ย้อนกลับไปมากกว่า 30 ปี ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด เกิดขึ้นมาจนสามารถพลิกประเทศไทยสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม
จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจยุคสมัยนั้น ที่ใช้คำว่า “โชติช่วงชัชวาล”
หลังจากนั้น การพัฒนาประเทศดำเนินเรื่อยมา มีทั้งรุ่งโรจน์ และล้มลุกคลุกคลาน จนถึงจุดอิ่มตัวของอุตสาหกรรมเดิม ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายขับเคลื่อนให้พัฒนาประเทศไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Mid dle income trap) ผ่านการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานสำคัญและการลงทุน 12 อุตสาห กรรมเป้าหมาย ที่ต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมเดิม รวมทั้งเร่งส่งเสริมการลงทุนยกระดับนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้มีเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทยเอง จึงจะสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ภายใต้บริบทดังกล่าว ได้เกิดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2561
ช่วงเวลา 4 ปีมานี้ โครงการอีอีซีถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าเป็นความหวังใหม่ของประเทศ
“ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้รวบรวมโครงการที่เกิดขึ้นในอีอีซีตลอด 4 ปี มาให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วโครงการนี้มาช่วยเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประเทศไทยไปในทิศทางใด และคนไทยได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง
โครงสร้างพื้นฐานสำคัญครบ
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาอีอีซี ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ภายใต้การบริหารงานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เป็นผู้ประสานการทำงานของทุกๆหน่วยงานมาร่วมมือกัน มองว่าต้องเริ่มต้นจากการวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้กับอีอีซี ปัจจุบันได้เห็นผลสัมฤทธิ์การทำงานของอีอีซีที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือสามารถผลักดันโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP)
ปัจจุบันเซ็นสัญญาครบทั้ง 4 โครงการ ที่จะเริ่มเข้าสู่การก่อสร้างในปีนี้ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เกิดมูลค่าลงทุนรวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท หรือ 64% และการลงทุนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท หรือ 36% โดยภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสุทธิสูงถึง 210,352 ล้านบาท
ถือเป็นประวัติศาสตร์ความสำเร็จครั้งสำคัญของประเทศไทยและอีอีซี ที่ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ประเด็นที่สำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ดังกล่าว ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต
รัฐได้ประหยัดงบประมาณโดยร่วมมือกับเอกชนไทย ใช้เงินไทย และบริษัทไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติ มาร่วมลงทุน สร้างงานให้คนไทย สร้างผลตอบแทนภาครัฐ
ลงมือก่อสร้างโครงการหลัก
เมื่อไล่เรียงความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ขณะนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้โอนการบริหารงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ให้แก่เอกชนเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน ขณะเดียวกัน ได้จัดการให้มีพื้นที่ก่อสร้างเส้นทางรถไฟครบ 100% ภายในเดือน พ.ค.ปีนี้ เพื่อส่งมอบให้กับเอกชนคู่สัญญา
ขณะที่เอกชนได้เตรียมการก่อสร้างพื้นฐาน เช่น งานปรับพื้นที่สำหรับช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวเพื่อลำเลียงวัสดุ งานก่อสร้างสำนักงานสนามโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง งานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี และจะเปิดให้บริการภายในปี 2569
สำหรับ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนความรับผิดชอบภาครัฐ เช่น การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 โดยกองทัพเรือ มีงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มีความก้าวหน้า 62.51% งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของสนามบิน เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ระบบประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเอกชนคู่สัญญากับอีอีซีได้รับพื้นที่และเริ่มก่อสร้างแล้วเช่นกันและจะเปิดให้บริการระยะที่ 1 ในปี 2568
ด้านโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้มีการก่อสร้างโดยเฉพาะการถมทะเลตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการก่อสร้างระบบรางและระบบเชื่อมโยงต่างๆ รวมทั้งเริ่มดำเนินการถมทะเลเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน
ลงทุนทะลุ 1.7 ล้านล้านบาท
ความก้าวหน้าด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เกิดการลงทุนรวมที่ได้อนุมัติการลงทุนแล้ว มูลค่า 1,722,720 ล้านบาท สำเร็จได้ตามเป้าหมายการลงทุนของอีอีซี ที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาท
แบ่งออกเป็น โครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ มูลค่ารวม 654,921 ล้านบาท ขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยประมาณการจากการออกบัตรส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ มูลค่า 985,799 ล้านบาท การอนุมัติงบบูรณาการอีอีซี 82,000 ล้านบาท
ขณะที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ภายใต้แผนลงทุนอีอีซี ได้กำหนดการขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ วงเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ต่อยอด โครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ (TOD) ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายปีละ 400,000 ล้านบาท
แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน
ทั้งนี้ แผนอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 400,000 ล้านบาท/ปี มากกว่าเดิมที่วางไว้ 300,000 ล้านบาท/ปี เพื่อให้เป็นกลไกหลัก ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5- 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572
ใช้ประโยชน์ 5G ครบมิติ
ภายในพื้นที่อีอีซี วางเป้าหมายในการสร้างชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมให้เกิดโรงงานอัจฉริยะ และพัฒนาทักษะบุคลากร โดยผลักดันให้นำเทคโน โลยี 5G มาใช้ประโยชน์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนด้านดิจิทัลทั่วโลกเข้ามาในพื้นที่
ปัจจุบันจึงมีการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่อีอีซี โดยจะติดตั้งท่อ เสา สาย และสัญญาณ ให้ได้ 100% ในพื้นที่ เพื่อผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานในอีอีซี โรงแรม หน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล กลุ่ม SMEs ให้มาใช้ประโยชน์จากสัญญาณ 5G ปัจจุบันเริ่มทำโครงการนำร่องนำ 5G สร้างประโยชน์ชุมชน โดยผลักดันให้บ้านฉาง และเมืองพัทยา ก้าวสู่ชุมชนอนาคต (Smart city) และในอนาคตจะนำ 5G มาใช้ประโยชน์ในแผนพัฒนาภาคเกษตร เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart farming)
ตลอดจนสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่จาก 5G ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชัน ตลอดจนส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูล ส่งเสริมสตาร์ตอัพ ทำแอปพลิเคชันด้านหุ่นยนต์และออโตเมชัน เป็นต้น
นอกจากนี้ อีอีซีได้ร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ และสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนด้านดิจิทัลให้เข้ามาร่วมพัฒนาทักษะบุคลากร โดยมีความร่วมมือสำคัญกับหัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี บริษัท ซิสโก้ พัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ผ่านการจัดอบรมบุคลากรร่วมกัน ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล กว่า 50,000 คนภายในเวลา 4 ปีข้างหน้า
ยกระดับการลงทุนหลังโควิด
ภายหลังการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกและประเทศต้องระวังผลกระทบที่จะตามมาในพื้นที่อีอีซีได้สร้างแนวทางส่งเสริมการลงทุนใหม่ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 2.อุตสาหกรรมดิจิทัล 3.อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ และ 4.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
โดยวางแผนขับเคลื่อนทั้ง 4 อุตสาหกรรมอยู่ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Circular Economy) และจะทำให้อีอีซี เป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็น เทรนด์สำคัญของโลก เพิ่มแรงจูงใจและรองรับธุรกิจที่จะมาลงทุนต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ได้ผลักดันการลงทุนสำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการเปิดสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ อควาเวิร์ส แห่งแรกของโลก ที่มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก ซึ่งจะพร้อมเปิดดำเนินการภายในเดือน มิ.ย.2565 นี้
ขณะเดียวกัน ได้มีโครงการลงทุนและผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าร่วมกับผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ EVlomo ปตท. และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งจะช่วยกันพัฒนากำลังการผลิตแบตเตอรี่ของประเทศไทยให้ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้ง ดำเนินการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในที่พักอาศัย สถานีบริการในอีอีซี ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ภายในปีหน้า
พัฒนาสังคมดันรายได้ชุมชน
นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา งานที่เป็นหัวใจสำคัญของอีอีซีอีกประการ คือการพัฒนาเชิงสังคมเพื่อยกระดับรายได้ของชุมชน ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันแผนพัฒนาภาคเกษตรให้พื้นที่อีอีซีเป็นต้นแบบการใช้ตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง กำหนด 5 คลัสเตอร์ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ผลไม้-ประมง-พืชชีวภาพ-สมุนไพร-เกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้เกษตรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ
รวมทั้งอีอีซี ยังได้เดินหน้ารักษาเสถียรภาพของราคาผลไม้ในภาคตะวันออกให้กับเกษตรกร ร่วมกับ อบจ.ระยอง และ ปตท. ช่วยรับซื้อผลไม้โดยตรงจากเกษตรกร ขยายช่องทางตลาดภายในประเทศ รวมถึงจัดเตรียมห้องเย็นสำหรับจัดเก็บรักษาผลไม้
พร้อมกันนี้ ได้ยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย วิเคราะห์ DNA และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาทักษะบุคลากร ตามแนวทางสร้างคนให้ตรงกับงาน (EEC Model-Demand Driven Education) ผ่านการขับเคลื่อนคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ซึ่งได้ประมาณการความต้องการบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายสูงถึง 475,668 คน
ในช่วงที่ผ่านมา ได้ดำเนินการฝึกอบรมตามแนวทาง EEC Model จำนวน 8,392 คน แบ่งเป็นการฝึกอบรมแบบ EEC Type A (เอกชนจ่าย 100%) จำนวน 4,660 คน และ EEC Type B (รัฐ-เอกชนร่วม 50-50) จำนวน 3,732 คน ในระยะต่อไปเตรียมจัดอบรม (EEC Type B) อาทิ โครงการฝึกอบรมระยะสั้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้จริง ได้ตั้งเป้าหมายระยะเวลา 2561-2566 รวม 114,542 คน
*******
นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น อีอีซียังมีโครงการอีกมากมาย ตั้งแต่ช่วยให้พ่อค้าแม่ขายที่เจอผลกระทบจากโควิด-19 สามารถกู้เงินได้ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การเร่งเดินหน้ายกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยร่วมกับภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นโครงการนำร่องตามแนวทาง NEO PATTAYA และการเร่งส่งเสริมสินค้าโอทอป ให้ตรงความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ เป็นภาพรวมการทำงานของอีอีซีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ที่ทุกเนื้องานจะใช้วิธีประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน และประชาชน โดยหวังว่าโมเดลลักษณะนี้จะเป็นต้นแบบ การพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และเป็นคำตอบสำหรับอนาคตให้คนไทยทุกคนได้.
ทีมเศรษฐกิจ