ผลสำรวจ ม.หอการค้าไทย พบปี 65 หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 5 แสนบาท สูงสุดรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่กู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หลังค่าครองชีพสูง รายได้หด แต่ไม่น่าห่วง ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ มีทรัพย์สินค้ำประกัน แต่มูลหนี้ที่สูงอาจทำให้เศรษฐกิจโตไม่โดดเด่น ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีลดลงมาพ้นจุดสูงสุดที่ 90% ของจีดีพีแล้ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยทั่วประเทศปีนี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,350 ตัวอย่าง ว่าผู้ตอบ 99.6% ระบุมีหนี้ขณะที่มีเพียง 0.4% ที่ไม่มีหนี้ โดยกลุ่มที่มีหนี้มียอดหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงถึง 501,711 บาท สูงสุดในรอบ 16 ปี ผ่อนชำระเดือนละ 12,801 บาท โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าว เป็นหนี้ในระบบ 78.9% ซึ่งมีหลักประกันหนุนหลัง เช่น รถยนต์ โฉนดที่ดิน วางค้ำประกัน ถือเป็นเรื่องดีที่ไทยมีสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนมากขึ้น ขณะที่หนี้นอกระบบมีเพียง 21% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับประเภทของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ส่วนบุคคล มีสัดส่วนสูงถึง 56.4% เช่น การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมา 54.4% เป็นหนี้จากบัตรเครดิต, 49.6% หนี้ยานพาหนะ, 49.2% หนี้ประกอบธุรกิจ, 37.5% การศึกษา และ 35.7% ที่อยู่อาศัย ส่วนสาเหตุของการก่อหนี้มาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นรายได้ ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ผ่อนสินค้ามากเกินไปใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากไป และซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบ 65.9% เคยผิดนัดการผ่อนชำระ เพราะรายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี และค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ จึงเสนอภาครัฐ ให้จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ความรู้เรื่องการบริหารหนี้ ฝึกอบรมอาชีพเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ ฯลฯ ส่วนปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ยังไม่น่ากังวล เพราะสถาบันการเงินต่างตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ และการติดตามหนี้ในระบบ มีกระบวนการไกล่เกลี่ยตามกลไกปกติ “หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เกิดจากค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี สภาพคล่องในธุรกิจแย่ ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง หากเศรษฐกิจฟื้น หนี้ครัวเรือนจะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ต่อครัวเรือนปีนี้จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในระบบ สะท้อนได้ว่า คนไทยเข้าถึงสินเชื่อ หรือกู้ในระบบได้มากขึ้น เพราะมีทรัพย์สิน ถือเป็นเรื่องปกติที่คนชั้นกลางจะก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์มากขึ้น”
นายธนวรรธน์กล่าวต่อถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 65 ที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 89.3% ของจีดีพี ถือว่ามีอัตราสูงแต่ไม่น่ากังวล เพราะหนี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในสถาบันรับฝากเงิน ที่มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี หรือส่วนใหญ่เป็นหนี้อยู่ในระบบที่ใช้หลักทรัพย์เป็นประกันวงเงิน ไม่ใช่กู้เพื่อนำมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือมาจากการพนัน แต่ก็อาจทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มการบริโภคภาคเอกชนทำได้ยากขึ้น และอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่โดดเด่นนัก
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนไทยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 90.9% ของจีดีพีในช่วงไตรมาส 1 ปี 64 ติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนมากที่สุดในโลก จากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มสูงขึ้นแตะระดับ 80% ของจีดีพีนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 63 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาด และมีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้จีดีพีไทยหดตัว และเติบโตอยู่ในระดับต่ำ “สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดที่ 90.9% มาแล้ว และจะค่อยๆลดลงเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้น คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงจาก 90% ในปัจจุบันมาอยู่ที่ 80% ได้ภายใน 5 ปีหากเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้าขยายตัวในอัตราเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6.2% ต่อปี”.