อย่างที่เราทราบกันว่า จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับที่สูงกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนเรียกเศรษฐกิจจีนว่าเป็นการเติบโตอันแสนมหัศจรรย์ และส่งผลทำให้ตลาดทุนของประเทศจีนมีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปเป็นจำนวนมาก
แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศจีนเกิดปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งจากนโยบายของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้นำมาใช้ก็คือ โควิดเป็นศูนย์ ทำให้ภาคการผลิตชะงัก เกิดมาตรการปราบปรามภาคธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ไอที ไปจนถึงการศึกษา
นอกจากนี้ยังรวมถึงภาคส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตมาเป็นระยะเวลานาน นั่นก็คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลหลายแห่งประเมินว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจใหญ่ได้ 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของขนาดเศรษฐกิจจีน ก็ยังโดนรัฐบาลจัดระเบียบไปด้วย ส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมา (แม้ว่ารัฐบาลจีนไม่อยากให้เกิดก็ตาม)
ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า ปัจจัยทั้ง 3 เรื่องที่อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญ และต้องจับตามองว่าวิกฤติเหล่านี้จะลุกลามจนทำให้จีนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้หรือไม่
ธนาคารจีนเบี้ยวไม่ให้ถอนเงิน
วิกฤติเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนจะลามกลายเป็นวิกฤติจนถึงทุกวันนี้ ก็คือธนาคารในมณฑลเหอหนาน 6 แห่ง ไม่สามารถให้ลูกค้าของธนาคารสามารถถอนเงินออกมาได้ ทำให้ประชาชนแสดงความไม่พอใจ และถึงขั้นจัดตั้งเป็นม็อบย่อยๆ เพื่อที่จะเรียกร้องว่าพวกเขาเป็นเจ้าของบัญชี และพวกเขาควรจะได้ถอนเงินออกมา (แน่นอนว่าเราจะไม่เคยเห็นภาพนี้ในประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมาด้วยซ้ำ)
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการในจีนรายหนึ่งมีนามสมมติว่าปีเตอร์ โดยเขานั้นได้ฝากเงินสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในธนาคารเหล่านี้ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาเองยังไม่สามารถที่จะถอนเงินออกมาได้
ปกติแล้วธนาคารท้องถิ่นมักได้รับอนุญาตให้รับฝากเงินจากลูกค้าในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น อย่างไรก็ดี ธนาคารหลายแห่งมักจะอาศัยช่องโหว่ในการดึงเงินจากลูกค้าที่อยู่นอกพื้นที่ให้นำเงินเข้ามาฝาก เช่น การชักชวนให้ลงทุนโดยให้ดอกเบี้ยสูงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้หลายคนเองนำเงินมาฝากในธนาคารท้องถิ่นห่างไกลเหล่านี้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง แน่นอนว่ากรณีของปีเตอร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีนต้องการระดมเงินฝาก เพื่อที่จะนำมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในท้องถิ่นที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่า ซึ่งหนึ่งในธุรกิจท้องถิ่นที่มากู้เงินจากธนาคารท้องถิ่นเหล่านี้นั่นก็คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง นอกจากนี้ปัญหาใหญ่ของธนาคารท้องถิ่นจีนนั้นยังมีเรื่องของการบริหารงานที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง การปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่มีความเสี่ยงด้านการเงินสูง หรือแม้แต่การปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นนั้น ส่งผลทำให้เงินฝากของประชาชนเหล่านี้เกิดความเสี่ยงทันที
นิตยสารภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนอย่าง Sanlian Lifeweek เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนว่า ผู้เสียหายจากวิกฤติจากธนาคารจีนเบี้ยวไม่ให้ถอนเงินอาจมีอยู่ถึง 4 แสนคนเลยทีเดียว แม้ว่าทางการจีนจะพยายามให้ประชาชนเหล่านี้ถอนเงินออกมาได้ไม่เกิน 5 แสนหยวน และทำเรื่องมายังธนาคารเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ลดความเกรี้ยวกราดของประชาชนได้อยู่ดี
วิกฤติประชาชนเริ่มหยุดผ่อนบ้าน
ไม่ใช่แค่กรณีธนาคารเบี้ยวไม่ให้ประชาชนถอนเงินออกเท่านั้น แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่สร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลจีนคือ เรื่องของการเบี้ยวของประชาชนบางส่วนที่เริ่มหยุดผ่อนบ้าน ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ระบุว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มหยุดจ่ายค่าผ่อนบ้านมากกว่า 100 โครงการตามเมืองต่างๆ มากกว่า 50 เมืองทั่วจีน โดยคาดว่ามูลค่าสินเชื่อบ้านที่ประชาชนหยุดจ่ายนั้นสูงถึง 2 ล้านล้านหยวน จากปริมาณสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนใหญ่ถึง 46 ล้านล้านหยวน
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลจีนได้เข้ามาปราบปรามและจัดระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา ส่งผลทำให้บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนไม่สามารถที่จะระดมทุนนำมาใช้เป็นค่าก่อสร้างให้โครงการแล้วเสร็จได้ ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนหลายรายยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ส่งผลทำให้ประชาชนที่ควรจะได้อสังหาริมทรัพย์เองนั้นกลับได้ห้องหรือบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ประชาชนเหล่านี้กลับยังต้องผ่อนอสังหาริมทรัพย์ไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ผลกระทบของปัญหานี้ก็คือ ซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ ไปจนถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างนั้นอาจไม่ได้รับเงินจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้โครงการเหล่านี้ประสบปัญหาสร้างไม่เสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นเราจะเห็นว่าเป็นปัญหางูกินหางทันที นอกจากนี้ยังมีวิกฤติซ้อนในวิกฤตินี้นั่นก็คือ ผลจากการเข้ามาจัดระเบียบของรัฐบาลจีนทำให้ราคาอสังหาในประเทศจีนมีราคาลดต่ำลง และมีประชาชนชาวจีนบางส่วนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เก็งกำไร ก็ไม่อยากจ่ายค่าผ่อนบ้านอีกต่อไป
ตัวเลขที่ตอบโจทย์ปัญหานี้ได้ก็คือ ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรกของปี 2022 ลดลงมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา
แม้ว่าทางการจีนจะให้ความช่วยเหลือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จแบบจริงๆ และทำให้ประชาชนเข้าอาศัยได้ แต่ปัญหาดังกล่าวกลับยังมีท่าทีที่ยังไม่จบลง
วิกฤติ Evergrande กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง
หลังจากเรื่องราวของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่างเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) กับหนี้มหึมากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 11 ล้านล้านบาท ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่า วิกฤติของบริษัทที่หนี้มหาศาลรายนี้กำลังอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีนนั้นถึงขั้นหายนะได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก บริษัทเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนต่างชาติไปเป็นหลักพันล้านดอลลาร์
แม้ว่าทางการจีนจะมีความพยายามแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องโดยให้ซัพพลายเออร์ของบริษัทอสังหาฯ รายนี้ได้รับเงินจากการพัฒนาโครงการผ่านสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มากไปกว่านี้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม (คุ้นๆ เหมือนหัวข้อที่แล้วไหมครับ)
ล่าสุดทางบริษัทได้แจ้งว่า บริษัทได้พบความไม่ชอบมาพากลของเงินกู้ค้ำประกันของ Evergrande Property Services ซึ่งเป็นบริษัทลูกมูลค่า 1.34 หมื่นล้านหยวน เป็นหลักประกันสำหรับบุคคลภายนอกในการขอสินเชื่อธนาคาร ผู้กู้ยืมบางรายไม่สามารถชำระหนี้คืนให้กับธนาคารได้นั้น กลับมีการยักย้ายถ่ายเทเงินก้อนดังกล่าวกลับไปที่ เอเวอร์แกรนด์ บริษัทแม่
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Xia Haijun ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท และ Pan Darong ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือซีเอฟโอ (CFO) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ประกาศรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
เรื่องฉาวดังกล่าวนี้ยังทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองบริษัทนี้อีกครั้ง เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์มีเส้นตายนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงปลายกรกฎาคมนี้
3 เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ช่วงเวลาของครึ่งปีหลังของปี 2022 เราอาจต้องจับตามองว่า รัฐบาลจีนจะแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างไร เพราะ 3 ปัญหานี้ผูกติดกันอย่างแยกไม่ออก ถ้าหากแก้ปัญหาแบบขอไปที หรือแก้ปัญหาผิดวิธีแล้ว ผลกระทบอาจทำให้เศรษฐกิจจีนล้มได้เลยทีเดียว.