จับตา ผลกระทบยุค “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น ชี้ทางรอดธุรกิจ-ประชาชนต้องคิดเผื่ออนาคต

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับตา ผลกระทบยุค “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น ชี้ทางรอดธุรกิจ-ประชาชนต้องคิดเผื่ออนาคต

Date Time: 11 ก.ค. 2565 10:45 น.

Summary

  • ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจทั่วโลก นำโดยสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจทั่วโลก นำโดยสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวด โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อสูง

การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นอกจากจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ยังทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ ห่างกันมากยิ่งขึ้น กระตุ้นให้เงินทุนไหลออกไป เพื่อโยกไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินสหรัฐฯ จึงยิ่งกดดันให้ค่าบาทอ่อนลงต่อเนื่องจนลงไปแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด เดือน มิ.ย.65 เพิ่มขึ้นไปถึง 7.66% เทียบเดือน มิ.ย.64 สูงสุดในรอบ 13 ปี เกิดปรากฏการณ์ “แพงทั้งแผ่นดิน” ราคาน้ำมัน อาหาร และสินค้าจำเป็นปรับตัวขึ้นทั้งหมด

ล้วนเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจขยับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ปัจจุบันอยู่ในอัตรา 0.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ในตลาดเงินตลาดทุนต่างมีความเห็นว่า การประชุม กนง.วันที่ 10 ส.ค.นี้ จะมีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 29 เดือน หรือ 2 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค.63 หลัง กนง.ลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเหลือ 0.50% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

“ทีมเศรษฐกิจ นสพ.ไทยรัฐ” ได้สอบถามความเห็นภาคส่วนต่างๆ ถึงผลกระทบหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะมีผลดี-ผลเสียอย่างไร ภาคธุรกิจและประชาชนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อเตรียมรับมืออย่างไร ให้อยู่รอดปลอดภัยได้ท่ามกลางวิกฤติรอบด้าน

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล

รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ ถ้า กนง.ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% คาดว่าแบงก์ของไทยส่วนใหญ่จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานตามทันที โดยเฉพาะฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

“เพราะลูกค้าเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด และยังเผชิญข้าวยากหมากแพง จึงยังมีโจทย์ในการดูแลลูกค้าให้ก้าวข้ามช่วงนี้ไป แต่คงเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับผลิตภัณฑ์มากกว่า ปัจจุบันทยอยขึ้นบ้างแล้ว เช่น เงินฝากประจำพิเศษระยะยาว รวมถึงอาจลด หรืองดจัดแคมเปญดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ เช่น สินเชื่อบ้าน ที่ปรับจากดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3 ปีแรกมาเป็นแบบลอยตัว ส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีโอกาสปรับขึ้นเช่นกัน แต่ปีนี้ อาจจะยังขึ้นไม่มากนัก”

ในท้ายที่สุดแล้ว มองว่าลูกค้าใหม่ที่ต้องการซื้อรถ ซื้อบ้านในปีนี้ คงต้องเตรียมแผนรับมือกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กำลังใกล้เข้ามา

ส่วนลูกค้าสินเชื่อบ้าน ที่ผ่อนค่างวดอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าปัจจุบันผ่อนชำระอยู่ระยะไหนแล้ว หากผ่อนในช่วง 3 ปีแรกที่ได้อัตราดอกเบี้ยคงที่ คงไม่ได้รับผลกระทบ

แต่หากผ่อนในช่วงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ต้องดูว่าดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงตามสัญญา อาทิ MLR หรือ MOR ปรับขึ้นมากน้อยขนาดไหน ถ้าขึ้นไม่เกินที่สถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้มักเผื่อไว้ให้แล้ว ที่ราว 1% ค่างวดรายเดือนคงไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่เงินค่างวดจะตัดเงินต้นลดลง เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้ที่เคยมองว่าจะผ่อนครบใน 25 ปี จากสัญญา 30 ปี (สมมติ) ก็อาจยืดออกไปอีก แต่คงไม่เกินที่กำหนดในสัญญา

“แต่ถ้าดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานขึ้นแรงกว่านั้น ผู้กู้ซื้อบ้านคงต้องเผื่อเงินเพิ่มขึ้นไว้สำหรับจ่ายค่างวดที่คงจะเพิ่มขึ้น เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกๆ 1% (ส่วนที่เกินอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเผื่อไว้ให้) มีผลให้ภาระการผ่อนชำระโดยรวมแต่ละเดือน เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 10-11% ยกตัวอย่างราคาบ้าน 3 ล้านบาท ผ่อนระยะเวลา 30 ปี”

ส่วนผู้ที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่า ธปท.จะประกาศปรับเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ 16% และ 25% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นเร็วหรือช้าอย่างไร ลูกหนี้ที่มีปัญหา หรือมีแนวโน้มมีปัญหาชำระหนี้ สามารถขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ รวมถึงยังขอเข้าโครงการรวมหนี้ คลินิกแก้หนี้และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ที่เตรียมจัดในไตรมาส 3 ปีนี้ได้อีก ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระผ่อนต่อเดือน ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ในยุคข้าวของแพงได้บ้าง

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

นายกสมาคมโรงแรมไทย

หากมีการขึ้นดอกเบี้ย ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะโรงแรมที่กู้เงินมาใช้ในช่วงนี้ เพื่อใช้ปรับปรุงโรงแรม ลงทุนอุปกรณ์ เครื่องจักรใหม่ จ้างพนักงานเพิ่ม และต้องมีเงินหมุนเวียนทำธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดกิจการอีกครั้ง รองรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ หลังจากที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวจากวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้ มองว่าการขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น แล้วยิ่งขณะนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ยิ่งจะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้นไปอีก ในเมื่อปีนี้รัฐต้องพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจประเทศฟื้น หากการขึ้นดอกเบี้ยสร้างภาระให้ธุรกิจโรงแรมเพิ่มเติม ก็อยากให้รัฐเข้าช่วยเหลือ

“สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น อาจมีกองทุนเพื่อรับภาระส่วนต่างดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เพื่อให้อยู่รอดในช่วงที่ต้องฟื้นธุรกิจ 2 ปีจากนี้ เพราะโรงแรมมีปัญหาจากโควิด-19 มาจนถึงตอนนี้”

ขณะเดียวกัน โรงแรมยังมีภาระจากการจ่ายภาษีที่ดิน หากรัฐบาลช่วยลดภาระให้ในช่วง 1-2 ปีจากนี้ จนกว่าจะฟื้นตัวได้ ก็จะช่วยได้มาก เพราะทุกวันนี้ ธุรกิจโรงแรมยังไม่ฟื้น 100% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังไม่เพียงพอ ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากจากปิดกิจการและขาดทุนมา 2 ปี โรงแรมต้องกู้เงินมาใช้จ่าย เมื่อต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มภาระ และต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยเมื่อใดที่ธุรกิจโรงแรมฟื้น ก็จะมีเงินจ่ายภาษี

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก ช่วยธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมหรือไม่นั้น มองว่าค่าเงินบาทไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทย เพราะขณะนี้ค่าเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าโรงแรม เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง และความถี่ของเที่ยวบินน้อยลง

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในปีนี้ ถ้าได้ 10-12 ล้านคน แม้จะเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในปี 62 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ดี ซึ่งจะยังไม่มีผลทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมฟื้นตัวได้เต็มที่

ณพพงศ์ ธีระวร
ณพพงศ์ ธีระวร

ณพพงศ์ ธีระวร

ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์ SME ไทย

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะซ้ำเติม และสร้างผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เพราะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น ภาระหนี้เดิม มีดอกเบี้ยสูงขึ้น หรือบางรายที่อาจกำลังต้องการเงินกู้ปรับปรุงกิจการ ต่อลมหายใจธุรกิจหลังโควิด-19 ก็อาจไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะยิ่งทำให้ขาดสภาพคล่อง

หรือบางรายหากกู้มาแล้ว ก็อาจมีปัญหาผ่อนชำระ ทำให้หลายรายอาจประสบปัญหาขาดทุน และปิดกิจการในที่สุด เพราะปัจจุบันมีภาระต้นทุนของสินค้าและบริการสูงขึ้นมากอยู่แล้ว ขณะที่กำลังซื้อประชาชนยังน้อย ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้น

“การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจช่วยสกัดเงินเฟ้อได้ระดับนึง แต่อาจต้องแลกมาด้วยภาระของเอสเอ็มอี และแรงงานที่มีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น รวมถึงอาจเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มากขึ้นอีก จากปัจจุบันมีหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถเกือบ 400,000 คัน และหนี้สินเชื่อบ้านอีกเกือบ 100,000 หลัง ที่มีปัญหาผ่อนชำระ ซึ่งอาจเป็นระเบิดเวลาของระบบเศรษฐกิจไทย หลังมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย”

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีคงต้องช่วยเหลือตัวเองให้มาก หาวิธีลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยง หรืออาจชะลอการลงทุน กอดเงินสดไว้ก่อน รวมถึงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้บริหารธุรกิจ และลดต้นทุน เจรจาขอเครดิตการค้าที่ยาวขึ้น แต่คงเหนื่อย เพราะธนาคารก็กลัวหนี้เสีย หากภาครัฐช่วยพักชำระหนี้ให้ได้ 1-2 ปีจะดีที่สุด หรือยืดเวลาชำระหนี้ รวมถึงจัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างทางเลือกให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยถูกกว่าท้องตลาด ให้ความรู้ในการบริหารความเสี่ยง และลดต้นทุน ช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยี และช่วยหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน ควรออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อสร้างทางเลือกการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่มีความหลากหลายกว่าการมีเพียงระบบธนาคาร ส่งเสริมให้เอกชนที่แข็งแรงขอใบอนุญาตการปล่อยกู้ หรือเปิดโอกาสให้เอกชนที่มีใบอนุญาตปล่อยกู้ สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่พ่อค้า แม่ค้า และเอสเอ็มอีอยู่ได้ เป็นต้น

“น่าจะถึงเวลาปฏิรูปกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคทางธุรกิจ รวมถึงปฏิรูปกลไกปกป้องระบบการเงินที่ธนาคารได้เปรียบคนทั้งประเทศ”

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

ตลาดประเมินว่า ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ทำให้คาดว่าปลายปีนี้ดอกเบี้ยจะขึ้นไปสูงสุดที่ 1.25% จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.50% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (เป็นผลจาก ธปท.ใช้นโยบายแบบเหยียบคันเร่งกดดอกเบี้ยต่ำเพื่อดูแลเศรษฐกิจช่วงวิกฤติโควิด-19)

แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่เงินเฟ้อทั่วโลกและไทยสูงกว่าที่คาดคิด ขณะที่การท่องเที่ยวไทยเริ่มดีขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำหมดไป การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่น่ามีมากนัก แม้การปรับขึ้นจะมีผลให้ต้นทุนการเงินธุรกิจกลุ่มต่างๆ ปรับขึ้นบ้าง และไม่ห่วงบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น เพราะมีฐานะเข้มแข็ง และยังรับได้

แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงและได้รับผลกระทบคือ หนี้ภาคประชาชน ที่ขณะนี้เรามีหนี้ครัวเรือนสูง โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ที่มีหนี้สินเชื่อบ้าน แม้บัตรเครดิตดอกเบี้ยไม่ขึ้น แต่ดอกเบี้ยผ่อนบ้านจะค่อยๆ ขยับขึ้น คนที่เคยได้ดอกเบี้ยคงที่ต่ำๆ ก็จะเริ่มลอยตัวสูงขึ้น ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีค่าน้ำมัน ค่าอาหารที่แพงขึ้น แต่รายได้หรือเงินเดือนไม่ขึ้น คนกลุ่มนี้จะลำบาก

“ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือ ต้องประหยัด อะไรที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ ต้องกู้ ชะลอไปก่อน รักษาสภาพคล่องการเงินให้ดี อย่าสร้างหนี้เพิ่ม คนที่ยังไม่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องคิดให้รอบคอบ คิดเผื่ออนาคต ที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นด้วย”

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย มองว่าเป็นความโชคดีของไทย ภายใต้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเสี่ยงถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ทุกกลุ่ม เพราะวิกฤติอาหารโลกขาดแคลน ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตร ยางพารา ปาล์มน้ำมันสูงขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกไทยมากขึ้น ในราคาที่ดีขึ้น เกษตรกรและแรงงานในภาคส่งออกมีรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวเร็ว โดยเดือน มิ.ย.มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 700,000 คน คาดว่าปลายปีจะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละมากกว่า 1 ล้านคน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีการจ้างงานราว 10 ล้านคน คนเหล่านี้กลับมามีงานทำ มีเงินจับจ่ายใช้สอย

“ท่ามกลางเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง ต้องหาทางให้คนยังมีงานทำ เพื่อให้อยู่รอดได้อีกระยะ หัวใจคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ จากคนที่ยังดีอยู่ เอาเศรษฐกิจส่วนที่พอไปได้ มาช่วยฉุดเศรษฐกิจส่วนที่เหลือให้ไปต่อ เมื่อมีการจ้างงาน คนมีรายได้ มีการจับจ่าย คนกลุ่มนี้จะช่วยดึงเศรษฐกิจ หรือ Sector ที่เหลือให้ไปต่อได้”

ขณะเดียวกัน นโยบายภาครัฐต้องซัพพอร์ต 2 กลุ่มนี้ให้เข้มแข็ง และภาครัฐต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง รองรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทำให้ภาคธุรกิจยังบริหารจัดการต้นทุนได้ แม้เงินเฟ้อสูงถึง 6-7%

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้น ที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นมักทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงนั้น “กอบศักดิ์” กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย ตลาดหุ้นซึมซับรับข่าวนี้ไปหมดแล้ว และบริษัทในตลาดรับมือกับดอกเบี้ยขึ้นได้พอสมควร

“ทุกครั้งที่วิกฤติผ่านไป ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวขึ้นเร็วกว่าปกติ การเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในช่วงวิกฤติ มักเป็นโอกาสที่ดีเสมอเมื่อวิกฤติผ่านพ้น ผมยังมั่นใจว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ