“หอการค้าไทย” คาดน้ำท่วมทำเศรษฐกิจเสียหาย 1.2–2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม หลังน้ำท่วมกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น แต่มั่นใจ ปีนี้จีดีพีโตได้ 3.3–3.5% ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. แตะ 91.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เหตุท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว ฯลฯ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วม 52 จังหวัดทั่วประเทศขณะนี้ ศูนย์คาดการณ์ว่าจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่า 16,000 ล้านบาท หรืออยู่ในกรอบ 12,000-20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายของภาคเกษตร 6,000-8,000 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 6,000-12,000 ล้านบาท จากช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ประเมินความเสียหายที่ 5,000-10,000 ล้านบาท เพราะมีพื้นที่น้ำท่วมขังมากขึ้น กระจายไปยังพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม เช่น พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ สระบุรี ฯลฯ
“น้ำท่วมขังครั้งนี้กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่น้ำท่วมได้รับผลกระทบโดยตรง และเกิดผลกระทบจากการเสียโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ประชาชนเดินทางไปทำงาน ทำธุรกิจ ท่องเที่ยวได้ลำบากมากขึ้น ทำให้การทำธุรกิจ การท่องเที่ยวไม่เกิดขึ้น”
ความเสียหายดังกล่าว เมื่อเฉลี่ยทั้ง 52 จังหวัด อยู่ที่จังหวัดละกว่า 100 ล้านบาท ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ หรือกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพียง 0.1-0.5% และหลังจากน้ำท่วมผ่านไปแล้ว จะมีการฟื้นฟู เยียวยา ซ่อมแซม ทำให้มีเงินอัดกลับเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจ จึงไม่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังโตได้ 3.3-3.5% ตามที่คาดไว้
ผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นฯยังพบว่า แม้มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม และดัชนีการเมืองต่ำสุดในรอบ 6 เดือนจากปมนายกรัฐมนตรี 8 ปี แต่ภาคธุรกิจมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว จากการค้าขายระหว่างประชาชน และภาคธุรกิจ โดยมีการท่องเที่ยวตามมา แต่ต้องการให้ภาครัฐดูแลต้นทุน ทั้งราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยที่ควรปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซึมตัว
ภาคธุรกิจต้องการให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาท ให้มีเสถียรภาพ โดยมองว่าค่าเงินบาทในระยะสั้น เคลื่อนไหวอยู่ที่ 37.5-38.5 บาท/เหรียญสหรัฐฯ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-1.25% มาอยู่ที่ 4.25-4.50% ทำให้เงินบาทหลุด 38 บาท/เหรียญ ขณะที่ในภาคผู้บริโภค แม้กังวลค่าครองชีพสูง การใช้จ่าย น้ำท่วม จ้างงาน แต่ในอนาคต ความเชื่อมั่นจะค่อยๆดีขึ้น
“นับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะซึมตัว กระทบต่อการส่งออก และท่องเที่ยวของไทย แต่ยังไม่รู้ว่าจะกระทบอย่างไร เมื่อไร ต้องดูสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนอีกว่าจะหนักหน่วงแค่ไหน แต่โชคดีที่จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการซีโรโควิด ที่จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจไทยได้มองว่า อีก 3-6 เดือน เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย และจะฟื้นเป็นลำดับ ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ซึมตัวยังไม่กระทบการส่งออกในไตรมาส 4 มั่นใจว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.3-3.5% แต่ปีหน้า ต้องดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. พบว่า ดัชนีดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยดัชนีอยู่ที่ 44.6 เพิ่มขึ้น 43.7 ในเดือน ส.ค.65, ดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 29.6 เพิ่มจาก 28.7, ดัชนีเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 51.7 เพิ่มจาก 50.8”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ก.ย. ว่า อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.5 ในเดือน ส.ค.เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ค่าดัชนีฯยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังกังวล ต่อปัจจัยเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ปัจจัยบวกที่มีผลต่อค่าดัชนีฯเดือน ก.ย.มาจากการทยอยเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่อาจมีต่างชาติเข้ามาปีนี้ 9-9.5 ล้านคน ปัจจัยลบคือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงาน ค่าแรงที่ปรับขึ้น ฯลฯ
“ดัชนีคาดการณ์ฯ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าอยู่ที่ระดับ 101.8 เพิ่มขึ้นจาก 99.5 ในเดือน ส.ค.ถือเป็นค่าคาดการณ์ที่สูงสุดในรอบ กว่า 1 ปี”.