ปี 65 ตลาดเหล็กไทยฝ่าด่านความผันผวน เหตุความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลห่วงโซ่การผลิตเหล็กชะงัก แต่ความต้องการใช้เหล็กทั้งปียังฟื้นตัว คาดครึ่งปีหลังสถานการณ์ดีขึ้นความต้องการใช้เหล็กทั้งปี 2565 ของโลกอยู่ที่ 1,804 ล้านตัน และของไทยเกือบ 19 ล้านตัน ใกล้เคียงปีก่อน
นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยสถานการณ์เหล็กในช่วงครึ่งแรกของปี 65 ว่า ตลาดเหล็กของโลก และของไทยมีความผันผวนมาก โดยสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กของทั้งโลกในปี 2565 ว่าจะมีปริมาณ 1,804.2 ล้านตัน ปรับตัวขึ้น 0.4% จากปีก่อน
ขณะที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รายงานว่าไตรมาสแรกของปี 2565 ประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็ก 4.04 ล้านตัน หดตัวลง -17.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ประเมินตลาดเหล็กครึ่งหลังฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม นายนาวามองว่า ความต้องการใช้เหล็กของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่สอง แม้จะเผชิญกับความผันผวนด้านราคา ตลอดความกังวลในภาวะเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าในครึ่งหลังของปี 2565 หากรัฐบาลคลายล็อกมาตรการโควิดต่างๆ และเปิดประเทศมากขึ้น ประกอบกับการเดินหน้าตามนโยบายส่งเสริมการก่อสร้างภาครัฐให้ใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จะกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของไทยปี 2565 มีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ 19 ล้านตันได้
“ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับขึ้นลงตามต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ สินแร่เหล็ก เศษเหล็ก ต้นทุนพลังงานได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า และต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งมีความผันผวนมากในครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความขัดแย้งรัสเซียบุกยูเครน ส่งผลให้ราคาเหล็กในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกปรับตัวขึ้นไปสูงสุดในเดือน มี.ค.จากความตระหนกของตลาดโลกว่าสินค้าเหล็กและวัตถุดิบอาจขาดแคลน เพราะทั้งสองประเทศนี้รวมกัน เป็นแหล่งผลิตสินแร่และแก๊สมากสุดถึง 20% ของโลก เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบสัดส่วน 10% และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเหล็กสัดส่วน 5%”
สำหรับประเทศไทยนั้นมีความต้องการใช้เหล็กต่อปีเป็นสัดส่วน 1% ของความต้องการใช้เหล็กของโลก แต่สามารถผลิตเหล็กดิบได้เองเพียงสัดส่วน 0.24% ของการผลิตเหล็กดิบโลก ราคาสินค้าเหล็กในไทยจึงเป็นไปตามทิศทางตลาดโลก แม้ในช่วงราคาขาขึ้นสินค้าเหล็กถูกควบคุมราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ แต่หลังจากประเทศต่างๆ ได้แก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเหล็ก รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก รวมทั้งมีปัจจัยฤดูกาลเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนการก่อสร้างชะลอตัว ทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลงมา
อย่างไรก็ตาม นายนาวาระบุว่าโอกาสที่ราคาสินค้าเหล็กในไทยจะลดต่ำลงจนเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 เป็นไปได้ยาก เพราะยังมีปัจจัยกดดันด้านต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน เงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่อ่อนอยู่
จับตา “จีน” ทุ่มตลาดเหล็กกระทบไทย
นายนาวากล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องจับตาการส่งออกเหล็กจากจีน เพราะแม้ว่า รัฐบาลจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้ส่งออกสินค้าเหล็กอันดับหนึ่งของโลกพยายามปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเหล็กของจีน และควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กในปี 2565 ให้ไม่เกิน 1,035 ล้านตัน แต่คาดว่าจีนจะใช้เหล็กเองภายในประเทศ 952 ล้านตัน ดังนั้นจะยังคงเหลือเหล็กจีนส่งออกไปทั่วโลกปริมาณมาก
โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 จีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กไปทั่วโลกแล้ว 18.2 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกเหล็กในเดือน เม.ย.พุ่งขึ้นเป็น 5.1 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 9 เดือน เพราะเศรษฐกิจภายในของจีนไม่ดี ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ทั้งก่อสร้าง ต่อเรือ เครื่องจักรกล ยานยนต์ โดยการผลิตรถยนต์ในจีนเดือนเมษายนลดลงมากถึง -44%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนได้ชะลอตัวถึงจุดต่ำสุดแล้วในเดือน เม.ย. และกำลังฟื้นตัวช้าๆตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนของทั้งปี 2565 อยู่ที่ 4.4% โดยต้องจับตามองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่นี้จะบรรลุผลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ ก็มีความเสี่ยงที่ความต้องการใช้เหล็กภายในจีนยังลดลง จนจีนต้องเร่งระบายสินค้าเหล็กทุ่มตลาดมายังอาเซียนและไทย
โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนส่งออกสินค้าเหล็ก 790,000 ตันมายังไทย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็กที่ไทยไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เช่น เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เป็นต้น รวมทั้งมีสินค้าเหล็กบางประเภทที่มีการนำเข้าปริมาณมากโดยหลบเลี่ยงมาตรการ AD เช่น สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบ และสินค้าเจืออัลลอยด์ เป็นต้น
วอนรัฐปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศ
“ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการทางการค้ากับสินค้าเหล็กอย่างเข้มงวด ทั้งการตอบโต้การทุ่มตลาด ( AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป หรือผู้ผลิตในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะที่ประเทศไทยมีการดำเนินการเพียงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น และไม่มีการใช้มาตรการอื่นๆ ทั้งที่มีกฎหมายรองรับแล้ว นอกจากนั้น การพิจารณา AD ของไทยเกือบทุกกรณี คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งมี รมว. พาณิชย์เป็นประธาน ใช้ระยะเวลานานหลายเดือนถึงปีกว่าจะให้เปิดไต่สวน และมักใช้เวลาพิจารณานานเต็มกรอบเวลาสูงสุด 1-1.5 ปี ไม่รวดเร็วเช่นหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการ AD ที่บังคับใช้ส่วนใหญ่ได้มีการผ่อนคลายยกเว้น ทำให้แม้มีการใช้มาตรการ AD ก็ยังมีการนำเข้าสินค้าเหล็กมากเกือบ 10 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 61% ของความต้องการใช้เหล็กของไทย
“กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. สนับสนุนรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศไทย ในโครงการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่เหมาะสมยิ่งในช่วงที่ไทยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างมาก นอกจากนั้น หากสามารถขยายผลให้การจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศด้วย จะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจของชาติฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อว่ามาตรการต่างๆ จะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ สามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 33% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก.