เคาะก่อหนี้ใหม่ 4.9 หมื่นล้านบาท ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะรอบ 2

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เคาะก่อหนี้ใหม่ 4.9 หมื่นล้านบาท ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะรอบ 2

Date Time: 13 เม.ย. 2565 06:28 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 2565 รอบ 2 ก่อหนี้ใหม่ เพิ่มขึ้น 49,619.73 ล้านบาท มาจากการกู้เงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้โควิด

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 2565 รอบ 2 ก่อหนี้ใหม่ เพิ่มขึ้น 49,619.73 ล้านบาท มาจากการกู้เงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้โควิด และรัฐวิสาหกิจกู้เงินลงทุน ดันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 62.76% แต่ไม่เกินเพดานหนี้ที่ขยายไปถึง 70%

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,415,103.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,619.73 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,501,163.56 ล้านบาท ลดลง 35,794.42 ล้านบาท 3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 363,269.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,035.29 ล้านบาท

โดยความจำเป็นในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 มีปัจจัยมาจาก 1.การกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถรักษาระดับราคาน้ำมันที่เหมาะสมและไม่กระทบประชาชน 2.การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อบริหารความเสี่ยงวงเงินกู้ต่างประเทศที่คาดว่าจะลงนามสัญญาและหรือรองรับการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น 29,345 ล้านบาท

3.การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง 39,445.05 ล้านบาท อาทิ การรถไฟแห่งประเทศ ไทย จำนวน 1,660.28 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบบรรจุโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 จำนวน 21 โครงการและให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 โดยให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะไปดำเนินการด้วย

น.ส.รัชดากล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังคาดว่า ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายหลังการปรับปรุงแผนในครั้งนี้ จะอยู่ที่ 62.76% ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ทั้งนี้ ประมาณ 70% ของหนี้สาธารณะ จะเป็นเงินกู้เพื่อการลงทุน แบ่งเป็น ด้านคมนาคม 26% ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ 13% ด้านเศรษฐกิจและสังคม 13% ด้านสาธารณูปการ 9% ด้านลงทุนทั่วไป 6% และด้านสาธารณสุข 2%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ