เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้แวะไปหาดใหญ่แบบวันเดย์ทริป บินเช้ากลับบ่าย ซึ่งช่วงที่ไปยังไม่มีการเปิดประเทศ และที่สำคัญเป็นช่วงที่โควิดยังระบาดหนักอยู่
แน่นอนว่า ตลาดกิมหยง คือ จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะแวะไปซื้อของก่อนจะกลับกรุงเทพฯ เราเองก็เช่นกัน แต่สถานการณ์ในวันนั้นแตกต่างกันมาก แต่เดิมตลาดกิมหยงจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาเลือกซื้อสินค้าขนม ของกินของใช้ที่มาจากต่างประเทศในราคาย่อมเยา แต่วันนั้นที่เราไปเยือนหลายๆ ร้านก็ปิดให้บริการ และแปะป้ายว่าขายออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ในขณะที่บางร้านที่ยังเปิดขายอยู่ต่างก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ขายไม่ดีเหมือนเดิม และมีการปรับเปลี่ยนจากขายออฟไลน์ไปขายออนไลน์บ้าง แต่ก็ไมใช่ว่าทั้งหมดจะประสบความสำเร็จ เพราะร้านออนไลน์ก็เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าเหมือนกันเต็มไปหมด เราจำได้ว่าหาดใหญ่ในวันนั้น "เงียบเหงาเหลือเกิน"
กลับมาที่ปัจจุบัน ทันทีที่เท้าแตะสนามบินหาดใหญ่ เรารับรู้ได้ทันที่ว่าการเดินทางของผู้คนกำลังเริ่มต้นขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวคนไทย และคนต่างชาติ รวมไปถึงคนที่ต้องการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดในภาคใต้ได้มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ แตกต่างจากปีที่แล้ว ที่เราแทบจะนับคนที่อยู่ในสนามบินได้เลย
เมื่อขึ้นรถ บนสนทนาระหว่งเรา และคนขับรถตู้ จึงได้เริ่มต้นขึ้น คนขับบอกกับเราว่าตั้งแต่ชายแดนไทยและมาเลเซียเปิดให้เดินทางไปมาหาสู่กัน ความคึกคักในจังหวัดสงขลาก็เริ่มต้นขึ้น แม้จะไม่กลับมาเต็มร้อยเหมือนก่อนโควิดระบาด แต่นี่ถือเป็นสัญญาณที่ดี
"ถ้าพี่เห็นรถทัวร์ขับไปขับมาในเมือง ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซีย สิงคโปร์นะ ส่วนคนไทยก็มีมาเที่ยวเหมือนกัน ถ้าที่หาดใหญ่เขาจะชอบมาทานของอร่อยๆ ติ่มซำ บักกุ๊ดเต๋ คาเฟ่ร้านกาแฟ มาเดินสตรีทอาร์ต หรือแวะนอนที่นี่ก่อนหนึ่งคืนแล้วค่อยไปต่อที่เกาะหลีเป๊ะ" นี่คือคำบอกเล่าของโชเฟอร์มือวางอันดับหนึ่งของหาดใหญ่
คนขับรถตู้คนเดิมจึงพาเราไปยังสตรีทอาร์ตในเมืองหาดใหญ่ ชี้ให้ดูร้านอาหารที่ไม่ควรพลาด เช่น ติ่มซำที่คนหาดใหญ่ชื่นชอบ ร้านไก่ทอดหาดใหญ่แบบลับๆ ซึ่งเราก็จำไม่ได้ต้องขออภัยด้วย แต่ถ้าอยากชิมอาหารต้นฉบับบคนหาดใหญ่จริงๆ ก็แนะนำให้ถามคนในท้องถิ่นจะดีที่สุด
เที่ยวหาดใหญ่แบบคนมาเลเซีย
การมาหาดใหญ่รอบนี้ของเราก็คงเหมือนเดิม คือ เร็ว รีบ ล่ก แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และคนทั่วๆ ไปจะคิดว่าเราเป็นคนมาเลเซีย ทุกคนต่างทักทายเราเป็นภาษาจีนเกือบหมด จนเราต้องพูดว่า "สวัสดีค่า คนไทยนะคะ"
ช่วงเย็นๆ จึงไปเดินเล่นที่ถนนคนเดินกว่า 60% เราพบว่าเป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามที่พี่โชเฟอร์บอกจริงๆ และที่ถนนคนเดินนี้เมนูอาหารหลากหลายประเภทที่มีทั้งไทย จีน และอาหารฮาลาล มีให้เลือกซื้อเต็มไปหมด
เดินไปเดินมาจึงแวะไปที่ "ตลาดกิมหยง" เพื่อกลับไปดูว่าตลาดยังคึกคักเหมือนเดิมไหม แน่นอนว่า เป็นไปอย่างที่คิดไว้ นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติเดินเล่นอยู่ในตลาด ส่วนของฝากที่คนมาเลย์ชื่นชอบมากที่สุดคือ เซียงเพียวอิ๊ว ยาหม่อง และแป้งตรางู เป็นต้น
ก่อนเราจะเดินออกจากตลาด เราแวะไปชิมไก่ทอดหาดใหญ่ เจ้าประจำที่ต้องมากินทุกครั้งที่ได้มาที่นี่ เรียกได้ว่ามาถึงหาดใหญ่แล้วแน่นอน
จากนั้นก็เดินไปทานข้าวเย็น ร้านอ้า ร้านดีเด็ดที่ใครๆ ก็ต้องมาชิม ปรากฏว่าร้านนี้มีคนจีนเชื้อสายมาเลย์นั่งรับประทานอาหารเกือบเต็มร้าน ซึ่งเมนูที่เราอยากแนะนำคือ "ยำหมูกรอบ" ใครมีโอกาสไปหาดใหญ่ แนะนำว่าให้แวะไปลองชิมดู
เช้าวันรุ่งขึ้นตัดสินใจเดินกลับไปตลาดกิมหยงอีกครั้งเพื่อใส่บาตรยามเช้า แน่นอนว่า เราเจอนักท่องเที่ยวมาเลย์เชื้อสายจีนยืนใส่บาตรพระสงฆ์กันเป็นหมู่คณะ และความพิเศษของที่นี่ เราจะเห็นพระสงฆ์จีนนิกาย จากวัดฉื่อฉางเดินบิณฑบาตด้วย
นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเดินไปยัง "วัดฉื่อฉาง" เพื่อชมความงดงามของวัด ดูไปดูมาความรู้สึกของเราเหมือนไม่ได้เดินอยู่ในประเทศไทย ถ้าใครไปหาดใหญ่ แนะนำให้ลองเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์ภายในวัดที่ประดิษฐาน ซําป้อฮุกโจ้ว หรือ พระพุทธเจ้าสามพระองค์ พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าอีกหลายๆ องค์ในความเชื่อของนิกายมหายาน
สิ่งแรกที่เราสัมผัสและชื่นชอบของวัดฉื่อฉาง คือ ความสงบ แม้วัดจะอยู่ติดกับถนนก็ตาม แต่เมื่อเข้ามาในวัด เรารู้สึกสงบ ถ้าใครอยากมาทำสมาธิ หรือกราบขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แนะนำเลยว่า สายมู ห้ามพลาดเด็ดขาด
เตรียมดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ มาที่สงขลา
สมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เล่าให้ฟังว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่เดินทางมาเที่ยวสงขลาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ นักท่องเที่ยวแบบครอบครัว นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ ซึ่งลักษณะการเดินทางท่องเที่ยวก็จะแตกต่างกัน
เช่น ถ้ามาเป็นครอบครัว ก็จะพากันไปสวนสัตว์สงขลา ไปชายทะเล และ สิงหนคร ส่วนนักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาวก็จะชื่นชอบกิน ดื่ม ปาร์ตี้ หรือ คาเฟ่ต่างๆ และสุดท้ายคือ นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เน้นไหว้พระทำบุญ หรือที่เรียกว่าสายมู ก็จะไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมที่เขาคอหงส์ หรือที่วัดฉือฉาง เป็นต้น
หลังจากท่องเที่ยวเสร็จแล้ว พวกเขาก็จะไปต่อกันที่ตลาดกิมหยงเพื่อซื้อของฝากกลับประเทศ สินค้ายอดนิยมในดวงใจของนักท่องเที่ยวมาเลย์ ก็ได้แก่ ยาหม่องน้ำเซียงเพียวอิ๊ว แป้งตรางู ยาสีฟันเทพไท ซึ่งเหล่านี้คือ local product ที่นักท่องเที่ยวเคยใช้มาแล้วติดใจก็กลับมาซื้อซ้ำอีก นอกจากนี้ ยังมีพวกของทะเลแห้ง ก็เช่น ปลาหมึก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม รวมไปถึงเม็ดมะม่วงหิมพานต์อีกด้วย
นับตั้งแต่ไทยและมาเลเซียเปิดพรมแดนระหว่างประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น เราพบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก จากตัวเลขของ ตม. เราพบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางในเดือน พ.ค.ประมาณ 40,000 คน เดือน มิ.ย. อยู่ที่ประมาณ 60,000 คน
โดยเดือน ก.ค. ก็คาดว่าน่าจะแตะหลักแสน พวกเราพยายามผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในสงขลาให้มากขึ้น เพราะก่อนเกิดโควิดเรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 100,000 คนต่อเดือน
"กลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งโจทย์ที่เราต้องคิดต่อ คือ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และกลุ่มใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา มีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการชั่วคราว แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลากลับมาให้บริการนักท่องเที่ยวตามปกติแล้วประมาณ 90%
สำหรับเป้าหมายต่อไปที่เราต้องเร่งพัฒนาให้เร็วที่สุด คือ การดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เช่น นักท่องเที่ยวคนไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา นักท่องเที่ยวจากยุโรป ที่เดินทางเชื่อมต่อจากเกาะสมุย พงัน กระบี่ ให้เข้ามาในสงขลาให้มากขึ้น
พลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคใต้
ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวกำลังฟื้นแม้จะมีโควิดก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวแบบใหม่เกิดขึ้นหลังโควิดเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเราทบทวนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม เปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ปัจจุบัน ภาคใต้ถือเป็นแห่งแรกที่มีการนำร่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นำโดย ภูเก็ต และ สมุย แต่เดิมเราพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า พอปิดประเทศก็ได้รับผลกระทบในทันที แต่ยังดีที่เราได้นักท่องเที่ยวในประเทศมาท่องเที่ยวกันเอง ก็พอจะชดเชยได้พอสมควร
"ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยมักจะมองว่า สมุย ภูเก็ต และกระบี่ ต้องมีเงินมากสมควรถึงจะเที่ยวได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าแพง แต่ช่วงโควิดก็ทำให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่เลย"
ภัทรอนงค์ กล่าวอีกว่า เรามองว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำ หรือทำให้เกิดการเดินทางซ้ำอีก แต่เดิมนักท่องเที่ยวไทยที่เข้ามาเที่ยวในโซนภาคใต้ เป็นคนใต้ด้วยกันเองกว่า 90% และนี่คือโจทย์สำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวภาคใต้แมสมากขึ้น
เรามองว่าสิ่งที่ควรโฟกัสก่อนเลย คือ ทำให้การเดินทางมาภาคใต้ง่ายขึ้น อย่างที่เห็นปัจจุบันเรามีหลายสายการบินเข้าหาดใหญ่แล้ว 7 สายการบินด้วยกัน รวมถึงเชื่อมโยงไปจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ นี่ถือเป็นการเพิ่มให้นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ เดินทางมาใต้ได้ง่ายขึ้น
โจทย์ต่อมาก็คือ เราจะพลิกฟื้นอุตสหากรรมการท่องเที่ยวภาคใต้ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และต้องไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนเดิม เช่น การพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป เราจึงมองว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การเปลี่ยนให้ผู้คนประทับใจ ได้ความหมายดีๆ จากการท่องเที่ยวภาคใต้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
"สิ่งที่เราต้องเร่งทำ คือ 1. การสร้างรายได้ให้กับอุตสหากรรมการท่องเที่ยวภาคใต้ 2. เพิ่มความถี่ในการเดินทางของนักท่องเที่ยว และ 3. ท่องเที่ยวแบบบยั่งยืน ทั้งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผสมผสานกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และจุดที่สำคัญ คือ อาหารการกิน รวมถึงการสร้างอีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง ดึงให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศข้ามไปมาระหว่างจังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้นั่นเอง"
ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun