ยุทธวิธีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจลาว ท่ามกลางเงินกีบอ่อนค่า หนี้สาธารณะสูงขึ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุทธวิธีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจลาว ท่ามกลางเงินกีบอ่อนค่า หนี้สาธารณะสูงขึ้น

Date Time: 19 ก.ย. 2565 09:58 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าววิกฤติค่าเงินกีบของสปป.ลาวที่อ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

Latest


ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าววิกฤติค่าเงินกีบของสปป.ลาวที่อ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์จาก EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา เราจะพบว่าค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือน ก.ย. 64 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ พบว่าเงินกีบอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยการอ่อนค่าของเงินกีบนั้นเป็นไปตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่างๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

โดยต้นตอของวิกฤติในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade)

นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป โดย EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันลาวยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่างๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมาก แต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ล่าสุดลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก

ทั้งนี้ นโยบายการคลังและการเงินในลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

จัดเก็บภาษีสร้างรายได้เข้าประเทศ

สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าช่วงปี 2564-2568 จะลดขาดดุลงบประมาณให้เฉลี่ยอยู่ที่ 1-2% โดยให้ความสำคัญในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ชะลอการลงทุนในโครงการที่ไม่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และควบคุมการก่อหนี้ นอกจากนี้ยังลาวมีแผนที่จะทำ Bitcoin Mining รวมถึงปรับปรุงระบบจัดการเก็บภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเรากำลังพัฒนาระบบการเก็บภาษีผ่านระบบดิจิทัล

ขณะเดียวกัน ลาวตั้งเป้าภายในปี 2573 จะสามารถพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่อีกหลายโครงการทำให้มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้น 11,000 MW รวมเป็นกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดมากกว่า 20,000 MW เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศในภูมิภาคตามกรอบความร่วมมือ หรือ MOU การซื้อขายไฟฟ้า เช่น ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย รวมถึงสิงคโปร์ที่มีการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า 130 MW จากรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเป็นครั้งแรกผ่านโครงข่ายสายส่ง 4 ประเทศ ลาว ไทย มาเลย์ สิงคโปร์ LTMS-PIP เมื่อเดือนมิ.ย. 65 ที่ผ่านมา

ขยายฐานเก็บภาษีสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น

เดือน ม.ค. 65 ที่ผ่านมา ลาวได้ปรับเปลี่ยนแผนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ให้ลดลงจาก 10% เป็น 7% ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดว่ารายได้ของลาวจะลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.ค. 65 หรือ 7 เดือนของปี 65 ตัวเลขการจัดเก็บภาษีรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 32% จาก 6.26 ล้านล้านกีบ เป็น 8.31 ล้านล้านกีบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ซึ่งหมายถึงรายได้ของลาวเพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีรวมนั้น ส่วนใหญมาจากภาษีสรรพสามิต หรือ Excise Tax ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.03 ล้านล้านกีบ เป็น 1.98 ล้านล้านกีบ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.95 ล้านล้านกีบ หรือ 92% เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราการจ่ายภาษีของบางภาคส่วน เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีสุรา-บุหรี่ ซึ่งครอบคลุมรายได้ส่วนที่ลดลงของการจัดเก็บ VAT ที่เหลือ 7% ในปัจจุบัน ดังนั้นรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยให้รัฐบาลมีแหล่งเงินที่จะนำมาชำระหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

ผ่าแหล่งทุนชำระคืนหนี้ต่างประเทศของสปป.ลาว

อย่างไรก็ตาม ในปี 64 ลาวมีหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 10,413.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินกู้แบบผ่อนปรน หรือ Concessional จำนวน 6,225.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 60% และเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขตามตลาด หรือ Market Terms จำนวน 4,187.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 40%

ขณะเดียวกันลาวมีหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระคืนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2565 มีหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระ 1,144.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นเงินกู้แบบผ่อนปรน 502.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 44% และเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขตามตลาด 641.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เป็น Commercial Creditors คิดเป็นสัดส่วนเพียง 25%

ทั้งนี้ สปป.ลาวมีหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่เป็น Concession Loans ทำให้รัฐบาลมีต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่า และการได้เงื่อนไขเงินกู้ที่มีความยืดหยุ่นกว่าหนี้ที่มีเงื่อนไขตามตลาดด้วย

รัฐบาลลาวได้มีการจัดการแหล่งสภาพคล่องเพื่อใช้ชำระหนี้ต่างประเทศอย่างเพียงพอ โดยแหล่งเงินสกุลต่างประเทศหลักๆ สำหรับนำมาชำระหนี้ต่างจะมาจาก

1. รายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลในระหว่างปีจาก Tax and Royalty Fee และค่าสัมปทาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ โครงการเหมืองแร่ ค่าบินผ่านน่านฟ้า และค่าลงจอด เป็นต้น ซึ่งรายได้ต่างๆ เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งจากโครงการโรงไฟฟ้าที่ทยอยแล้วเสร็จโครงการเหมืองแร่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นจากการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และสัมปทาน รวมถึงค่า Overflight ที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากมีเที่ยวบินมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ เป็นต้น โดยรัฐบาลคาดว่าในปี 2565 รายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. เงินที่รัฐบาลจะได้รับการชำระคืนหนี้ที่มีรัฐวิสาหกิจกู้ยืม

3. การออกตราสารหนี้ในประเทศ

4. การ Refinance เงินกู้ธนาคาร หรือตราสารหนี้

5. แหล่งเงินอื่นๆ เช่น Concessional Fee จากโครงการต่างๆ รวมถึงเงินที่จะได้รับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ Privatization เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าลาวไม่ได้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือ FX Reserves มาชำระหนี้ต่างประเทศแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่านอกจากรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลในระหว่างปีเป็นแหล่งเงินหลักสำหรับการชำระคืนหนี้ ซึ่งลาวยังมีแหล่งเงินอื่นๆ อีกหลายแหล่งที่สามารถนำมาชำระหนี้คืนได้

หนึ่งในนั้นคือ การ Refinance ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ และรอการเก็บเกี่ยวรายได้ในระยะเวลาถัดมา

อย่างไรก็ตามถือว่าสอดคล้องกับการที่ TRIS Rating ได้คงอันดับเครดิตของลาวที่ระดับ BBB- และได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต หรือ Outlook ของสปป.ลาว จาก Negative Outlook เป็น StableOutlook เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

รวมถึงโอกาสที่สถานะด้านการคลังและภาคต่างประเทศของลาว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจาก TRIS Rating คาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตที่จะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มีเสถียรภาพของรัฐบาลสปป.ลาวในระยะยาว

ยุทธศาสตร์ Land Lock สู่ Land Link

นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่า สปป.ลาว เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล หรือที่เรียกกันว่า Land Lock โดยรัฐบาลลาวจึงมียุทธศาสตร์สำคัญเปลี่ยน Land Lock ให้กลายเป็นพื้นที่ Land Link เพื่อเชื่อมโยงประเทศสมาชิก GMS ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ เข้าด้วยกัน 

โดยหนึ่งในโครงการ Land Link นั่นก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีน-สปป.ลาว หรือ คุนหมิง-เวียงจันทน์ ที่เปิดใช้ไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมาสิ่งที่น่าสนใจในอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะพัฒนาระบบการขนส่งเชื่อมจาก สปป.ลาว-ไทย ออกสู่ทะเล ท่าเรือแหลมฉบัง และจากไทยสู่ สปป.ลาว

ตี๋ จี่ เส็ง รองประธานผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เวียงจันทน์โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด หรือ VLP บอกว่า เราเป็นผู้พัฒนาและให้บริการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ระหว่างประเทศรายแรกในเวียงจันทน์ ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการท่าเรือบก หรือ ที่เรียกว่า Dry Port ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์เวียงจันทน์มีพื้นที่ 2,000 ไร่ งบประมาณลงทุน 727 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เพียง 1.5 กิโลเมตร

สำหรับ จุดไฮไลต์สำคัญ คือ เชื่อมโยงยกตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายสินค้าระบบร่างระหว่างไทย ลาว และ ลาว จีน อย่างที่ทราบกันดีว่า ขนาดรางรถไฟของไทยที่มีขนาด 1 เมตร ของลาวมีขนาด 1.43 เมตร VLP จึงแก้ปัญหาให้ขนส่งได้ง่ายขึ้น นอกจากระบบโลจิสติกส์แล้ว VLP ตั้งเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร โดยเป็นลักษณะแบบ B2B ตั้งแต่การคัดเกรด บรรจุ จัดเก็บสินค้าเกษตร ซื้อขายสินค้าเกษตร นำเข้า ส่งออกผลไม้ สินค้าเกษตรปลอดสารเคมี

รวมถึงเป็นศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการผลิตยานำเข้าและจัดจำหน่ายยาชุด PPE ผลิตภัณฑ์ เคมี GMP รับรองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากจีนเปิดประเทศเมื่อไหร่ บ่อเต็น เขตชายแดนที่เชื่อมต่อระหว่างจีน-ลาวจะคึกคึก ส่งผลมายังภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ