น้ำมันอาหารแพงคนไทยจนเพิ่ม ธนาคารโลกลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.9%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

น้ำมันอาหารแพงคนไทยจนเพิ่ม ธนาคารโลกลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.9%

Date Time: 30 มิ.ย. 2565 07:16 น.

Summary

  • “ธนาคารโลก” ชี้พิษน้ำมันอาหารแพง สงครามยูเครนทำความยากจนคนไทยเพิ่มขึ้น จับตาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ชี้เป็นความเสี่ยงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.9%

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

“ธนาคารโลก” ชี้พิษน้ำมันอาหารแพง สงครามยูเครนทำความยากจนคนไทยเพิ่มขึ้น จับตาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ชี้เป็นความเสี่ยงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.9% หนุน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสกัดเงินเฟ้อสูง นำเสนอรัฐเดินหน้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ระบุจะช่วยเพิ่มจีดีพีไทยได้ 1.2%

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวในการนำเสนอรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก ฉบับล่าสุดเดือน มิ.ย.ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่ไตรมาส 2 เริ่มเห็นการชะลอตัวลง เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมัน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูง และมีความเปราะบางต่อภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ในขณะที่โอกาสการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆยังมีเพิ่มขึ้นและถือเป็นความเสี่ยง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ส่งผลให้ธนาคารโลกปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ลงเหลือ 2.9% ในการประมาณการครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะได้รับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 400,000 คนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 2567 ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% ในปี 2566 และ 3.9% ในปี 2567

“อัตราเงินเฟ้อที่สูงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่มีความน่ากังวลของเศรษฐกิจไทย และมองไปข้างหน้ายังมีทิศทางที่สูงขึ้น ทั้งนี้ จากการทำวิจัยของธนาคารโลกพบว่า เงินเฟ้อที่สูงจะกระทบต่อคนที่มีรายได้น้อยและแรงงานที่รับเงินรายวัน นอกจากนั้น ผลจากสงครามยูเครนซึ่งทำให้ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น โดยธนาคารโลกประมาณการว่า ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2 % ขณะที่การใช้มาตรการในการคุมราคาสินค้าเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและลดภาระของประชาชนของรัฐบาลนั้น เป็นนโยบายที่ได้ผลในระยะสั้น แต่อาจไม่ใช่มาตรการที่จะเกิดขึ้นได้ถาวร”

นายเกียรติพงศ์กล่าวต่อว่า ธนาคารโลกมองว่าแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังสามารถควบคุมได้ เพราะยังเป็นการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ขณะที่ยังไม่เป็นการขึ้นสินค้าในทุกหมวดเป็นวงกว้าง และในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และทำให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง โดยอาจจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งที่เหลือในปีนี้ ขณะเดียวกันควรจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมเพื่อดูแลคนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ตรงจุดเพิ่มขึ้นด้วย และในขณะนี้แม้ว่าไทยจะมีพื้นที่ทางการคลังในการใช้เงินเหลืออยู่แต่ก็ควรที่จะคิดเรื่องการหารายได้เพิ่มขึ้น เช่นการปรับขึ้นภาษีบางประเภท และมีเงินเผื่อไว้สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพิ่มขึ้น

ด้านนายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกมองว่า เมื่อความต้องการทรัพยากรภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยสามารถเลือกใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย โดยแบบจำลองทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่า การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% และช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 160,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 0.3% ของการจ้างงานทั้งหมด นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยป้องกันประเทศไทยจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและมีความผันผวน รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5% ภายในปี 2573.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ