ข่าวปลอมสาเหตุค่าไฟฟ้าแพง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ข่าวปลอมสาเหตุค่าไฟฟ้าแพง

Date Time: 18 ต.ค. 2565 05:36 น.

Summary

  • ฉบับเมื่อวานผมเขียนถึงการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. และภาระจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Adder ในอดีต เป็น 2 สาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ฉบับเมื่อวานผมเขียนถึงการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. และภาระจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Adder ในอดีต เป็น 2 สาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพงที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง วันนี้เรามาคุยกันในมุมกลับบ้าง มี 2 ข้อกล่าวหาที่ระบุว่าเป็นต้นเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ทั้งที่ไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง นั่นคือ 1.ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ 2.การรับซื้อไฟฟ้าจากลาวมีราคาแพงกว่าค่าไฟฐาน

โรงไฟฟ้าแบ่งได้ 2 ประเภทคือ โรงไฟฟ้าที่เสถียร ใช้เชื้อเพลิงในการผลิต ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับ โรงไฟฟ้าที่ผลิตได้ตามฤดูกาล ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม

ด้วยเทคโนโลยีตอนนี้ ไฟฟ้าผลิตแล้วยังไม่สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานๆ เหมือนอย่างน้ำมัน ไฟฟ้าต้องผลิตทันทีในเวลาที่มีความต้องการใช้ จึงต้องมีโรงไฟฟ้าที่เสถียรมากกว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้ตามฤดูกาล ประเทศไหนมีสัดส่วนโรงไฟฟ้าหมุนเวียนเยอะ ก็จำเป็นต้องมี กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (reserve margin) สูง

จากข้อมูลของ กฟผ.เมื่อปี 2559 โปรตุเกส มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 130% มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 58% เยอรมนี มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 111% มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 49% จีน มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 91% มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 45% มาเลเซีย มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 51% มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 23%

ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองประมาณ 40-50% ถือว่าไม่สูงมาก เนื่องจากไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเยอะขึ้น สัดส่วนประมาณ 19% และความต้องการใช้ไฟฟ้าก็กระเตื้องขึ้นแล้ว หลังชะงักไป 2-3 ปีจากวิกฤติโควิด

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้ล่วงหน้า ซึ่งคำนวณได้ใกล้เคียงกับการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง มีแค่ช่วงปี 2563–2565 ที่เกิดโควิด การใช้ไฟฟ้าจริงต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามเมื่อภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะกลับมาสูงขึ้นในสถานการณ์ปกติ

ส่วนสมมติฐานปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นประเทศเป็นต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพงนั้น ต้องตั้งคำถามกลับว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นประเทศจริงหรือ เพราะหากไม่เกิดวิกฤติโควิด และประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแผนหรือดีกว่าแผน กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองนี่แหละที่จะเป็นปัจจัยหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง

ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีการสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมเพียงพอ อาจประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า อย่างเช่นเมื่อครั้งเกิดไฟฟ้าดับในจีน เวียดนามและสหรัฐฯ กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้มีตัวเลขบ่งชี้ว่า ราคาไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปี 2565 ไม่ได้แปรผันตามปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง โดยปี 2565 ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.69 บาท/หน่วย มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 41% ปี 2564 ค่าไฟฟ้า 3.60 บาท/หน่วย มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 47% ปี 2563 ค่าไฟฟ้า 3.64 บาท/หน่วย มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 41% ขณะที่ปี 2558 มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองแค่ 29% แต่ค่าไฟฟ้าสูงถึง 3.86 บาท/หน่วย ปี 2559 มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองแค่ 32% ค่าไฟฟ้า 3.71 บาท/หน่วย

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว เป็นการซื้อไฟฟ้าในอนาคตเริ่มตั้งแต่ปี 2569 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลดลงแล้ว เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้นจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจุบันค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 4.72 บาท (ค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.75 บาท) ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากลาวมีราคาเพียง 2.90 บาท ถูกกว่าค่าไฟฐานของไทย ดังนั้น การซื้อไฟฟ้าจากลาวจะยิ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยถูกลง

ที่มีการอ้างอิงค่าไฟฐานที่ 2.57 บาท แท้จริงแล้วเป็นตัวเลขในเดือน พ.ค.-ส.ค.2558 เป็นการหยิบข้อมูลเก่ามาสร้างเฟกนิวส์ทำให้คนสับสน.

“ลมกรด”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ