จากวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียใต้ สู่ปัญหาเกมการเมืองระลอกใหม่

Economics

Analysis

Tag

จากวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียใต้ สู่ปัญหาเกมการเมืองระลอกใหม่

Date Time: 13 ส.ค. 2565 13:19 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียใต้ได้ถูกจับตาไม่น้อยเลย โดยเริ่มต้นจากประเทศศรีลังกาที่ได้ขอความช่วยเหลือจากทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) เพื่อใช้หนี้

Latest


เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียใต้ได้ถูกจับตาไม่น้อยเลย โดยเริ่มต้นจากประเทศศรีลังกาที่ได้ขอความช่วยเหลือจากทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) รวมถึงธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อที่จะมาใช้หนี้จากเจ้าหนี้ต่างประเทศ ล่าสุดศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศมากถึง 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่หนี้อันมหาศาลนี้ ยังมีอีกประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับศรีลังกาก็คือปากีสถาน ประเทศที่เป็นคู่รักคู่แค้นของอินเดีย โดยข้อมูลในปี 2021 ปากีสถานมีมูลหนี้เกิน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยิ่งทำให้สร้างความกังวลว่าประเทศเหล่านี้ อาจไม่สามารถจ่ายหนี้ดังกล่าวได้ไหว

เรามาดูกันว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นอย่างไร แล้วประเทศในเอเชียใต้จะสามารถออกจากวิกฤติครั้งใหญ่นี้ได้หรือไม่

วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่

เอาเข้าจริงแล้วสำหรับวิกฤติของศรีลังกากับปากีสถานอาจไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ได้กู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นว่าเล่นด้วยซ้ำ อย่างปากีสถาน นับตั้งแต่ปี 1958 จนถึงปี 2018 ได้ขอกู้เงินจาก IMF ไปมากถึง 21 ครั้งด้วยกัน ขณะที่ศรีลังกาได้ขอกู้เงิน IMF จำนวน 16 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา

ปัญหาของสองประเทศนี้ ที่ต้องการจะกู้เงินก็คือ เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพค่าเงินของประเทศตัวเอง เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ มีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาน้อย และทั้งสองประเทศมีลักษณะคล้ายกัน นั่นก็คือการกู้เงินหรือระดมทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการออกพันธบัตรและให้ดอกเบี้ยสูง เนื่องจากความเสี่ยงของ 2 ประเทศนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ปากีสถานและศรีลังกา กลับไม่ได้มีการแก้ปัญหาหนี้เหล่านี้แต่อย่างใด ซ้ำร้ายถ้าหากมีปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นมาก็มักจะขอความช่วยเหลือจาก IMF อยู่เสมอๆ

เมื่อประเทศเหล่านี้ต้องการจะพลิกเศรษฐกิจ และจีนคือทางออก

วิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียใต้ครั้งล่าสุดนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการวางแผนการลงทุนที่ผิดพลาด แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่ดีก็คือ ต้องการจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และสิ่งที่ตอบโจทย์ดังกล่าวก็คือการลงทุนโครงการขนาดใหญ่นั่นเอง

โครงการเหล่านี้ถ้าหากต้องการที่จะใช้เงินกู้จาก World Bank หรือแม้แต่ ADB เพื่อก่อสร้างโครงการใดๆ มักจะต้องใช้เวลายาวนานในการพิจารณาว่าโครงการเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ รัฐบาลของประเทศที่ต้องการกู้เงินมีความสามารถในการจัดการหนี้ได้หรือไม่ ไปจนถึงความโปร่งใสว่ามีการคอร์รัปชันโครงการเหล่านี้หรือไม่

สิ่งที่ได้มาถ้าหากต้องการกู้เงินจากองค์กรเหล่านี้ นั่นก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ หรือไม่ก็ประเทศที่เป็นลูกหนี้ก็สามารถที่จะผ่อนจ่ายในระยะยาวได้ เช่น 20-30 ปี ทำให้ปัญหาการคลังของประเทศไม่เข้าตาจนมากนัก

แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือประเทศอย่างศรีลังกา และปากีสถานกลับเลือกที่จะกู้เงินจากประเทศจีน เนื่องจากในช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา จีนมีโครงการเส้นทางสายไหม One Belt One Road (OBOR) ทำให้หลายประเทศมองว่า จีนจะช่วยนำพาความเจริญเหล่านี้เข้ามา แม้ว่าหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตกได้เตือนทั้งสองประเทศนี้แล้วว่าอาจติดกับดักหนี้ได้ 

เราจะเห็นว่าการกู้เงินจากประเทศจีนไม่มีเงื่อนไขเหมือนกับการกู้เหมือนกับ ADB หรือแม้แต่ World Bank แต่ราคาที่ต้องจ่ายคือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้จีนนั้นมากกว่า 2-3 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และเงินกู้ดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำกับรัฐบาลจีน แต่ทำกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim Bank) ของจีนเสียส่วนใหญ่

แถมปัญหาใหญ่ที่ตามมาที่ประเทศในเอเชียใต้อย่างศรีลังกาและปากีสถานไม่ได้ประเมินไว้นั่นก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้การลงทุนโครงการใหญ่ๆ ในศรีลังกาและปากีสถานย่ำแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากรายได้เข้าประเทศที่ลดลง แต่ยังต้องจ่ายหนี้ให้กับจีนเหมือนเดิม รวมถึงสถานการณ์ที่ยูเครนถูกบุกโดยรัสเซีย ส่งผลทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเลวร้ายลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของราคาพลังงาน ราคาอาหารที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ก็อ่อนค่าลงอย่างหนัก ทำให้หนี้ยิ่งพอกพูนขึ้น

ความล้มเหลวดังกล่าวแถมถูกซ้ำเติมวิกฤติทำให้สองประเทศนี้ ต้องเดินหน้ากลับเข้าองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF หรือ World Bank รวมถึง ADB อีกครั้ง

จากปัญหาเศรษฐกิจ สู่ปัญหาใหม่ทางการเมืองของประเทศเอเชียใต้
จากปัญหาเศรษฐกิจ สู่ปัญหาใหม่ทางการเมืองของประเทศเอเชียใต้

เกมการเมืองที่ไม่มีใครยอมใคร

ไม่ใช่แค่องค์กรระหว่างประเทศจะต้องคิดหนักเรื่องความช่วยเหลือ แต่ในวิกฤติดังกล่าวนี้ยังเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของศรีลังกา เนื่องจากศรีลังการวมถึงปากีสถานเองเป็นจุดสำคัญที่อยู่ในแผนเส้นทางสายไหมของจีน

ที่ผ่านมา ปากีสถานพึ่งพาจีน เพื่อคานอำนาจของอินเดีย และการกลับเข้ามาขอความช่วยเหลือจาก IMF ในรอบนี้ทำให้ปากีสถานถูกมองว่ากู้เงินเพื่อที่จะไปจ่ายหนี้ให้กับจีนด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกัน ศรีลังกาเองก็อยู่ใกล้กับอินเดีย จึงทำให้อินเดียเองก็ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือศรีลังกาไปแล้วมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าหากอินเดียไม่ช่วยศรีลังกาแล้ว ก็อาจทำให้ศรีลังกาไปพึ่งพาจีน และนั่นอาจทำให้ความมั่นคงของอินเดียสั่นสะเทือนได้ นอกจากนี้ยังมีญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าหนี้สำคัญของศรีลังกา ก็กำลังจับตามองวิกฤตินี้เช่นกัน เนื่องจากอินเดียกับญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรในกลุ่ม QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ด้วยเช่นกัน หากความมั่นคงของอินเดียสั่นคลอนจากจีนที่เป็นเจ้าหนี้ศรีลังกา ย่อมทำให้ญี่ปุ่นกังวลตามไปด้วย

ทางออกของ 2 ประเทศนี้

สำหรับทางออกของ 2 ประเทศนี้อาจต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษี การทยอยนำรัฐวิสาหกิจออกมาเป็นบริษัทเอกชน (Privatization) การปรับอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน 2 ประเทศนี้ เหมือนกับกรณีของไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมถึงยังต้องมีการปรับการลงทุนในโครงการลงทุนต่างๆ ของสองประเทศหลังจากนี้ว่าการลงทุนที่ดีไม่ใช่แค่โครงการขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นโครงการที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั่วถึง เช่น การสร้างถนน หรือแม้แต่ทางรถไฟ ซึ่งแตกต่างกับศรีลังกาหรือปากีสถานที่มีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ แต่ไปอยู่ในจุดที่เรือขนส่งสินค้าไม่ได้แล่นผ่าน หรือแม้แต่สนามบินแห่งใหม่ของศรีลังกาเองแต่กลับไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหรือรถไฟ เชื่อมต่อสนามบินเหล่านี้ ทำให้ไม่มีการใช้งานจนกลายเป็นสนามบินร้าง

ทว่ายังมีอีกหนึ่งความเป็นไปได้ เมื่อกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Washington Post เสนอความคิดที่ว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นแกนนำสำคัญของ IMF สามารถใช้บทบาทดังกล่าวในการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศในเอเชียใต้ รวมถึงความช่วยเหลือเงินกู้จากกลุ่ม QUAD เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อกับดักหนี้จากประเทศจีน

หลังจากนี้เราต้องมาดูกันว่าทั้ง 2 ประเทศนี้จะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีไหน รวมถึงประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของ QUAD หรือจีนที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว


Author

นพรุจ ลาภิศ

นพรุจ ลาภิศ
นพรุจ ชายผู้สนใจการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และอาร์เซนอล