เปิดแนวคิด "เอกนิติ" ปรับทัพสรรพสามิตเพิ่มรายได้รัฐ ชูยุทธศาสตร์ภาษีสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดแนวคิด "เอกนิติ" ปรับทัพสรรพสามิตเพิ่มรายได้รัฐ ชูยุทธศาสตร์ภาษีสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

Date Time: 19 ก.ย. 2565 07:09 น.

Summary

  • ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพภูมิอากาศ ทั้งคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก และพายุรุนแรง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพภูมิอากาศ ทั้งคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก และพายุรุนแรงที่ทำให้หลายประเทศเกิดน้ำท่วมรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

รัฐบาลของประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ตระหนักมากขึ้นถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพ และการดูแลสิ่งแวดล้อม และได้แปรเปลี่ยนเป็น “นโยบาย” เพื่อที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ในแต่ละปีรัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยไม่ต่ำกว่า 200,000-400,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศ ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยเพิ่มเป็นทวีคูนในการดูแลผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน การก้าวสู่ Green Economy หรือ “เศรษฐกิจสีเขียว” ก็เป็นอีกพันธกิจที่รัฐบาลไทยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” แล้ว ยังช่วยยกระดับสินค้าไทยให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนทั่วโลกที่ใส่ใจสิ่งแวด ล้อม และกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปได้อีกด้วย

และเครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยน แปลงได้เร็วขึ้นหนีไม่พ้น “การจัดเก็บภาษี” รัฐบาลจึงสั่งการให้กระทรวงการคลัง ศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ หาช่องทางการเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษี และการจัดเก็บภาษีสินค้าใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคต

“กรมสรรพสามิต” ซึ่งมีพิกัดอัตราภาษีเกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านี้โดยตรง จึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย และเร่งเดินหน้าปรับปรุงระบบภาษี และปรับโครงสร้างภาษีในระยะต่อไป ซึ่ง “ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีผลกระทบกับหลายภาคส่วน จำเป็นต้องคิดและทำอย่างละเอียดรอบคอบให้มากที่สุด”

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ถึงบริบทการทำงานในปีงบประมาณ 2566 และเป้าหมายการทำงานหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

เปิด 4 เทรนด์ท้าทายการทำงาน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเล่าให้ “ทีมเศรษฐกิจ” ฟังถึงแนวทางการทำงานในระยะต่อไป ดร.เอกนิติ เล่าย้อนให้ฟังถึงช่วงที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตหมาดๆ ว่า “ในช่วงนั้น พยายามเรียนรู้งานในทุกมิติของกรมสรรพสามิต รวมถึงเข้าร่วมประชุมกับทุกส่วนงาน เพื่อสร้างความเข้าใจ พร้อมให้โจทย์เจ้าหน้าที่ทุกคนว่า ต้องการเห็นกรมสรรพสามิตไปในทิศทางใดและเป็นอย่างไรในอนาคต”

และเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็มาร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นจริงได้ ขณะเดียวกัน ได้ประสานนำ 4 ปัจจัยที่เป็นเทรนด์ความท้าทายและมีผลกระทบต่อการทำงานของกรมสรรพสามิตอย่างมากในขณะนี้มาร่วมพิจารณาการจัดยุทธ ศาสตร์และกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาองค์กรด้วย

เทรนด์แรก คือ การปรับตัวรับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีปัญหาสงครามการค้า และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เทรนด์ที่ 2 ที่ตามมาติดๆ และถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากโควิด-19 คือ การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค

ตามมาด้วย เทรนด์ที่ 3 คือ การเข้าสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น และเทรนด์สุดท้าย คือ การรับมือกับสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกก่อให้เกิดกติกาใหม่ๆ ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวดขึ้นในเวทีการค้าโลก ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการตั้งเป้าลดคาร์บอน ไปจนถึง ZERO CARBON ฯลฯ

“กรมสรรพสามิต ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้มาตรการภาษีสนับ สนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆเติบโต เช่น อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้มาตรการภาษีลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต ที่มุ่งเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (Environ ment–Social–Good Governance หรือ ESG) ที่จะช่วยสร้างมาตรฐานสากลให้กับภาคธุรกิจไทย และเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

จัดเก็บภาษีสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

“เมื่อได้แผนยุทธศาสตร์แล้ว ต่อมาก็เป็นการกำหนดกลยุทธ์ ที่เรียกว่า “EASE Excise” เพื่อเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษีเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยจะมุ่งดำเนินงานภายใต้ 4 เสาหลัก”

เริ่มจากเสาที่ 1.คือการใช้มาตรการทางด้านภาษีเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับสินค้าและบริการในกลุ่ม ESG เพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อลดคาร์บอน (Carbon Tax) ได้ เพราะหลายประเทศ

เริ่มเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มจัดเก็บ Carbon Tax ในปีหน้า โดยในส่วนของไทยจะต้องมี 1 สินค้าที่ต้องเห็นผล และต้องเริ่มกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีในปีนี้

“เริ่มจากสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง 5 ประเภท คือ ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ยเคมี และไฟฟ้า โดยสินค้าเหล่านี้หากทางการไทยไม่เรียกเก็บภาษีจากผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกไป EU เมื่อสินค้าไปถึง EU แล้วก็จะต้องเสียภาษีที่ประเทศปลายทาง เพราะทุกประเทศขณะนี้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสุขภาพผู้บริโภค แต่หากเสียภาษีจากไทยแล้ว ก็จะเจรจาขอยกเว้นภาษีจากประเทศปลายทางได้”

โดยในปีงบประมาณนี้ (ต.ค.65-ก.ย.66) กรมสรรพสามิตจะศึกษาการจัดเก็บภาษี Carbon Tax ที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก อาทิ การสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (ไบโอเจ็ต)

นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาการจัดเก็บแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย เช่น หากแบตเตอรี่สามารถนำมารีไซเคิลได้ จะกำหนดอัตราภาษีต่ำหรือเสียภาษีน้อยกว่าแบตเตอรีที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จากปัจจุบันที่เก็บภาษีอยู่ที่ 8% เท่ากัน ซึ่งจะพยายามให้แล้วเสร็จ และเริ่มจัดเก็บในปีนี้

ในส่วนของภาษีเพื่อสุขภาพ สำหรับภาษีเหล้า-เบียร์ จะยังจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์เป็นหลัก โดยแอลกอฮอล์สูงจะจัดเก็บในอัตราที่สูง ส่วนแอลกอฮอล์ต่ำจัดเก็บในอัตราที่ต่ำ มองว่า “เหล้า-เบียร์ แอลกอฮอล์ 0% นั้น เป็นตามเทรนด์ของวัยรุ่นในยุคปัจจุบันที่ไม่ใช่นักดื่มแอลกอฮอล์ เพียงแต่ต้องการสร้างภาพว่าเป็นนักดื่ม เพื่อโพสต์เนื้อหาทางโซเชียลมีเดียเท่านั้น และคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพมากกว่าคนรุ่นก่อน

ในขณะที่ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า แม้ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าห้ามนำเข้า และยังไม่มีการจัดเก็บภาษี แต่มองว่าจำเป็นต้องกำหนดพิกัดอัตราภาษีไว้ก่อน เมื่อมีความพร้อมคงต้องจัดเก็บ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคสูบและซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

สำหรับภาษีความหวาน กรมสรรพสามิตได้ประกาศจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลแล้วตั้งแต่ ปี 2559 เพื่อลดการเป็นโรคเบาหวานของผู้บริโภค แต่ในส่วนของภาษีความเค็ม ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราออกมาอย่างชัดเจน แต่กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาจัดเก็บภาษีจากขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีโซเดียมแฝงอยู่จำนวนมาก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไต ลดค่ารักษาพยาบาล ลดค่าฟอกไต

“ปัจจุบัน คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน ขณะที่มีผู้ป่วยฟอกไต 100,000–200,000 คน นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยโรคปอด และโรคตับแข็งอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงควรใช้มาตรการภาษีมาช่วยลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และช่วยรักษาสุขภาพของคนไทย”

เพิ่มทักษะหนุนปฏิบัติการยุคใหม่

ทั้งนี้ เพื่อการสนับสนุนการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ในเสาที่ 2 ของกรมสรรพสามิตคือ การทำงานที่เน้นความคล่องตัว พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหลากหลาย และจำเป็นต่อปฏิบัติการยุคใหม่ อาทิ Digital Skill, Data Skill เป็นต้น อีกทั้งยังต้องมีระบบการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ รวมถึงการใช้ระบบการทำงานแบบ Agile และการนำกระบวนการ Design Thinking มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว คล่องตัว และสร้างสรรค์ เพื่อเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ขณะที่เสาที่ 3 จะเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนงานในทุกมิติ เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) และนำประสบการณ์ของผู้เสียภาษีมาสร้างมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น รวมทั้งการนำระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้ในกรมสรรพสามิต รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย

ส่วนเสาที่ 4 จะเป็นการยกระดับการให้บริการผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้นจนจบในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ สร้างต้นแบบหน่วยงานบริการแบบไร้กระดาษ มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการสู่ความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่

“กรมสรรพสามิตตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลไกสำคัญของประเทศในการจัดเก็บรายได้ที่เอื้อให้สังคมดี เศรษฐกิจมั่นคง เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มีมาตรฐานสากล และกลยุทธ์เหล่านี้ จะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศ สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ส่งเสริมสังคม และสนับสนุนให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”

ไล่ล่ากระบวนการลักลอบหนีภาษี

อธิบดีกรมสรรพสามิต เล่าต่อถึงภารกิจสำคัญที่จะทำต่อไปควบคู่กับการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี ซึ่งก็คือ การปราบปรามกระบวนการลักลอบเลี่ยงภาษี “แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้มงวดตรวจขันให้มีการเสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังคงมีการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะราคาขายสินค้าในประเทศที่แตกต่างจากราคาต่างประเทศ จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการลักลอบการนำเข้าสินค้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จำนวนมาก”

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564-15 ก.ย.2565 พบว่ามีการกระทำผิด 26,287 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 474.59 ล้านบาท แบ่งเป็น สุรา 14,305 คดี ค่าปรับ 123.94 ล้านบาท ยาสูบ 8,898 คดี ค่าปรับ 293.91 ล้านบาท ไพ่ 389 คดี ค่าปรับ 3.98 ล้านบาท น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 862 คดี ค่าปรับ 29.49 ล้านบาท น้ำหอม 105 คดี ค่าปรับ 10.28 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ 1,083 คดี ค่าปรับ 26.57 ล้านบาท และสินค้าอื่นๆ อีก 645 คดี ค่าปรับ 40.43 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและปราบปราม นอกจากจะผนึกกำลังกับเจ้าหน้าที่สายปราบปรามอย่างเข้มข้นแล้ว ยังจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยตรวจจับด้วย โดย ดร.เอกนิติ เล่าว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันยังคงเป็นสินค้าที่นิยมลักลอบนำเข้า และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะการลักลอบนำน้ำมันเขียวมาจำหน่ายบนบก

สำหรับโครงการน้ำมันเขียว เป็นโครงการที่ภาครัฐจัดหาน้ำมันดีเซลแล้วนำมาเติมสารสีเขียว เพื่อแยกแยะออกจากน้ำมันดีเซลบนฝั่ง โดยน้ำมันเขียวได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนฝั่งลิตรละ 6-10 บาท ซึ่งรัฐบาลจัดให้มีขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ แต่พบการลักลอบนำมาจำหน่ายบนบกอย่างต่อเนื่อง ทำให้แต่ละปีกรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากการเว้นภาษีดังกล่าวถึง 4,000 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อสกัดการลักลอบนำน้ำมันเขียวมาใช้บนบก และการรั่วไหลของเม็ดเงิน กรมสรรพสามิตจึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นระบบสำแดงอัตโนมัติผ่านดาวเทียม มาติดตั้งที่เรือจำหน่ายน้ำมันเขียวบนเรือแทงก์เกอร์กลางทะเล สำหรับจำหน่ายให้เรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น

“การใช้ดิจิทัลมาช่วยจะทำให้การตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันเขียวเป็นแบบเรียลไทม์ หากพบว่ามีปริมาณการจำหน่ายที่ผิดปกติ กรมสรรพสามิตจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการลงโทษทันที เชื่อว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยตรวจสอบนี้จะสามารถควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเขียวได้อย่างแน่นอน”

เปิดเป้าหมายรายได้ปี 66

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต รายได้หลักมาจาก สินค้า 5 ประเภท ได้แก่ อันดับ 1 ภาษีน้ำมัน อันดับ 2 ภาษีรถยนต์ อันดับ 3 ภาษีเบียร์ อันดับ 4 สุรา และอันดับ 5 ยาสูบ (ตามตาราง)

โดยปีที่ผ่านมา “กรมสรรพสามิต” มียอดการจัดเก็บรายได้สูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรมสรรพากร ขณะที่ในปีงบประมาณปี 2566 รัฐได้ประมาณการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ราว 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

และตามเอกสารงบประมาณ ทั้ง 3 กรมภาษีของกระทรวงการคลัง มีหน้าที่สำคัญที่ต้องหารายได้ให้กับประเทศ แบ่งเป็น กรมสรรพากร 2.02 ล้านล้านบาท กรมสรรพสามิต 567,000 ล้านบาท และกรมศุลกากร 105,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากส่วนราชการอื่นๆ และรัฐวิสาหกิจ

ในส่วนของกรมสรรพสามิตนั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี การปรับปรุงวิธีการทำงาน และการกำหนดพิกัดอัตราภาษีใหม่ ได้แก่ ภาษีเพื่อสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม พลังงาน ฯลฯ เชื่อว่าจะทำให้ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะจัดเก็บอัตราเท่าใด รายได้กรมสรรพสามิตจะเพิ่มเป็นเท่าใดนั้น ต้องรอผลการศึกษา และวันเวลาที่จะประกาศการจัดเก็บภาษีสินค้าใหม่ๆก่อน

“อย่างไรตาม การจัดเก็บภาษีสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้หวังรายได้เพิ่มเป็นหลัก แต่ยังมีประโยชน์เพื่อช่วยยกกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี เพื่ออนาคตของคนไทย และสร้างความมั่นคง สร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างธรรมาภิบาลด้วย” ดร.เอกนิติ กล่าวทิ้งท้าย

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ