2 สาเหตุค่าไฟแพงที่ถูกปิดบัง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

2 สาเหตุค่าไฟแพงที่ถูกปิดบัง

Date Time: 17 ต.ค. 2565 05:33 น.

Summary

  • ทั้งที่ทำใจไว้ล่วงหน้า แต่หลายคนยังบ่นอุบบิลค่าไฟฟ้าแพง โดย เฉพาะอย่างยิ่งการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปรับขึ้นค่าเอฟที 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งที่ทำใจไว้ล่วงหน้า แต่หลายคนยังบ่นอุบบิลค่าไฟฟ้าแพง โดย เฉพาะอย่างยิ่งการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปรับขึ้นค่าเอฟที 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับ “ค่าไฟฐาน” ทำให้ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

สำนักงาน กกพ.ชี้แจงเหตุผลหลักของการขึ้นค่าเอฟที ไว้ดังนี้ 1.ปริมาณก๊าซในประเทศลดลง ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริม หรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด แต่ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ Spot LNG มีราคาแพงและผันผวน ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมัน ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

(ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคา LNG เฉลี่ยต่ำกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ล้านบีทียู แต่หลังเกิดสงครามราคาเคยพุ่งสูงถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู และปัจจุบันราคาประมาณ 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ล้านบีทียู)

2.เมียนมาไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามกำลังการผลิตเดิม และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566

3.ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุน เนื่องจากความต้องการใช้พลังงาน ในช่วงโควิดมีน้อย แต่หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG

4.สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้รัสเซียลดการจ่ายก๊าซทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรป และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญอีก 2 อย่างที่ถูกกลบซ่อนไว้คือ 1.การบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยที่ผิดพลาดของ ปตท.สผ. 2.ภาระจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบมี Adder ในอดีต

การผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซจาก 3 แห่งหลักคือ อ่าวไทย (บริหารงานโดย ปตท.สผ.) เมียนมา (บริหารงานโดย ปตท.สผ.เช่นกัน) และ นำเข้า LNG ซึ่งก๊าซจากอ่าวไทยและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) มีราคาถูกที่สุด แม้ในภาวะสงคราม ราคาก็ไม่ได้ปรับตัวสูง ขณะที่การนำ LNG ราคาแพงที่สุด

เมื่อเทียบราคาในเดือน มิ.ย.64 กับ มิ.ย.65 ราคาก๊าซอ่าวไทยและ JDA ปรับเพิ่มขึ้น 8% ราคาก๊าซเมียนมาเพิ่มขึ้น 62% ส่วนราคานำเข้า LNG เพิ่มขึ้นถึง 104%

ปัญหาการเปลี่ยนผ่านระหว่างกลุ่มเชฟรอน ผู้รับสัมปทานรายเก่า กับ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานใหม่ ทำให้การผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยไม่ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนก๊าซที่นำเข้าจากเมียนมาก็ไม่สามารถผลิตได้เท่าเดิม ทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG ราคาสูงมาเสริมเพิ่มขึ้น

เปรียบเทียบเดือน มิ.ย.64 กับ มิ.ย.65 ไทยใช้ก๊าซจากอ่าวไทยและ JDA ลดลง 850 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ใช้ก๊าซจากเมียนมาลดลง 76 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่นำเข้า LNG เพิ่มขึ้น 142 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งถ้าบริหารก๊าซในอ่าวไทยได้ตามปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า LNG ราคาแพงเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ค่าไฟก็จะถูกลงได้อีกมาก

ส่วนภาระจากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอดีต เป็นการรับซื้อไฟฟ้าแบบให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่ม (Adder)ในอัตราสูงถึง 6-8 บาท/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐานแล้วจะ อยู่ที่ 10-12 บาท/หน่วย ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท

ในช่วงที่รัฐบาลในอดีตคำนวณค่า Adder ต้นทุนเทคโนโลยียังสูง แต่เมื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว ต้นทุนเริ่มลดลง และเทคโนโลยีนำสมัยมากขึ้น ทำให้ค่า Adder ที่คิดไว้สูงเกินที่ควรจะเป็น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสัญญานี้คือโรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีสัญญาแบบ Adder

ไปเปิดงบการเงินของกลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้าแบบ Adder จะพบว่ามีกำไรมหาศาล อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 20-30% ขณะที่โรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ มีค่า ROE เฉลี่ยแค่ 7-12%

โรงไฟฟ้าแบบ Adder กำไรเงียบ แต่รัฐต้องควักจ่ายปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท.

“ลมกรด”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ