สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 65 ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาส 3/65 ขยายตัว 13.67% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่หดตัวลง 6.02% โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเวียดนามต้องปิดโรงงานหลายแห่ง ภายใต้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด
โดยการขยายตัวของ GDP ในไตรมาส 3/65 ถือเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งเศรษฐกิจของเวียดนามก็เริ่มฟื้นตัว จากการที่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโควิด รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างของเวียดนามมีการขยายตัว 12.91% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนภาคบริการขยายตัว 18.86% และภาคการเกษตรขยายตัว 3.24% โดยรัฐบาลเวียดนามคาดว่าในปี 2565 นี้เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตในช่วง 6 ถึง 6.5% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อของเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 4%
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก "ธนาคารกสิกรไทย" ที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม พร้อมกับเปิดสาขาที่โฮจิมินห์ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งประเมินความน่าสนใจของเวียดนาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนดังนี้
มีประชากรรวม 98.5 ล้านคน และมากกว่าครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 35 ปี
เป็นตลาดผู้บริโภคที่น่าสนใจ และกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น
มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 139-200 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน
มี FTA ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน รวมทั้ง CPTPP และ EU-Vietnam สร้างแต้มต่อให้กับนักลงทุนที่เน้นการส่งออก
แนวโน้มการกระจายความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนจากสงครามการค้า ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติชั้นนำทั่วโลก
ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามกับโอกาสในระยะข้างหน้า
ถ้าเทียบในอาเซียน เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากมาเลเซีย) มีมูลค่าการค้ารวม 19,492 ล้านดอลลาร์ ปี 2564 ขณะที่เวียดนามเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดอันดับ 1 ของไทย นอกจากนี้ การผลักดันความสัมพันธ์ของภาครัฐและเอกชนคาดว่าในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่เวียดนามจะขยับเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในอาเซียนได้
FDI ของเวียดนามแทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด
แม้ว่ามูลค่าการขอรับอนุมัติการลงทุนของเวียดนามจะหดตัวลง 8.1% (yoy) ในครึ่งแรกของปี 65 แต่การลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังเติบโต 26.6% (yoy) เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนทำให้บรรษัทข้ามชาติกระจายความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนเข้ามาในเวียดนามมากขึ้น
ตัวอย่าง โครงการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2020
- Samsung ลงทุนเพิ่ม 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการผลิตสมาร์ทโฟน แผงวงจรไฟฟ้า และกล้องดิจิทัล
- Foxxconn ลงทุนเพิ่ม 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการผลิตแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก
- BYD จะลงทุนเพิ่มใน 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการประกอบ iPad
- Lego จะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโรงงานผลิตเลโก้ที่ Binh Duong
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตของภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือตลาดแรงงานขนาดใหญ่และสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ
ภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม
ในปี 2564 ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 6 ของเวียดนาม โดยมีสัดส่วน 3% ของการค้าทั้งหมดของเวียดนาม การค้าส่วนใหญ่เป็นรถยนต์และสินค้าขั้นกลาง ประกอบด้วยสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและสินค้าฟุ่มเฟือย
แนวโน้ม :เวียดนามได้กลายเป็นประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุดในอาเซียน สินค้าสำคัญประกอบด้วยรถยนต์ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภค
โอกาสทางธุรกิจ : ชาวเวียดนามเห็นว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทยมีคุณภาพดีและมีราคาไม่สูงเกินไป นอกจากนี้ การออกแบบของสินค้าไทย เช่น เครื่องสำอางระดับบน ของว่าง และเครื่องแต่งบ้าน มีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในเวียดนามและจีน
นิคมอุตสาหกรรมอมตะในเวียดนาม
สุรกิจ เกียรติธนากร Country Director (Vietnam) บมจ. อมตะ เวียดนาม กล่าวว่า อมตะเข้ามาลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกมานานกว่า 26 ปีแล้ว ซึ่งความน่าสนใจของเวียดนามในมุมมองของนักลงทุนมีหลายอย่าง เช่น ค่าแรงถูก หากคิดเป็นเงินไทยราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามก็มีสิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับหลายประเทศ ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน ทั้ง CPTPP และ EVFTA
สำหรับ อมตะเองก็สนใจลงทุนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม Amata Bien Hoa จังหวัดด่งนาย ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจทางตอนใต้ของเวียดนามอยู่ไม่ไกลจากเมืองโฮจิมินห์ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ในจังหวัดกว๋างนิญ อีกด้วย
Healthtech ธุรกิจสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่น่าจับตามองของเวียดนาม
เวียดนามมีสตาร์ทอัพประมาณ 3,800 บริษัท โดยมี 4 บริษัทที่เป็นยูนิคอร์น ได้แก่ VNG VNPay MoMo และ Sky Mavis นอกจากนี้ยังมี 11 บริษัทมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยการลงทุนในธุรกิจ Digital Payment และ E-commerce ยังได้รับความนิยมสูงสุดในเวียดนาม ขณะที่การลงทุนในธุรกิจเกมออนไลน์มีการเติบโตก้าวกระโดด (+2,813%) และการลงทุนในธุรกิจ Healthcare (+1,016%) ก็เป็นที่จับตามองอยู่ในปัจจุบัน
กสิกรไทย มองว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ผู้บริโภคเต็มใจจะจ่ายเงินเพื่อบริการด้าน Health Care มากเมื่อเทียบกับรายได้ โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพสูงถึง 6.6% ของ GDP ขณะเดียวกันเวียดนามยังต้องใช้เวลาอีก 70 ปี จึงจะพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งวัดจากจำนวนแพทย์ต่อประชากรของเวียดนามเทียบกับประเทศ OECD ดังนั้น Telemedicine หรือแพลตฟอร์มพบกับหมอออนไลน์จึงเป็นทางออกสำคัญในการยกระดับการให้บริการ Healthcare ของเวียดนาม
ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun