ราคาน้ำมันโลกลดต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน แต่ทำไมราคาน้ำมันในไทยถึงลดช้า

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ราคาน้ำมันโลกลดต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน แต่ทำไมราคาน้ำมันในไทยถึงลดช้า

Date Time: 7 ก.ค. 2565 16:17 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน แต่ทำไมราคาน้ำมันในไทยถึงลดช้า รมว.คลังอธิบาย เพราะไทยใช้ราคาอ้างอิงจากน้ำมันดิบดูไบ และต้องดูภาระเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

Latest


ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน แต่ทำไมราคาน้ำมันในไทยถึงลดช้า รมว.คลังอธิบาย เพราะไทยใช้ราคาอ้างอิงจากน้ำมันดิบดูไบ และต้องดูภาระเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และเบรนต์ปรับลดลงต่อเนื่อง แตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย

สำหรับราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสที่ซื้อขายเมื่อ 6 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 98.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.97 เหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 100.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -2.08 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 101.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -9.36 เหรียญสหรัฐ

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ที่ซื้อขายเมื่อ 6 ก.ค. 65 เบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 129.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -17.68 เหรียญสหรัฐ ดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ 140.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -13.36 เหรียญสหรัฐ

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้นจะพบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ที่ซื้อขายเมื่อ 7 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 119.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 120.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 115.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 

ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ที่ซื้อขายเมื่อ 7 มิ.ย. 65 เบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 154.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ 170.61 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ข้อมูลอ้างอิงหน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์ กดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนส่วนหนึ่งได้ตั้งคำถามว่าทำไมราคาน้ำมันโลก และราคาในตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลงแล้วแต่ราคาน้ำมันไทยยังไม่ลดลงมาจากเหตุใดนั้น

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า "วันที่ 6 ก.ค. 65 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ลดลงถึง 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในส่วนของไทยราคาน้ำมันจะยังไม่ลงในทันที เพราะเราใช้ราคาอ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบดูไบ และที่สำคัญต้องดูอีกหลายปัจจัย เช่น ต้องดูภาระเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย"

ส่วนประเด็นเรื่องการขยายต่อมาตรการลดอัตราภาษี สรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 ก.ค. 65 นี้ ทางกระทรวงยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากยังคงมีเวลาพิจารณาอยู่ โดยราคาน้ำมันโลกในขณะนี้ก็มีทั้งสูงขึ้นและลดลง (ท่องคาถาประหยัดพลังงาน “บิ๊กตู่” ชักธงรบนำคนไทยฝ่าวิกฤติน้ำมันแพง)

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน ณ วันที่ 3 ก.ค.65 ติดลบ 107,601 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 69,718 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 37,883 ล้านบาท

พลังงานยืนยันค่าการตลาดน้ำมันยังอยู่ในกรอบ

ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น กับค่าการตลาดน้ำมันเบนซินในช่วงต้นเดือน มิ.ย.กับปัจจุบัน ซึ่งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นปรับลดลง แต่ค่าการตลาดปรับสูงขึ้นนั้น

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า จากแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. ในการพิจารณาค่าการตลาด จะต้องดูในภาพรวมของทุกชนิดน้ำมัน เพราะสถานีบริการไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพียงชนิดเดียว และไม่ควรเปรียบเทียบค่าการตลาดเป็นรายวัน เนื่องจากราคาเนื้อน้ำมัน มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก โดยหากพิจารณาในปีนี้ค่าเฉลี่ยของค่าการตลาดในแต่ละเดือนก็ยังอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล

"หากพิจารณาค่าการตลาดโดยรวมของสถานีบริการ เฉลี่ยของทุกชนิดน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1-6 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปี ที่ผ่านมาตลอดทั้งปีที่ 2.14 บาทต่อลิตร และอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล"

ทั้งนี้ ค่าการตลาด คือ รายได้ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน ที่ยังไม่ได้หักค่าดำเนินการ ค่าขนส่งน้ำมันจากคลังมาหน้าสถานีบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าการตลาดของผู้ให้บริการแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน ค่าการตลาดที่ สนพ.เผยแพร่เป็นค่าการตลาดอ้างอิงที่มาจากการคำนวณเพื่อใช้ในการติดตามดูแลกรอบค่าการตลาด

นายสมภพ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์ และใช้หลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับประชาชน ในสภาวะปัจจุบันที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาพลังงานทั่วโลก ในส่วนของประชาชนสามารถบริหารจัดการการใช้รถยนต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามความเหมาะสมและจำเป็นของแต่ละบุคคล เช่น ใช้รถเท่าที่จำเป็น ศึกษาเส้นทางก่อนการเดินทาง หากเป็นไปได้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด ตรวจสภาพรถตามที่ค่ายรถยนต์กำหนด

ราคาน้ำมันไทยประกอบด้วยค่าอะไรบ้าง

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย (อ้างอิงจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ดังนี้

1. ราคาหน้าโรงกลั่น หรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด

2. ภาษีสรรพสามิตเรียกเก็บในอัตราคงที่ โดยจะคิดจากปริมาณน้ำมันเมื่อส่งออกจากโรงกลั่น หรือคลังน้ำมัน

3. ภาษีมหาดไทย หรือภาษีเทศบาล เรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต

4. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ที่ 7%

7. ค่าการตลาด คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันจะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เช่น

- ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการคลังน้ำมัน

- ค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันไปยังสถานีบริการ

- ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป การขายและการตลาด

- ค่าใช้จ่าย ณ สถานีบริการ เช่น ค่าแรงพนักงาน ค่าเช่าที่ดิน และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

- กำไรในการขายส่งและขายปลีก

ดังนั้น ค่าการตลาดจึงมิใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย

8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ