เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์ประเมินกรอบวันนี้เคลื่อนไหว 37.90-38.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดรอดูท่าทีกนง.ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% หรือ 0.50%
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 65 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า วันนี้นักลงทุนจะรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมของกนง.
ทั้งนี้ เราคาดว่า กนง.อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป +0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทว่า อาจมีกรรมการ 1-2 ท่านที่อาจสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า +0.50% ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจก็มีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนต่างคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง หรือ กนง. ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงโอกาสที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell (รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Bostic, Bowman และ Daly) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ อาทิ Bullard ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในวันก่อนหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผันผวนต่อเนื่อง)
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดกลับตัวของเงินดอลลาร์ยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือ Risk-Off ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์
เราประเมินอีกว่า ในวันนี้มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 38.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่เราคาด ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
นอกจากนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท จากการขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจยังดำเนินต่อไปในช่วงนี้ หลังจากที่ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญลงมา (จับตาโซนแนวรับที่ 1,600 จุด ว่าดัชนี SET จะสามารถรีบาวนด์ขึ้นมาได้หรือไม่) ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายบอนด์ระยะยาวต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 กว่า 8.4 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทได้อ่อนค่าลงมาพอสมควร เมื่อพิจารณาจากดัชนีเงินบาทที่แท้จริง (REER) โดยปัจจุบัน Z-score ของดัชนีเงินบาท REER อยู่ที่ระดับ -1.77 จากข้อมูลในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งปกติเงินบาทมักจะเริ่มแกว่งตัว sideways และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เมื่อ Z-Score ใกล้ระดับ -2.0
ทำให้เราประเมินว่า หากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าขายทำกำไรของผู้เล่นต่างชาติ (เป้าขายทำกำไร 4%-5% จากจุด break out ที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์)
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก