ระเบียงเศรษฐกิจใหม่

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ระเบียงเศรษฐกิจใหม่

Date Time: 28 พ.ค. 2565 05:52 น.

Summary

  • สศช. เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในแผนฉบับที่ 13 และช่วงปี 2565-2575 กำหนดพื้นที่ไว้ 4 ภาค 16 จังหวัด

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค...

นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะฟื้นประเทศในทุกด้านเมื่อสถานการณ์ต่างๆเอื้ออำนวยให้หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป

เรื่องท่องเที่ยวนั้นไม่ต้องพูดถึงเพียงแต่รอจังหวะอีกนิดเดียวเท่านั้น

แต่การพัฒนาประเทศยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องคิดต้องทำเพื่อกระจายความเจริญไปทุกพื้นที่ของประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในแผนฉบับที่ 13 และช่วงปี 2565-2575 กำหนดพื้นที่ไว้ 4 ภาค 16 จังหวัด

เรียกว่าเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใหม่ 4 ภาค ระยะ 10 ปีลงทุน 3 แสนล้าน หากสำเร็จคาดว่าจะส่งผลผลักดันจีดีพี 5.8% ต่อปี

ภาคเหนือ 4 จังหวัด คือเชียงใหม่ เชียงราย ลำปางและลำพูน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืน โดยต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการดั้งเดิมที่มีศักยภาพและบริการใหม่

การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ล้านนา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่นและนครราชสีมา ซึ่งมีศักยภาพด้านการเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่

ภาคกลาง-ตะวันตกคือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐมและอยุธยา เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

ภาคใต้ 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและระบบโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศฝั่งอันดามัน

4 ภาค 16 จังหวัด...

ทั้งนี้ สศช.ได้ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เป็นการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนั้นยังเห็นข้อเสนอการขับเคลื่อนทั้งการให้สิทธิประโยชน์ การอำนวยความสะดวกในการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและการบริการ การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี

แผนพัฒนาชุดนี้ถือว่ากินพื้นที่เกือบครอบคลุมทั้งประเทศโดยใช้การแยกย่อยเอา 4 จังหวัดในแต่ละภาคซึ่งมีศักยภาพเป็นตัวขับเคลื่อน

การดำเนินการตามแผนจะทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดได้รับรู้ถึงทิศทางการพัฒนาว่าจะไปทางไหน จะต้องทำอย่างไร และจะได้อะไรขึ้นมา

ที่ผ่านมาแต่ละภาคแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่มีแผนแม่บทชัดเจน คิดจะทำอะไรก็ทำกันไปมันก็เลยมั่วกันไปหมด

ที่สำคัญก็คือเป็นการพัฒนาในพื้นที่บางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้กระจายครอบคลุม

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการพัฒนาซํ้ากับพื้นที่เดิมๆที่มีความเจริญอยู่แล้ว

อย่างการพัฒนาภาคตะวันออกก็คิดและทำเพียงแค่นั้น ไม่ได้คิดไปถึงจังหวัดอื่นๆ ภาคอื่นเหมือนแค่อยู่ในวงจำกัด

จึงเกิดปัญหาความเจริญที่แตกต่างกัน ประชาชนที่ยากจนก็ยากจนอยู่อย่างนั้น ต่างกับพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างชัดเจน

เป็นความเหลื่อมล้ำที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนด.

“สายล่อฟ้า”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ