พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ใหม่ วิ่งไล่โลกออนไลน์

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ใหม่ วิ่งไล่โลกออนไลน์

Date Time: 29 ส.ค. 2565 10:15 น.

Summary

  • ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีบทบาทมาก ต่อการดำรงชีวิตของคนไทย เพราะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็ว ไม่ตกเทรนด์

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีบทบาทมาก ต่อการดำรงชีวิตของคนไทย เพราะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็ว ไม่ตกเทรนด์ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น คนส่วนใหญ่จึงแทบจะขาดการเชื่อมต่อ หรือ Disconnect ไม่ได้

แต่โลกออนไลน์ก็เปรียบได้กับดาบสองคม เมื่อมีคนบางกลุ่มฉกฉวยโอกาสใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิดได้โดยสะดวก รวดเร็ว ว่องไว และยากต่อการติดตามผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายไล่ตามเทคโนโลยีไม่ค่อยจะทัน

ยกตัวอย่าง ความผิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เข้าจับกุม 2 ชายชาวจีนขายพัดลมยี่ห้อ “ฮาตาริ” ปลอมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมยึดของกลางพัดลม 12,500 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาท คาโกดังจัดเก็บสินค้าใน จ.สมุทรสาคร เป็น การเข้ามาเหยียบจมูกปลอมสินค้าไทยเพื่อขายในราชอาณาจักรไทย เกาะกระแสความนิยม “พัดลมฮาตาริ” หลัง จุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้งฮาตาริ บริจาคเงินส่วนตัวจำนวน 900 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่ชื่นชมไปทั่ว

เพื่อไล่ตามการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพื่อกระชับพื้นที่ป้องกัน ปราบปรามการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพยนตร์ เพลง ซีรีส์ทีวี เกม การ์ตูน วรรณกรรม บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หวัง “หยุด” ความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น

รวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับกติกาสากล และพฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์กรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเจ้าของสิทธิ์ ถึงที่มาที่ไปของการแก้ไขกฎหมายเพื่อหวังยกระดับการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้มข้นขึ้น ดังต่อไปนี้

น.ส.จิตติมา ศรีถาพร
น.ส.จิตติมา ศรีถาพร

หยุดความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น

“น.ส.จิตติมา ศรีถาพร” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เล่าถึงสาเหตุที่ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ว่ากฎหมายเดิม เมื่อพบการละเมิดงานลิขสิทธิ์ทั้งของไทยและต่างประเทศบนอินเตอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ เจ้าของสิทธิ์ต้องร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้แพลตฟอร์มที่พบการละเมิด นำงานลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดออกจากระบบ ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ละเมิด ก็ต้องดำเนินการภายในเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งมีความยุ่งยาก ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือหยุดความเสียหายของเจ้าของสิทธิ์ ได้อย่างทันท่วงที

แต่หลังกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้ เมื่อพบการละเมิด เจ้าของสิทธิ์สามารถใช้กระบวนการที่เรียกว่า Notice and Takedown (การแจ้งและนำออก) โดยแจ้งแพลตฟอร์มที่พบการละเมิด ให้นำงานลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้โดยไม่ชักช้า ไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ช่วยให้ระงับการละเมิดได้ทันท่วงที เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีข้อกำหนดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย

“และหากผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ให้ความร่วมมือนำงานละเมิดออกจากระบบทันที หลังพิสูจน์แล้วว่าคนแจ้งเป็นเจ้าของสิทธิ์จริง ก็จะได้รับการยกเว้นความผิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มของตนเอง (safe harbor) และป้องกันการกลั่นแกล้ง หรือการฟ้องร้องกันในภายหลัง”

นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการเพื่อให้ไทยเข้าเป็นภาคี “สนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” (WIPO Copyright Treaty : WCT) ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล ที่ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้จากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเข้าเป็นภาคี WCT ด้วย

“สรุปง่ายๆ กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ได้ปรับให้เป็น การอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ โดยให้ผู้ให้บริการ เช่น Facebook, YouTube นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบโดยไม่ชักช้า เมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล และผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือจะได้รับการยกเว้นความรับผิด”

แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์เถื่อนที่ละเมิดงานลิขสิทธิ์ จะใช้การปิดเว็บไซต์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอม พิวเตอร์ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยเจ้าของสิทธิ์แจ้งมาที่กรม จากนั้นกรมจะทำคำร้องผ่านไปยังดีอีเอส เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเว็บหรือยูอาร์แอล (URL)

เว้นความผิดแพลตฟอร์มละเมิด

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ ที่ได้แก้ไขมี 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ 4 ประเภท และกำหนดเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดรวมถึงนำกระบวนการ Notice and Takedown มาใช้แก้ปัญหาเพื่อให้ระงับการละเมิดได้รวดเร็วทันท่วงที

โดยผู้ให้บริการ 4 ประเภท คือ 1.ผู้ให้บริการที่เป็นสื่อกลางส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือให้สามารถติดต่อถึงกันผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ค่ายมือถือ 2.ผู้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการชั่วคราว 3.ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น Youtube, Facebook, TikTok, Line 4.ผู้ให้บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Search Engine) เช่น Google

“กฎหมายยกเว้นความผิดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพลตฟอร์มร่วมมือนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบและหยุดยั้งความเสียหายของเจ้าของสิทธิ์ เหมือนเราเป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อมีคนแจ้งว่า มีคนขายของละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่ ถ้าเราเฉย ไม่จัดการปัญหา ก็จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าให้ความร่วมมือก็จะได้รับการยกเว้นความผิด”

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ การเพิ่มโทษคนที่ขายอุปกรณ์สำหรับการแฮ็กข้อมูล เช่น คนขายกล่องดำดึงสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศ และเผยแพร่ต่อ เพราะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์

3.อายุความคุ้มครองงานภาพถ่ายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตาม WCT จากเดิมที่งานภาพถ่ายมีอายุความคุ้มครอง 50 ปี นับแต่สร้างสรรค์หรือโฆษณาครั้งแรก แต่ได้แก้ไขใหม่เป็นจะได้รับความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ซึ่งจะทำให้ผู้สร้างสรรค์ และทายาทมีโอกาสใช้ประโยชน์และได้รับค่าตอบแทนในระยะเวลายาวนานขึ้น

และ 4.ความต่อเนื่องของการดำเนินงานของคณะกรรมการลิขสิทธิ์ โดยกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่

นางอุมาศิริ ทาร่อน
นางอุมาศิริ ทาร่อน

สมาพันธ์ปลงเว็บเถื่อนลอยนวลอยู่ดี

ขณะที่ “นางอุมาศิริ ทาร่อน” รองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ ทำให้การแก้ปัญหาการละเมิดบนสื่อโซเชียล ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนด้วยกันเอง

“เดิมเมื่อพบการละเมิดบนสื่อโซเชียล เช่น Youtube, Facebook เจ้าของสิทธิ์จะต้องไปร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาล สั่งให้แพลตฟอร์มเอางานละเมิดออก หรือปิดกั้นการมองเห็น ซึ่งใช้เวลานาน แต่ตอนนี้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องไปศาล ทำให้ หยุดความเสียหายได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาหนังของเราถูกละเมิดจำนวนมาก และเจ้าของหนังสูญเสียรายได้จำนวนมากจากกรณีคนไม่ดูหนังในโรงแต่ไปหาดูหนังเถื่อน”

แต่ Notice and Takedown ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ที่เปิดเว็บขึ้นมาเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉพาะ อย่างเว็บเถื่อนจำนวนมากที่เปิดให้ดูภาพยนตร์ ซีรีส์ทีวี ทั้งของไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเว็บละเมิดเหล่านี้ไม่ได้มีช่องทางให้ติดต่อ หรือร้องเรียนได้ อีกทั้งยังมีเว็บไซต์ หรือลิงก์สำรองอีกจำนวนมาก ทำให้การแก้ปัญหาไม่จบสิ้น

ดังนั้น วิธีการที่เจ้าของสิทธิ์ใช้ดำเนินการกับเว็บเถื่อน มี 2 ทางคือ ถ้ารู้ตัวเจ้าของเว็บเถื่อน ก็จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บเลย แต่ก็ใช้เวลานานมาก ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ วิธีการที่ 2 คือ การบล็อกเว็บ ตามมาตรา 20 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แทน

“แต่การบล็อกเว็บก็มีปัญหาอีก เพราะไม่ได้บล็อกทั้งเว็บ หรือทั้งโดเมนเนม (Domain Name) เป็นการบล็อกเป็นราย URL ที่มีการละเมิดหนังเป็นเรื่องๆเท่านั้น เจ้าของสิทธิ์เคยเสนอภาครัฐให้บล็อกที่ DNS คือให้บล็อกที่ ISP เลย ซึ่งจะทำให้เปิดเว็บไม่ได้เลย”

ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก Media Partners Asia (MPA) ระบุว่า ละครไทยได้รับความนิยมมากในโลกออนไลน์ คาดว่า อุตสาหกรรมวิดีโอออนไลน์ของไทย ซึ่งเป็นระบบบอกรับสมาชิกผ่านสตรีมเมอร์ จะสร้างรายได้ถึง 776 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 65

แต่กลับพบการละเมิดแพร่หลาย มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ล้านคนในปี 2565 ทำรายได้รั่วไหล 475 ล้านเหรียญ หาก การละเมิดไม่ถูกควบคุมจะมีผู้ละเมิดสูงถึง 17 ล้านคนในปี 2570 สูญเสียรายได้ปีละ 600 ล้านเหรียญ

“เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ผู้ละเมิดก็ต้องปรับ เปลี่ยนวิธีการละเมิดให้ตามทัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะหนัง ละคร เพลง สูญเสียรายได้มหาศาล ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหาให้มากยิ่งๆขึ้นในอนาคต เพื่อลดความเสียหาย และสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน”

นายสินอนันต์ รัตนตระกูลชัย
นายสินอนันต์ รัตนตระกูลชัย

ขณะที่ “นายสินอนันต์ รัตนตระกูลชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่งอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า การนำกระบวนการแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Takedown) มาใช้ เพื่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการได้โดยตรง เพื่อนำข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ (Takedown) ได้อย่างทันท่วงที สามารถลดปัญหาการละเมิดได้ ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ และยังทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

“ปัจจุบันเพลงไทยส่วนใหญ่ถูกเผยแพร่ผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube Facebook”

ส่วนเรื่องกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เป็นการป้องกันมิให้บุคคลอื่นเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์มากระทำการปลดล็อกรหัส เพื่อละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีได้

ในส่วนการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงนั้น คืองานลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่คุ้มครองการสร้างสรรค์งานที่ถ่ายทอดออกมา รายได้ที่จัดเก็บจะนำไปจัดสรรให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นครูเพลง, นักแต่งเพลง ฯลฯ.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ