ปราสาททรายสินทรัพย์ดิจิทัล บทเรียน “ซิปเม็กช์” ดึงสตินักลงทุน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปราสาททรายสินทรัพย์ดิจิทัล บทเรียน “ซิปเม็กช์” ดึงสตินักลงทุน

Date Time: 1 ส.ค. 2565 07:55 น.

Summary

  • บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย (Zipmex) ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขาย Zipmex ได้ประกาศระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

วงการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ต้องพบกับความสั่นสะเทือนและถูกท้าทายความเชื่อมั่นครั้งใหญ่ เมื่อ บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย (Zipmex) ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายที่ชื่อว่า Zipmex ได้ประกาศระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ในช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา สร้างความสั่นคลอนให้กับวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในทันที

โดยเฉพาะบรรดาเหล่า Zipsters นักลงทุนที่เป็นลูกค้าของ Zipmex ที่ย่อมตื่นตระหนกอย่างมาก โดยกลายเป็นผู้ประสบภัยทันที!! เพราะสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ที่ฝากไว้ในโปรแกรมหรือผลิตภัณฑ์ ZipUp+(ซิปอัพพลัส) ของซิปเม็กซ์ จะไม่สามารถถอนหรือโอนออกมาซื้อขายได้ โดยซิปเม็กซ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูงและคู่ค้ามีปัญหาขาดสภาพคล่อง

ก่อนที่ความจริงจะปรากฏหลังจากนั้นว่า ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ได้นำเหรียญของลูกค้าที่ฝากไว้ในโปรแกรม ZipUp+ โอนออกไปฝากหรือลงทุนหาผลตอบแทนในแพลตฟอร์มกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล ในต่างประเทศ ผ่านทาง Zipmex global ที่สิงคโปร์ โดยนำไปลงทุนหรือฝากไว้ที่บาเบลไฟแนนซ์ (Barbel Finance) ผู้ให้บริการฝาก-กู้คริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ในฮ่องกงมูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) อีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมมูลค่า 53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1,800 ล้านบาท

และกิจการทั้ง 2 แห่งนี้ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดย Celsius ได้ยื่นขอล้มละลายและระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.65 ขณะที่ Babel ได้ระงับการถอนเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 ส่งผลให้ซิปเม็กซ์ต้องระงับไม่ให้ลูกค้าถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในโปรแกรม ZipUp+ ออกมา

นำไปสู่การรวมตัวกันของ Zipsters เรียกร้องให้ทางการช่วยเหลือ ตั้งแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กดดันให้ซิปเม็กซ์คืนเหรียญหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลูกค้าฝากไว้โดยเร็วที่สุด

เบื้องต้นพบว่า มีผู้ใช้บริการออมและฝากเหรียญกับ ZipUp+ มากกว่า 61,000 ราย ความเสียหายเบื้องต้นที่ 1,800 ล้านบาท หรืออาจมากกว่านี้

คำถามต่อไปคือ ผู้ประสบภัยมีโอกาสจะได้เหรียญคืนมากน้อยแค่ไหน หน่วยงานกำกับดูแลดำเนินการอย่างไรได้บ้าง และชะตากรรมของซิปเม็กซ์ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

“ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” จะร่ายเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งชี้ให้เห็นช่องโหว่และปมปัญหาต่างๆ เพื่อบันทึกไว้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของการลงทุนในโลกใหม่ โลกการเงินที่ไร้พรมแดนและเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงมากมาย...!!

*********

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “ซิปเม็กซ์” (Zipmex) แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่โฆษณาว่าเป็นที่เดียวในเอเชียแปซิฟิก ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐถึง 4 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สำหรับบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) มีนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 3 ก.ค.63 และใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล วันที่ 4 ต.ค.64

ซิปเม็กซ์ มีบริการ Trade wallet ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินสำหรับเก็บเหรียญของลูกค้าหรือนักลงทุนที่เน้นเทรดหรือซื้อๆขายๆเป็นหลัก แต่ลูกค้าที่ไม่ใช่สายเทรด แต่ต้องการออมหรือเก็บเหรียญไว้เพื่อถือลงทุนระยะยาว จะมีบริการกระเป๋า Z wallet ที่แยกออกมา โดยซิปเม็กซ์ ได้เชิญชวนให้ลูกค้าเก็บออมโดยฝากเหรียญเพื่อรับผลตอบแทนหรือโบนัสจากซิปเม็กซ์ ซึ่งก็คือโปรแกรม ZipUp ที่มีการคำนวณจ่ายโบนัสให้ลูกค้าทุกวันจากยอดคงเหลือของเหรียญคริปโต ได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์แตกต่างกันในแต่ละเหรียญ

ประเด็นปัญหาอยู่ที่ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย นำสินทรัพย์ของลูกค้าออกไปฝากหรือลงทุนในต่างประเทศ จนนำมาสู่ความเสียหายครั้งนี้ได้อย่างไร ทั้งที่ตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 กำหนดไว้ชัดเจนว่าในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ แล้วมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”

ZipUp+ ไม่ทำตามกฎหมาย

เรื่องนี้ได้รับความกระจ่างว่า ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.เคยเรียกบริษัทมาชี้แจงถึงบริการ ZipUp ที่มีผลตอบแทนให้ลูกค้า ซึ่งบริษัทชี้แจงว่า ผลตอบแทนที่ให้ลูกค้ามาจากงบการตลาด ถือเป็นมาร์เกตติ้งแคมเปญ จูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการ ยืนยันไม่มีการนำเหรียญหรือสินทรัพย์ที่ลูกค้าฝากไว้ไปหาดอกผล

เอกลาภ ยิ้มวิไล
เอกลาภ ยิ้มวิไล

แต่เมื่อเกิดปัญหาหนองแตก จึงพบความจริงที่ว่า ซิปเม็กซ์ได้ยกเลิกบริการ ZipUp ไปตั้งแต่เดือน เม.ย.65 ที่ผ่านมา และได้นำโปรแกรม ZipUp+ มาให้บริการลูกค้าแทน โดยที่ ก.ล.ต.ไม่ได้ล่วงรู้มาก่อน โดย “เอกลาภ” อธิบายว่า ZipUp+ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าในประเทศไทย นำเหรียญฝากไปที่ Zipmex global สิงคโปร์ และ Zipmex global นำไปฝากลงทุนกับคู่ค้าซึ่งก็คือ Babel Finance และ Celsius จนเกิดความเสียหาย

ตรงนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า “เอกลาภ” นั้น มีแบ็กกราวด์เป็นนักกฎหมายระดับ ดร. น่าจะเข้าใจกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยเป็นอย่างดี ว่าไม่อนุญาตให้ศูนย์ซื้อขายฯ ดำเนินการในลักษณะนี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่ซิปเม็กซ์ออกมาชี้แจงว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบแล้วว่า ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย จะยกเลิกบริการ ZipUp หากต้องการจะใช้บริการต่อ ซึ่งคือ ZipUp+ ต้องสมัครใช้บริการและยินยอมโอนสินทรัพย์ไปยัง Zipmex Singapore และต้องยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ รวมทั้งยินยอมให้ Zipmex Singapore นำสินทรัพย์ของลูกค้าไปฝากต่อ โดยลูกค้ามีสิทธิเลือกว่าจะใช้บริการ ZipUp+ กับ Zipmex Singapore หรือไม่ก็ได้!!!


โวยมัดมือชก-ทำให้หลงเชื่อ

ในฝั่งของนักลงทุน ลูกค้าผู้เสียหายนั้น ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เพิ่งรู้ว่าเหรียญที่ฝากไว้ใน ZipUp+ ได้ถูกนำออกไปฝากหรือลงทุนต่างประเทศทั้งใน Babel และ Celsius และขั้นตอนการให้ “กด” อนุญาต เพื่อโอนเหรียญไปใช้บริการ ZipUp+ นั้น เหมือน “มัดมือชก” เพราะหากไม่กดยอมรับ ก็จะทำรายการต่อไม่ได้ ทำให้ผู้ใช้บริการ ZipUp เกือบทุกบัญชีกดไปต่อกับ ZipUp+

นอกจากนั้น การให้กดยินยอมใช้บริการ ZipUp+ ยังไม่ได้ระบุข้อมูลว่าจะนำสินทรัพย์ไปฝากหรือลงทุนที่ใดและไม่ได้บอกถึงระดับความเสี่ยงที่ชัดเจน แถมเนื้อหาคำอธิบายยังเป็นภาษาอังกฤษ เข้าใจยาก

ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ยังอ้างถึงใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการเป็นกระดานซื้อ-ขายและฝากออมที่ถูกต้องตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลของไทย หวังเป็นเครื่องการันตีความเชื่อมั่น นี่คือเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้เสียหาย

ตรงนี้ จึงเกิดประเด็นที่ตามมาว่า นอกจากพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมายดิจิทัลแล้ว การดำเนินการของซิปเม็กซ์ ประเทศไทย อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาอื่นๆอีกหรือไม่!??? ทั้งฉ้อโกง หลอกลวง การชี้ชวนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ผนึกกำลังร่วมกับดีเอสไอ ตำรวจเศรษฐกิจและ ตำรวจไซเบอร์เร่งดำเนินการในเรื่องนี้อยู่

ขณะเดียวกันในส่วนของ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย แม้กำลังพยายามแก้ไขปัญหา ทั้งการหากลุ่มผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่จะใส่เม็ดเงินเข้ามา เพื่อเยียวยาความเสียหายให้ลูกค้า ซึ่งบริษัทแจ้งว่าได้กลุ่มทุนใหม่แล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (ดิว ดิลิเจนซ์) คาดว่าทุนใหม่อาจมีเงินทุนเข้ามาราว 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับความเสียหายของลูกค้า

รวมทั้งมีการเจรจากับ Babel Finance และ Celsius รวมไปถึงการจะฟ้องศาลเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินทั้งจาก Zipmex สิงคโปร์ Babel Finance และ Celsius (ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานและโอกาสได้คืนอาจน้อยมาก) แต่ภายหลัง “เอกลาภ” ออกมาแก้ข่าวว่า ไม่ได้มีการฟ้อง Zipmex สิงคโปร์

โดยล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Babel ได้นำเงินที่ลูกค้าฝากไว้ไปลงทุน มีความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

ขยี้ซ้ำ Zipmex สิงคโปร์ขอพักหนี้

กระนั้นล่าสุด เรื่องราวบานปลาย เมื่อ Zipmex สิงคโปร์ ได้ยื่นศาล “ขอพักชำระหนี้” (Moratorium relief) ชั่วคราวตามมาตรา 64 ตามกฎหมายล้มละลายของสิงคโปร์ ไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค.65 หลัง ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ประกาศระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าเพียง 2 วันเท่านั้น แต่เรื่องนี้เงียบกริบ ไม่มี การแจ้งข่าวใดๆ ต่อนักลงทุนและลูกค้า

ความมาแตกเมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ในเย็นวันที่ 28 ก.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่ศาลกำหนดเดดไลน์วันสุดท้าย ที่ให้เจ้าหนี้ลงทะเบียนผ่านอีเมล เพื่อร่วมเข้าฟังกระบวนการรอบแรก ในวันที่ 29 ก.ค.65 ก.ล.ต.จึงออกคำสั่งทันทีในเย็นวันนั้น ให้ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งให้ติดต่อลูกค้าซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าหนี้ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิเข้าฟังกระบวนการตามศาลสิงคโปร์ ในวันที่ 29 ก.ค.65 ได้ทัน!!

สิ่งที่เกิดขึ้นมีคำถามว่า เหตุใด ซิปเม็กซ์ ถึงไม่แจ้งหรือรายงานเรื่องสำคัญนี้ ต่อ ก.ล.ต.หรือลูกค้าเพราะ Zipmex สิงคโปร์ ยื่นศาลตั้งแต่ 22 ก.ค.65 ทั้งที่ “เอกลาภ” พยายามออกมา Live สดแจ้งความคืบหน้า เรียกความเชื่อมั่นและพร่ำบอกถึงความโปร่งใส ความทุ่มเทเพื่อนำทรัพย์สินมาคืนลูกค้า  

โดยชี้แจงว่า การยื่นขอพักชำระหนี้ เป็นการดำเนินการของ Zipmex Asia Pte. Ltd (บริษัทแม่ของซิปเม็กซ์ซึ่งดำเนินการในสิงคโปร์) และ Zipmex Pte. Ltd. (บริษัทในเครือของซิปเม็กซ์ในสิงคโปร์) เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายสิงคโปร์ และไม่มีผลกระทบทางกฎหมายกับซิปเม็กซ์ ไทย อินโดนีเซียและออสเตรเลีย

จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การที่ Zipmex สิงคโปร์ ทั้งบริษัทแม่และลูกได้ยื่นขอพักชำระหนี้ นั่นหมายถึงว่าเหรียญหรือสินทรัพย์ของลูกค้าใน ZipUp+ ที่ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย พยายามยืนยันว่าลูกค้ายินยอมให้โอนไป Zipmex สิงคโปร์เอง จากการกดรับบริการ ZipUp+ นั้น จะถูกพักการชำระหนี้ด้วยหรือไม่ และลูกค้า ZipUp+ อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าหนี้ Zipmex สิงคโปร์ ด้วยหรือไม่ หรือซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ได้ไปใช้สิทธิ์การเป็นเจ้าหนี้แทนลูกค้า ที่ตนเองโฆษณาเชิญชวนให้ไปใช้บริการออมฝาก ZipUp+ หรือไม่

เร่งก.ล.ต.รวมหลักฐานเอาผิด

นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังมีประเด็น ข้อสงสัยอีกมากมาย ที่ต้องการความชัดเจนจากซิปเม็กซ์ เช่น Celsius ได้ระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.65 ขณะที่ Babel ได้ระงับการถอนเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 แต่ซิปเม็กซ์ยังคงชวนให้คนไทยฝากออมเหรียญ เข้าโปรแกรม ZipUp+อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร เหรียญของ ลูกค้าที่โอนเข้าไปหลังวันที่ 13 มิ.ย.และ 17 มิ.ย. เอาไปฝากหรือเก็บไว้ที่ไหน

นอกจากนี้สินทรัพย์ของลูกค้าที่ใช้บริการ zipup+ จำนวนกว่า 61,000 รายนี้ มีมูลค่ารวมเท่าไร และนำไปฝาก-ลงทุนที่ไหนบ้าง นอกจากที่เอาไปฝากไว้ใน Celsius และ Babel สินทรัพย์ส่วนนี้ยังอยู่ดีหรือเกิดความเสียหายไปด้วย

จนถึงวันนี้ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ยังไม่เคยออกมาให้ข้อมูลหรือชี้แจงความโปร่งใสเหล่านี้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบรรเทาความเสียหายให้กับลูกค้า อย่างเช่นที่สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยได้เรียกร้องให้ซิปเม็กซ์เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น เพียงพอ และทันต่อเวลา โดยเฉพาะแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับรูปแบบ-จำนวน และสถานที่เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระคืนให้ลูกค้า และเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป ควรสรุปสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่เสียหายและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่คงเหลืออยู่ว่ามีสัดส่วนเท่าใด เพื่อให้ลูกค้าสามารถถอนสินทรัพย์ออกมา เพราะนี่จะเป็นการแสดงถึงเจตนาที่จะบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่นักลงทุน อย่างแท้จริง

สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ยังได้เรียกร้องให้ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อป้องกันมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือถูกทำลายไป เนื่องจากพยาน หลักฐานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทำลายได้ง่าย ขณะที่ผู้เสียหายเองก็ต้องรวบรวมเช่นกัน

บทเรียนสอนใจนักลงทุน

ชะตากรรมของ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องต้องติดตามต่อ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำให้วงการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องสั่นคลอน

และหน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต.ก็ยังต้องไล่ต้องตามอุดรูโหว่ อุดช่องว่างกฎหมาย และตามติดโจรในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลให้เท่าทัน ซึ่งไม่ง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่ของคนทั้งโลก แม้จะมีบทเรียนความล่มสลายที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุ “ซิปเม็กซ์” มาแล้วหลายเหตุการณ์ในต่างประเทศก็ตาม

ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ออกประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกำกับควบคุมความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจและนักลงทุน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ล้าหลังและสกัดการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ก.ล.ต.มีภารกิจที่ต้องทำอีกหนักหน่วง และการออกกฎเกณฑ์ควบคุมน่าจะยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปกป้องคุ้มครองนักลงทุนและสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ

ขณะนักลงทุนไม่เพียงแค่ลูกค้าของซิปเม็กซ์ ก็ควรต้องได้เรียนรู้จากบทเรียนนี้ เพราะเงินในกระเป๋าของเราจะนำไปให้ใครลงทุนต้องศึกษาหาข้อมูลมากกว่าที่จะฟังจากโฆษณาชวนเชื่อ

ที่สำคัญหากหวังรวยกับโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นรอบด้าน ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงจากแค่ราคาขึ้น—ลงเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงและโลกการลงทุนแบบเก่าไม่อาจคาดเดาได้.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ