ว่างงานต่ำสุดหลังโควิดระบาด ราชการ-รัฐวิสาหกิจ-เอกชนหมดไฟในการทำงาน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ว่างงานต่ำสุดหลังโควิดระบาด ราชการ-รัฐวิสาหกิจ-เอกชนหมดไฟในการทำงาน

Date Time: 27 ส.ค. 2565 06:42 น.

Summary

  • สศช.เผยอัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่โควิด–19 ระบาด โดยมีผู้ว่างงาน 550,000 คน คิดเป็น 1.37% ขณะที่ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงช่วงปกติ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

สศช.เผยอัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่โควิด-19 ระบาด โดยมีผู้ว่างงาน 550,000 คน คิดเป็น 1.37% ขณะที่ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงช่วงปกติ น่าหวั่นพบคนหมดไฟในการทำงาน ด้านหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลง น่าห่วงครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงจะกลายเป็นหนี้เสีย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2565 สถานการณ์แรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำ 39 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่ง/ ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ 6.1% 12.1% และ 4.9% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ ก่อสร้าง โรงแรม/ภัตตาคาร โดยการจ้างงานหดตัว 5.4% และ 2.6% ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรม/ ภัตตาคารการจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว แม้ผู้ประกอบการจะต้องการจ้างงานแต่แรงงานที่ออกจากงานไปในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่กลับเข้าระบบเดิม สำหรับภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงาน

ขณะเดียวกัน พบว่าชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/ สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคน ในไตรมาส 2 ปี 2564 เหลือ 2.2 ล้านคนในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ มี 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 550,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.37% ลดลงทั้งผู้ว่างงาน
ที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน

ทั้งนี้ การว่างงานยังปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม โดยผู้ว่างงานระยะยาว หรือว่างงานนานกว่า 1 ปี มี 150,000 คน ลดลง 1.2% จากไตรมาสสองปี 2564 การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับการศึกษา และอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 2.17% ลดลงจาก 2.77% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ต้องติดตาม คือผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะต่ำ รวมทั้งเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ

“ประเด็นที่น่าสนใจ คือปัจจุบันแรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และลาออกจากงานมากขึ้น อย่างในกรุงเทพ มหานคร พบว่า แรงงานในทุกกลุ่มอาชีพมีภาวะหมดไฟในระดับสูง คือ พนักงานรัฐวิสาหกิจมีภาวะหมดไฟ 77% รองลงมาเป็นบริษัทเอกชน 73% ข้าราชการ 58% และธุรกิจส่วนตัว 48%”

สำหรับประเด็นหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2565 มูลค่า 14.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% ลดลงจาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.2% ลดลงจากไตรมาสก่อนขยายตัวชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังหนี้เสีย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงต้องติดตามผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อลูกหนี้ ด้านความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว

สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ครัวเรือนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่ นอกจากนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลอื่นและสินเชื่อ
บัตรเครดิต มีสัดส่วนสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ หรือสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของการเกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ