แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ มีเงินงบประมาณไปสนับสนุนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ธนา เธียรอัจฉริยะ
ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จํากัด
“เมืองในฝันก็เหมือนบริษัทที่ดี บริษัทที่ดีต้องมีความมั่งคั่ง แข่งขันได้ ทุกคนในบริษัทต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อจะได้อยู่กันไปยาวๆ สิ่งที่น่ากังวลใจคือ สำหรับประเทศไทยในอีก 10-20 ปี เราจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ ในปี 2030 หรือปี 2573 ประเทศไทยจะมีคนอายุเกิน 60 ปี ถึง 30% เป็นประเทศซุปเปอร์สังคมสูงวัย (SUPER AGING) นอกจากนั้นคนเกิดใหม่ยังลดลงปีละ 400,000-500,000 คน”
เมื่อสังคมไทยในอนาคตอันใกล้จะเป็นซุปเปอร์สูงวัย เราจำเป็นต้องทำให้สังคมมีการเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะถ้ามีแต่คนสูงวัยแล้วยังไม่มีการเรียนรู้ ไม่ได้แน่ ทางออกคือ ต้องการคนเก่งๆมาทำงานให้ ทำให้เมืองไทยเป็น Global Village หรือเมืองของคนทั่วโลก จากประสบการณ์ด้านธุรกิจ ผมเชื่อมาตลอดว่าในยุคนี้ความสามารถของคนเด่นกว่าองค์กร คนเก่งคนเดียวทำอะไรได้เยอะมาก เช่น โค้ชเชคนเดียว ปฏิวัติวงการเทควันโดได้ ถ้าอยากซ่อมในช่วงสั้นๆ ต้องดึงคนเก่งเข้ามาเสริม ระยะกลาง-ยาว เป็นเรื่องการศึกษา ต้องบายพาสกระทรวงศึกษาธิการ องคาพยพมันยาก เขาเปลี่ยนไปเป็นเน้นวิทยาศาสตร์กันแล้ว เราจะทำกันภายใน 4-5 ปี คงไม่ทัน ทางรอดคือหาคนเก่งๆเข้ามา
ผมเป็นนักการตลาด เวลาคุยกับคนทั่วโลก เขาให้ความหมายเมืองไทยไว้ 3 คำ สวย ป่วย แก่ เมืองไทยมีธรรมชาติที่สวยงาม ส่วนป่วยไม่ใช่ไม่ดี เรามีจุดแข็งเรื่องการรักษาพยาบาล มีโรงพยาบาลที่ดี ส่วนแก่ ก็คือการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ผมมองว่าเมืองก็คือคน ระยะสั้นเราต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เข้ามาใช้จ่ายเงินเต็มที่ ไม่ทำร้ายธรรมชาติ เป็น Artificial Attraction มีการจัดงานใหญ่ๆ เรามีสถานที่ดึงดูดมากมาย อย่างโครงการวัน แบงคอกที่ใหญ่มาก สิ่งที่กรุงเทพฯขาดคือโครงสร้างพื้นฐานที่ดี รถติดวอดวาย อาจต้องมองว่าสร้างสกายวอล์กได้ไหม หรือสนับสนุนการทำงานที่บ้าน การกำหนดนโยบายต้องพลิกแพลงมากขึ้น
ส่วนในระยะที่ 2 และ 3 ก็ยังคงต้องไปที่การดึงดูดคนเก่งๆเข้ามามากๆ กฎระเบียบรัฐต้องตัดตอน ทำให้สะดวกรวดเร็วเหมือนกับที่สิงคโปร์ทำได้ หรืออาจฉกฉวยความได้เปรียบจากความไม่แน่นอนในการดำรงชีพในยุโรป ซึ่งขณะนี้มีปัญหามาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าน้ำมัน ค่าไฟที่แพงขึ้นเป็น 10 เท่า อาจเป็นโอกาสของไทยในการดึงคนเก่งๆในยุโรปที่กำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบาก ให้พิจารณาเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน คนในประเทศต้องมีจิตสาธารณะ คนไทยบางส่วนขาดจิตสาธารณะ เราจึงยังได้เห็นมอเตอร์ไซค์วิ่งบนฟุตปาท สิ่งนี้การศึกษาจะมีบทบาทสำคัญ.
ทีมเศรษฐกิจ