จากฟู้ด เดลิเวอรี่ สู่สินเชื่อนาโน เหล่าไรเดอร์ขนานนามว่า "บัง Grab"

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จากฟู้ด เดลิเวอรี่ สู่สินเชื่อนาโน เหล่าไรเดอร์ขนานนามว่า "บัง Grab"

Date Time: 27 ก.ค. 2565 16:33 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • จาก Food Delivery พัฒนาสู่สินเชื่อนาโน ปล่อยเงินกู้คนขับ พาร์ทเนอร์ร้านค้าเข้าสู่เงินกู้ในระบบ เหล่าไรเดอร์ขนานนามเรียก "บัง Grab"

Latest


  • จาก Food Delivery พัฒนาสู่สินเชื่อนาโน ปล่อยเงินกู้คนขับ พาร์ทเนอร์ร้านค้าเข้าสู่เงินกู้ในระบบ   เหล่าไรเดอร์ขนานนามเรียก "บัง Grab"
  • ใช้ DATA ร่วมพิจารณาทำ Credit Scoring เตรียมปล่อยสินเชื่อให้พาร์ทเนอร์ร้านค้าขนาดกลาง และ SME ในวงเงินขนาดใหญ่มากขึ้น
  • เตรียมทำสินเชื่อ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later พร้อมจับมือพันธมิตรปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล

ทุกครั้งที่เราใช้บริการแกร็บ ไม่ว่าจะเป็นรับอาหาร แกร็บมาร์ท ส่งของด่วน แกร็บไบค์ แกร็บคาร์ แกร็บแท็กซี่ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูล หรือ DATA ที่แฟลตฟอร์มเก็บเอาไว้ จากนั้นผู้ให้บริการก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบโปรโมชั่น หรือการใช้บริการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มให้ตรงกับใจเรา 

แต่ในอีกมุมของผู้ให้บริการในขาของไรเดอร์ หรือเหล่าบรรดาคนขับ ร้านอาหาร และร้านค้าที่อยู่ในวงจรแฟลตฟอร์มของแกร็บก็ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ และสิทธิพิเศษต่างๆ คล้ายกับผู้ที่ได้รับบริการอย่างเราๆ เช่นกัน

หนึ่งในบริการที่ถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้าง คือ การที่แกร็บปล่อยสินเชื่อผ่านแอปฯ ซึ่งถ้าเป็นภาษาแบบทางราชการจะเรียกกันว่า "สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์" 

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย พูดติดตลกกับเราว่า ผมเคยเข้าไปดูตามกรุ๊ปของเหล่าไรเดอร์ พวกเขาเรียกเราว่า "บังแกร็บ" หากเรานึกภาพออกที่จะมีเจ้าหนี้มาเก็บหนี้รายวัน แต่ของแกร็บจะมีความแตกต่างกันตรงที่เราจะหักหนี้ก่อนโอนรายได้ให้กับไรเดอร์

สิ่งที่เราภาคภูมิใจนอกจากจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับไรเดอร์ และพาร์ทเนอร์พวกร้านค้าต่างๆ แล้ว เรายังช่วยให้พวกเขาเลิกกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงๆ มาอยู่ในระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กำหนดไว้ คือเฉลี่ยที่ 1-2% ต่อเดือน หรือ 33% ต่อปี และหากนำมาคำนวณในระยะเวลา 4 เดือนจะอยู่ที่ 11% เท่านั้น

มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจสงสัย เหล่าไรเดอร์ หรือพาร์ทเนอร์ร้านอาหารต้องกรอกเอกสารอะไรไหม ต้องตรวจเครดิตบูโรหรือเปล่า สินเชื่อแกร็บกู้ได้อย่างไร โอกาสผ่านยากหรือไม่

วรฉัตร อธิบายว่า สินเชื่อส่วนใหญ่แกร็บจะเป็นคนเสนอให้กับไรเดอร์เอง โดยใช้วงจรแห่งความสุขเปรียบเสมือนกับ Credit Scoring ในการพิจารณาสินเชื่อให้กับเหล่าไรเดอร์

ยกตัวอย่างเช่น ไรเดอร์สมศักดิ์ ได้รับคะแนนจากลูกค้า 5 คะแนนเต็มตลอด เพราะใส่ใจในบริการ สุภาพ เรียบร้อย อันนี้เรียกว่า Behavior Score นอกจากนี้ เรายังดูเรื่องความขยันในการทำงาน เช่น ทำทุกวันไหม เฉลี่ยวันละกี่ชั่วโมง รายได้เฉลี่ยต่อวันเท่าไร เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลรวมกัน จึงมีการนำเสนอเชื่อสินให้กับไรเดอร์สมศักดิ์ เป็นต้น

สำหรับจำนวนเงินในการปล่อยสินเชื่อสำหรับไรเดอร์จะเริ่มต้นที่ 5,000 บาท แต่ไรเดอร์แต่ละคนจะได้รับวงเงินไมเท่ากัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน ส่วนการหักหนี้นั้น เราหักเป็นรายวัน แต่จะไม่ให้กระทบกับรายได้ของไรเดอร์ เช่น ถ้าไรเดอร์ได้เงิน 1,000 บาท ก็จะหักหนี้แค่ประมาณ 200 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นภาระอะไรมาก ที่สำคัญระยะเวลาในการผ่อนนั้นไม่นาน เพราะเราเป็นสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

"ความน่าสนใจอย่างหนึ่ง เมื่อไรเดอร์ได้รับเงินกู้จากแกร็บ มีหลายคนเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้หนี้นอกระบบ และปัจจุบันพวกเขาเหล่านั้นก็ใช้หนี้แกร็บหมดแล้ว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบของวงจรแห่งความสุข เพราะเราพบว่าไรเดอร์แฮปปี้ในการทำงานกับแกร็บมากขึ้น"

นอกจากสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แล้วเรายังทำสินเชื่อสำหรับผ่อนสินค้า 0% เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับที่จากเหล่าไรเดอร์ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน

เมื่อคุยกันถึงตรงนี้ก็มีข้อสงสัย มีไรเดอร์ชักดาบหนีหนี้บ้างไหม วรฉัตร บอกว่า ก็มีบ้าง แต่สิ่งที่เรากังวลมากกว่าการที่ไรเดอร์จะหนีหนี้ นั่นก็คือ พี่ๆ ไรเดอร์เขาป่วยหรือเปล่า เกิดอุบัติเหตุไหม ทำไมถึงไม่วิ่งรถ เราต้องบอกก่อนไม่ใช่การทวงหนี้นะ แต่เราเป็นห่วงมากกว่า ซึ่งถ้าหากไรเดอร์ หรือคนขับเกิดอุบัติเหตุ เราก็จะรีบทำเรื่องพักหนี้ให้ทันที

อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ เราปล่อยสินเชื่อให้กับไรเดอร์ส่วนใหญ่เฉลี่ย 5,000-7,000 บาท ส่วนพาร์ทเนอร์ร้านอาหารเราให้สินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท และพวกเขาเองก็ไม่ได้อยากเบี้ยวหนี้ เพราะถือว่า Grab เป็นแหล่งรายได้นั่นเอง ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2%

วรฉัตร บอกอีกว่า นอกเหนือจากสินเชื่อที่เรามอบให้ไรเดอร์แล้ว Grab ยังมีประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ ผู้โดยสาร รวมถึงประกันที่ครอบคลุมสินค้าราคาแพงด้วย แต่หากไรเดอร์คนไหนสนใจที่จะทำเพิ่ม เราก็จับมือกับพาร์ทเนอร์บริษัทประกันภัยออกแบบประกันภัยที่เหมาะกับไรเดอร์ ที่สำคัญราคาไม่สูงมาก

นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ลิสซิ่ง และสถาบันการเงินจัดหาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งรถยนต์อีวี รถยนต์ต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ โดยเรามีแพลนทำสินเชื่อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้กับพาร์ทเนอร์ โดยเราเชื่อว่าจะช่วยให้บริษัทบรรลุการประกาศเป้าหมายระยะยาว คือ การมีพาร์ทเนอร์คนขับที่ใช้รถ EV ให้ได้ 10% ภายในปี 2569

สินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้า เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้

นอกจากการ ปล่อยกู้ไรเดอร์แล้ว แกร็บก็ปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าที่เป็นพาร์มเนอร์ด้วย ซึ่ง วรฉัตร มองว่า ช่องว่างระว่างสถาบันการเงินกับร้านอาหารมีค่อนข้างเยอะ ในช่วงโควิดที่ผ่านมาร้านอาหารถูกจัดอยู่ในเธียร์เฝ้าระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะรายได้ลดลง ส่งผลให้กระแสเงินสดมีปัญหา และมีความเสี่ยงที่จะเลิกกิจการ

แต่ในส่วนของแกร็บ เรามองอีกมุมด้วยความที่เรามี DATA มหาศาล เราเห็นอยู่แล้วว่า พาร์ทเนอร์ร้านค้าของเราขายได้เท่าไร ปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน และการหักหนี้รายวันจากยอดขายก็ไม่กระทบการร้านค้า เหล่านี้ จึงเป็นหนึ่งในส่วนประกอบในการปล่อยสินเชื่อให้กับร้านอาหาร

"เราให้ร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์กู้ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน ปัจจุบันวงเงินสูงสุดของร้านอาหารขนาดเล็กอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ถ้าร้านอาหารทยอยปิดตัวลง ผู้ใช้บริการจะมีตัวเลือกร้านอาหารในแพลตฟอร์มน้อยลง ไรเดอร์ได้เที่ยววิ่งน้อยลง นั่นทำให้ทุกคนแย่กันหมด"

ปัจจุบันร้านค้าที่อยู่กับ Grab ส่วนหนึ่งเพราะสิทธิประโยชน์ แต่ปัญหาคือร้านไปขอกู้ธนาคารไม่ได้ แม้แต่ร้านที่มีสาขา 4-5 สาขา ยังขอสินเชื่อไม่ได้ด้วยซ้ำ ทั้งๆ มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เพราะธนาคารมองว่าร้านอาหารคือกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่หลังโควิด-19 เป็นต้นมา

วรฉัตร กล่าวอีกว่า ครึ่งปีหลังของปี 2565 นี้ แกร็บจะเริ่มพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับร้านอาหารขนาดกลาง หรือ SME มากขึ้น แน่นอนว่า วงเงินที่ให้กู้ก็จะเพิ่มจากหลักแสนต้นๆ จนถึงหลักล้าน โดยเราได้ทำ Machine Learning เข้ามาช่วยเพื่อคำนวณว่า ร้านอาหารจะได้รับวงเงินให้กู้เท่าไร จะให้วงเงินกู้ขนาดไหน

"เราต้องบอกก่อนว่า แกร็บไม่ได้แข่งกับสถาบันการเงิน เพียงแต่ใช้โมเดลเดิมที่จับกลุ่มฐานรากมาใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น แน่นอนว่าเราก็ยังหักหนี้รายวันเหมือนเดิม โดยข้อสำคัญคือต้องไม่กระทบกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารของเรา ให้เขาอยู่ได้ และเราอยู่ได้"

เตรียมทำสินเชื่อ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง พร้อมจับมือพันธมิตรปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล

วรฉัตร กล่าวอีกว่า ในส่วนลูกค้าที่ใช้บริการแกร็บเรามีแพลนที่จะทำบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ใช้แฟลตฟอร์มของเรา คาดว่าจะได้เห็นในปีนี้ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินและขยายพอร์ตโฟลิโอไปยังกลุ่มผู้ใช้บริการแกร็บ

ล่าสุด เราจึงร่วมกับ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ สินเชื่อส่วนบุคคลแกร็บเฟิร์ส โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างแกร็บที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูล และประสบการณ์ด้านการปล่อยสินเชื่อของกรุงศรีมาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บริการแกร็บในวงกว้างมากยิ่งขึ้น  

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า เราจับมือกับแกร็บในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ สินเชื่อส่วนบุคคลแกร็บเฟิร์ส หรือ Grab First Personal Loan สินเชื่อเงินสดที่ให้บริการสินเชื่อโดยกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ มีจุดเด่นในการให้บริการที่สมัครง่ายผ่านช่องทางดิจิทัล โดยลูกค้าผู้ใช้บริการ Grab ที่ได้รับการเรียนเชิญให้สมัครสินเชื่อฯ ผ่านแอปพลิเคชัน Grab เสามารถขอวงเงินสินเชื่อได้สูงสุดถึง 100,000 บาท ผ่อนชำระคืนได้นานสูงสุด 12 เดือน

นอกจากนี้ จะทราบผลการอนุมัติภายใน 30 นาที และได้รับเงินโอนภายใน 1 วันหลังจากได้รับอนุมัติ ไม่มีค่าธรรมเนียมกดเงินสดล่วงหน้า 3% สามารถตรวจสอบยอดสินเชื่อ ยอดชำระ วันกำหนดชำระได้ด้วยตัวเองผ่านแอป UCHOOSE ตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยความร่วมมือกับแกร็บในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะขยายขอบข่ายการให้บริการทางการเงิน และสินเชื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเราตั้งเป้ายอดสินเชื่อ 300 ล้านบาท ภายในหนึ่งปีนับจากการเปิดให้บริการ

ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ