ตลอดช่วงระยะเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเรา ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วในปีนี้ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท” ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักของภาคเอกชน ที่ช่วยเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของภาคธุรกิจต่อรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ก็เป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่เพื่อยุติวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยกลับคืนมาให้เร็วที่สุด
และด้วยเวลามากว่า 35 ปีของการก่อตั้ง และมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมถึง 14,000 รายจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ทำให้องค์กรแห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านทั้งการผลิตและการส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรม เป็นอีกเครื่องยนต์หลักในการแสวงหารายได้เข้าประเทศ
โดยล่าสุดการส่งออกในภาคอุตสาหกรรม ปี 2564 มีมูลค่ามากกว่า 271,173.51 เหรียญสหรัฐฯต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินรายได้กว่า 5.18 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 32.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ประธาน ส.อ.ท.จึงถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากอีกตำแหน่งหนึ่งที่ต้องสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถมาทำหน้าที่บริหาร โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากสิ้นสุดตำแหน่งของนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.ทั้ง 363 คน จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ที่เป็นลูกหม้อผู้คร่ำหวอดในองค์กรแห่งนี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานส.อ.ท.คนใหม่ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งปี 2565-2567
ในโอกาสนี้ “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ เพื่อรับทราบวิสัยทัศน์ มุมมอง รวมทั้งนโยบายในการขับเคลื่อนองคาพยพทุกภาคส่วนของประธาน ส.อ.ท.คนที่ 16...ดังนี้
เศรษฐกิจเผชิญสารพัดความเสี่ยง
ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ เปิดฉากสนทนากับ “ทีมเศรษฐกิจ” ด้วยความท้าทายของเศรษฐกิจและวิกฤติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยมองว่า “ในช่วงต่อจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาน้ำมัน ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตที่ส่งผลทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว”
โดยล่าสุดธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จาก 4.1% ลงมาอยู่ที่ 3.2% จากผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กระทบต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและเอเชียกลาง รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของพันธมิตรชาติตะวันตกที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นทั่วโลก ฯลฯ
ขณะที่องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ จาก 4.4% ลงมาอยู่ที่ 3.6% และได้คาดการณ์เงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วปีนี้ว่าจะเฉลี่ย 5.7% สูงขึ้นมากจาก 1.1% ในครั้งก่อน และคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทยสูงถึง 8.7%
และเงินเฟ้อที่สูงมากนี้อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยมากขึ้น หากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงสูงขึ้นกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ที่ 4.9% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
“เงินเฟ้อที่เร่งตัวมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ แม้สงครามรัสเซียและยูเครนจะกระทบการส่งออกและท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง เพราะทำให้ราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปปรับขึ้นต่อเนื่อง”
ทำให้ ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดว่าขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-4.0% การส่งออกขยายตัว 3.0-5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 3.5- 5.5%
เปิดยุทธศาสตร์การทำงาน 2 ปี
ดังนั้น ในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ยากต่อการควบคุมในขณะนี้ การวางยุทธศาสตร์ในการทำงานที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ “ผมมีวาระการทำงาน 2 ปี ระหว่างปี 2565–2567 การขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้นโยบาย ONE FTI ONE Vision ONE Team และ ONE Goal”
ONE FTI หรือการหลอมรวมทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งในส่วนของภายใน ส.อ.ท. ที่ประกอบไปด้วย สมาชิก 14,000 ราย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ ส.อ.ท. และเชื่อมโยงกับภายนอก เช่น หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ
ต่อจากนั้นจะพยายามทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเพื่อมุ่งไปสู่ “ONE Vision” ซึ่งก็คือ การมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการส่งเสริมผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ที่สำคัญคือ การเป็น “ONE Team” หรือ การสร้างความร่วมมือให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน และสุดท้าย “ONE Goal” คือ การทำงานเพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)
เหตุผลที่ต้องการเร่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง โดยใช้นโยบาย “Strengthen Industries for Stronger Thailand” นั้นเป็นเพราะจากนี้ไปสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของประเทศและของโลกจะเต็มไปด้วยความท้าทายที่ทำให้เราจะต้องเร่งปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่มีคำว่า “VUCA world” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารยุคใหม่ให้ความสำคัญและพูดถึงกันมากในปีนี้ VUCA เป็นคำย่อที่ U.S. Army War College นำมาใช้เรียกสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งต่อมานำมาใช้อธิบายสภาพการณ์ในโลกธุรกิจด้วย
V-Volatility : ความผันผวนสูง เช่น การที่โลกมีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลาและทำให้เกิดการ Disrupt ธุรกิจ U-Uncertainty : ความไม่แน่นอนสูง ขาดความชัดเจน เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา C-Complexity : มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยมากมาย ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อโลกในหลายมิติ A-Ambiguity : ความคลุมเครือไม่ชัดเจนสูง เช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์จากสถานการณ์นี้ได้
คำว่า VUCA จึงถือเป็น Next Normal ของคนในยุคนี้ที่ผู้บริหารองค์กรจะต้องบริหารงานภายใต้สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จะทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดแล้วก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปข้างหน้า พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง
เสริมแกร่ง 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด
ทั้งนี้ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีการดำเนินงานในหัวข้อหลักๆ เช่น 1.Industry Collaboration ผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยผ่านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในลักษณะ 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)
รวมทั้ง การดำเนินโครงการ Smart Agricultural Industry (SAI) เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร ยกระดับการเกษตรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการส่งเสริมตลาด โดยนอกจากการสร้างความร่วมมือในประเทศแล้ว ส.อ.ท. จะเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ ทั้งด้านการค้าการลงทุน ด้านเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาบุคลากรเป็นต้น
2.First 2 Next-Gen Industry คือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.First Industries หรืออุตสาหกรรมเดิม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 2 กลุ่ม Next-GEN Industries หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรได้หลากหลายมิติได้ เช่น ยา, อาหารเสริม, เครื่องสำอาง, ปุ๋ยเคมี และยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
โดยจะเข้าไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการยกระดับอุตสาหกรรมในมิติต่างๆ อาทิ Innovation Capability หรือการยกระดับขีดความสามารถ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านกลไกของกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม การต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยการเชื่อมโยงนวัตกรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ประกอบการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ภาคธุรกิจ และการจับคู่สตาร์ตอัพในการยกระดับนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น ยังจะมีการผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างค่าจ้างแรงงานด้วย Pay by Skill (จ่ายตามฝีมือ) และการพัฒนาหลักสูตร (Up-Skill&Re-Skill) ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และ
ออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ใหม่ๆ พัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา
ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Eco Product Eco Factory และ Eco Town, จัดตั้ง Carbon Credit Exchange รองรับ Carbon Neutrality และการรับรองผลิตภัณฑ์ไทยด้วย Thailand Forest Certification Council (TFCC) เน้นให้อุตสาหกรรมดำเนินการตามหลักการ SDGs เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แนะขึ้น “ค่าแรง” ตามทักษะฝีมือ
กลับมาที่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูประเทศในช่วงนี้ นายเกรียงไกรกล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ 15% ของต้นทุนทั้งหมด อีกทั้งค่าขนส่งทั้งทางบก ค่าระวางเรือ ค่าขนส่งทางอากาศ ทั้งในและต่างประเทศ ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน
“ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์เพื่อตรึงราคาสินค้าช่วยเหลือผู้บริโภค แต่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะ ปรับตัวสูงขึ้นกดดันอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี ภาคธุรกิจจึงต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อให้ธุรกิจไม่ขาดทุนและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้”
ทั้งนี้ แม้การปรับราคาสินค้าจะช่วยเอสเอ็มอี แต่ก็กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการมาช่วยเพื่อเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่การปรับค่าแรงก็ต้องพิจารณาในหลายด้าน ทั้งดัชนีค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ รวมทั้งประสิทธิภาพแรงงานและภาวะเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันด้วย นอกจากนั้น เราอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 หากมีการปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ก็จะเป็นการซ้ำเติมทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้
“การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงควรใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างในการพิจารณาปรับขึ้นตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พิจารณาเสนออัตราค่าจ้างของแต่ละจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนั้นๆ
นอกจากนี้ ควรนำกลไกการปรับขึ้นค่าจ้าง ในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill รวมทั้ง นำกลไกมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณา ในการปรับขึ้นค่าแรงงานด้วย”
หาหนทางเพิ่มรายได้–ฟื้นเศรษฐกิจ
ทางที่ดีที่สุด รัฐบาลจะต้องแก้ไขการเร่งเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ด้วยการสร้างงานที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value) และพัฒนาทักษะคนทำงานทุกระดับ รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบกิจการให้มีผลิตภาพสูงขึ้น การจะสร้างตำแหน่งงานใหม่ก็จะต้องไปเชื่อมกับภาคการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านทักษะการทำงานต่างๆ ของภาคธุรกิจนั้นๆให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกที่ยังคงมีความเข้มแข็งอย่างมาก ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องช่วยกันขยายตลาดส่งออกสินค้าไทย ให้มากขึ้น ขณะที่การยกเลิก Test & Go มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง โดยมองว่าภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงมากจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง ซึ่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนจะแก้ด้วยวิธีปกติไม่ได้
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การหาทางรับมือกับ Technology Disruption ที่จะเข้ามากระทบในหลายๆอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยอยู่รอดในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ติดอันดับ 1-2 ของไทยมาโดยตลอด จากการส่งออกรถยนต์สันดาปภายใน ที่ไทยต้องเตรียมปรับกับการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) เช่น การทำ Plant Based อาหารที่ทำจากพืช เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น.
ทีมเศรษฐกิจ