ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ

Date Time: 26 ส.ค. 2565 09:00 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • จะเห็นได้ว่าการ Decoupling ระหว่าง สหรัฐฯ และจีน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์ ดังนั้น ในระยะถัดไปไทยควรกระจายความเสี่ยงในการนำเข้าและส่งออก

Latest


หลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในปี 2560 หนึ่งในนโยบายที่ถูกนำมาใช้อย่างแข็งกร้าวและชัดเจนคือการประกาศสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับจีนที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าติดตามคือในปัจจุบันภาวะสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างไร และจีนอาจจะกลับไปเจรจาเพื่อหยุดสงครามเหล่านี้ หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น จะส่งผลต่อการค้าโลกและไทยอย่างไร

หากพิจารณาถึงต้นตอของสงครามการค้าที่ผ่านมาจะพบว่าอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดี Trump เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าชาวอเมริกันไม่น้อยที่สนับสนุนสงครามการค้าและเทคโนโลยีนี้

ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสหรัฐฯ และจีน ก็ถือได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาเป็นเวลานานและอาจมาไกลเกินกว่าสงครามการค้าที่รอการเจรจา เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนได้พยายามลดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ (Decoupling) ทั้งในด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทาน การลงทุน และแรงงานมาระยะหนึ่งแล้ว

ล่าสุด EIC ประเมินว่าการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ จะยิ่งเป็นชนวนให้การแบ่งขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น อีกทั้ง ในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ พร้อมให้เครดิตภาษีสำหรับการลงทุนเพิ่มเติม และห้ามบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนขยายกิจการการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปสู่จีน

นอกจากจะเป็นกิจการที่มีอยู่แล้วหรือเป็นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่นเก่า และในเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ได้กดดันบริษัท ASML ที่ผลิตเทคโนโลยีสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไม่ให้ทำธุรกิจกับจีนอีกด้วย รวมถึงก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้ง Build Back Better World ร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งเป็นโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อต่อต้านโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน

ในฝั่งของจีนเองก็ได้ตั้งเป้าการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ถึง 80% ของอุปสงค์ในประเทศภายในปี 2573 ตามแผน Made in China 2568 โดยได้ตั้งกองทุน China Integrated Circuit Industry Investment Fund ขึ้นในปี 2557 ด้วยวงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ นอกจากนี้ จีนยังให้สิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีนำเข้าสำหรับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์

ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ประกาศให้เงินอุดหนุนบริษัทที่ลงทุนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เทียบเท่ากับ 30% ของมูลค่าการลงทุน แต่ไม่เกิน 100 ล้านหยวนเพื่อพัฒนาการผลิตภายในประเทศ

ทั้งนี้เทคโนโลยีจีนปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กสุด (5 nm) ที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูงได้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ศูนย์วิจัย TechInsights รายงานว่า ขณะนี้จีนสามารถผลิตชิปขนาด 7 nm ได้เองแล้ว ซึ่งเร็วกว่าที่ประเมินไว้มาก สะท้อนการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะต่อไป

แล้วใครจะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จาก US-China decoupling

การ Decoupling นอกจากจะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนสูญเสียช่องทางการค้าซึ่งกันและกันแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น โดยอาจจำเป็นต้องหาแหล่งป้อนวัตถุดิบรายใหม่ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและเงินลงทุนมหาศาล ซ้ำเติมภาวะห่วงโซ่อุปทานโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน ประกอบกับการปิดเมืองของจีนในช่วงที่ผ่านมา

ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและมูลค่าการค้าขายลดลง ทำให้เกิดความสูญเสียความได้เปรียบจากขนาด (Economies of scale) มีต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น และท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งในด้านของกำไรของผู้ประกอบการ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ลดประสิทธิภาพในการผลิต การจ้างงาน การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม และอาจเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ และจีนจะเป็นผู้ที่เสียประโยชน์ แต่ก็มีหลายประเทศที่อาจจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงโดยการหาตลาดนำเข้าวัตถุดิบและฐานการผลิตแหล่งใหม่ ผ่านการลงทุนระหว่างประเทศ (FDI) ทำให้หลายประเทศมีโอกาสได้รับเม็ดเงินการลงทุนทั้งจากจีนและสหรัฐฯ รวมถึงจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสองประเทศได้มากขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าที่หายไป

เช่น การที่โรงพยาบาลในจีนหันมาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นมากขึ้น แทนที่การสั่งซื้อจากสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว การที่จีนลดภาษีนำเข้าแก่ประเทศต่างๆ ในองค์การการค้าโลก รวมไปถึงการที่บริษัทจากสหรัฐฯ เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศอื่น เช่น เวียดนาม เป็นต้น

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก US-China decoupling อย่างไร

จากงานวิจัยโดยหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce) พบว่ามี 4 ภาคธุรกิจสำคัญของจีนและสหรัฐฯ ที่จะได้รับผลกระทบจากการ Decoupling อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน (รวมไปถึงอุตสาหกรรมซ่อมบำรุง) เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์

แต่สำหรับประเทศไทย ผลกระทบผ่านอุตสาหกรรมการบินมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยมีการค้าอากาศยานฯ เพียงราว 0.5% ของการค้าทั้งหมด (ข้อมูลปี 2564) เช่นเดียวกันกับความเสี่ยงผ่านอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากไทยส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ในขณะที่ผลกระทบส่วนมากอยู่ในภาคส่วนอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น ไทยจะได้รับผลกระทบของการ Decoupling ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์เป็นหลัก เนื่องจากในทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ไทยมีความเชื่อมโยงกับทั้งสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างสูงผ่านการค้า และห่วงโซ่อุปทานโลก

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

เซมิคอนดักเตอร์มีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน ซึ่งขั้นตอนโดยย่อประกอบด้วย
1. การออกแบบ
2. การผลิต
3. การประกอบ
4. การทดสอบและบรรจุ
5. การนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

โดยห่วงโซ่อุปทานนี้มีการเชื่อมโยงกันทั่วโลก แต่ละประเทศจะมีความชำนาญในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนแตกต่างกันออกไป โดยสหรัฐฯ เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 1 หรือการออกแบบ และมียอดขายมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ส่วนจีนเป็นผู้นำในขั้นตอนช่วงท้ายที่ทำการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนให้กับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังเป็นตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเนื่องจากจีนเป็นศูนย์การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าครึ่งหนึ่งของอุปทานโลก

สำหรับไทยมีส่วนร่วมในขั้นตอนที่ 3 (ประกอบ), 4 (ทดสอบและบรรจุ) และ 5 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายสินค้า เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด จำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญกับการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ไทยยังมีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ และจีนผ่านห่วงโซ่อุปทานนี้ค่อนข้างสูง โดยไทยมีตลาดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญเป็นสหรัฐฯ ในขณะที่มีจีนเป็นแหล่งนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญ

ดังนั้น หากการ Decoupling เกิดขึ้น สหรัฐฯ อาจจะสูญเสียตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในจีน นั่นหมายความว่าเม็ดเงินลงทุนเพื่อการพัฒนาและวิจัย (R&D) จะลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตของโลกมีแนวโน้มลดลง อาจทำให้เซมิคอนดักเตอร์มีราคาสูงขึ้น

อีกทั้ง สหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องลดการผลิตในจีนลง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดการชะงักงัน ผลกระทบทั้งหมดนี้จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะของไทย ซึ่งมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญ เนื่องจากวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและขาดแคลนอุปทานในการผลิต

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากเคมีภัณฑ์เป็นภาคธุรกิจที่ใช้ปัจจัยการผลิตทุนเป็นส่วนใหญ่ (Capital-intensive) สังเกตได้จากการที่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีระบบอัตโนมัติ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน ทำให้มีอัตราการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค การลงทุนใน R&D และการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) จึงเป็นสิ่งสำคัญต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

โดยอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง เนื่องจากเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกที่สำคัญซึ่งกันและกัน ดังนั้น ในระยะยาว การ Decoupling อาจทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ในระยะยาว Decoupling จะทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตเคมีภัณฑ์ภายในสหรัฐฯ และจีนลดลง ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น

แต่เมื่อมองในมุมของไทยที่มีจีนและสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าเคมีภัณฑ์ที่สำคัญ Decoupling ทำให้สหรัฐฯ และจีนค้าขายกันน้อยลง เป็นเหตุให้ทั้งสองจำเป็นต้องหาตลาดอื่นเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น โดยจีนอาจหันไปนำเข้าเคมีภัณฑ์จากกลุ่มประเทศอื่นมากขึ้น รวมถึงไทย ทำให้ไทยอาจขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง การที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องส่งออกให้จีนน้อยลงส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องหาตลาดส่งออกอื่นๆ ทำให้ไทยอาจมีโอกาสได้นำเข้าเคมีภัณฑ์ในราคาที่ถูกลง

ในระยะยาวไทยควรรับมืออย่างไร

จะเห็นได้ว่าการ Decoupling ระหว่าง สหรัฐฯ และจีน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์ ดังนั้น ในระยะถัดไปไทยควรกระจายความเสี่ยงในการนำเข้าและส่งออก รวมไปถึงการจัดหาห่วงโซ่อุปทานจากหลากหลายประเทศ

อีกทั้ง ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์ เนื่องจาก Decoupling ทำให้ไทยมีโอกาสในอุตสาหกรรมทั้งสองมากขึ้น ภาครัฐจึงควรออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว

โดย วิรินทร์รัชญ์ คีรีรักษ์
Economist trainee
Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ