OTT สร้างการแข่งขันไม่เป็นธรรม กสทช.รับไม่มีอำนาจคุม-เร่งหาทางแก้!

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

OTT สร้างการแข่งขันไม่เป็นธรรม กสทช.รับไม่มีอำนาจคุม-เร่งหาทางแก้!

Date Time: 29 ก.ค. 2565 07:24 น.

Summary

  • บอร์ด กสทช.รับทราบปัญหาผู้ให้บริการ OTT เกาะกินโครงข่ายมือถือ สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ยอมรับอำนาจในมือมีไม่ถึง แต่จะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาทางแก้ปัญหา

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ


บอร์ด กสทช.รับทราบปัญหาผู้ให้บริการ OTT เกาะกินโครงข่ายมือถือ สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ยอมรับอำนาจในมือมีไม่ถึง แต่จะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาทางแก้ปัญหา

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ตระหนักถึงปัญหาความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยเฉพาะต่อกรณีที่ผู้ให้บริการแบบ OTT (Over the Top) โดยเฉพาะแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ซึ่งให้บริการและประกอบธุรกิจอยู่บนโครงข่ายมือถือ เมื่อลูกค้ามีการใช้งานเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภาระให้กับผู้ให้บริการมือถือที่ต้องลงทุนขยายสัญญาณเพิ่มเติมรองรับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กสทช.สามารถกำกับดูแลได้เฉพาะบริการที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อปี 2563 ระบุผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่ที่ครองตลาดผู้ชมในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ YouTube, Netflix, LINE TV, JOOK, Spotify, Viu, TrueID, AIS Play, WeTV และ SoundCloud โดย 8 ใน 10 ราย เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ

ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะไอพีทีวี (IpTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับบริการ OTT ไม่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งรวมทั้งเรื่องของเนื้อหารายการด้วย

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวอีกว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์เช่นกัน ในฐานะอยู่ใต้กำกับดูแลของ กสทช.ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่ถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบใดๆ ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ค่ายมือถือก็ถูกผู้ให้บริการเหล่านี้ ใช้งานโครงข่ายโดยไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด

“บอร์ด กสทช.รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น เป้าหมายของเราคือการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมภายใต้อำนาจที่เรามี อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดา 3 ค่ายมือถือ ประกอบด้วย เอไอเอส ทรู และดีแทค ได้พยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจาก 3 ค่ายมือถือมีภาระในการลงทุนพัฒนาขยายโครงข่ายแต่ละปีเป็นเงินจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างปี 2565 เอไอเอสกำหนดวงเงินลงทุนโครงข่ายที่ระดับ 30,000-35,000 ล้านบาท เนื่องจากมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดเพื่อรองรับการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม OTT ที่เป็นที่นิยมของคนไทย

ขณะที่ราคาค่าอินเตอร์เน็ตบนมือถือถูกตั้งเพดานราคาสูงสุด และกำกับดูแลจาก กสทช. รวมทั้งยังมีภาระค่าประมูลคลื่นความถี่แต่ละครั้งในมูลค่ามหาศาล ทำให้ธุรกิจมือถือใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย 2-3% ต่อปี โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการทรู คอร์ปอเรชั่น ย้ำในงานแถลงข่าวหลายครั้งในระยะหลังๆว่า ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังอยู่ในช่วงขาลง ผู้ประกอบการจึงต้องหาการเติบโตใหม่ๆ โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อสามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่กำลังบุกตลาดประเทศไทยอยู่ นำไปสู่ทางออกคือการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในที่สุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ