วิกฤติพลังงาน 5 ทิศทาง หน่วงเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติพลังงาน 5 ทิศทาง หน่วงเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

Date Time: 1 เม.ย. 2565 11:01 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 2 ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยชาติตะวันตกเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

Latest


สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 2 ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยชาติตะวันตกเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการจำกัดการเข้าถึงบริการสื่อสารด้านการชำระเงินผ่านระบบ SWIFT ของธนาคารพาณิชย์หลักของรัสเซีย ตามมาด้วยการหยุดซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

แม้แต่สหภาพยุโรปที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ของการบริโภค ก็ประกาศจะทยอยลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นศูนย์ภายในปี 2573

รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก เมื่อช่องทางการค้าน้ำมันของรัสเซียแทบถูกตัดขาดจากนานาชาติ ความกังวลต่อปริมาณน้ำมันโลกที่อาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกย่อมทวีความรุนแรงผลที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีคือราคาพลังงานโลกที่ทะยานสูงขึ้น

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) พุ่งแตะระดับ 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ก่อนปรับลงมาอยู่ระดับปัจจุบันที่ราว 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาพลังงานโลกที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานถึง 75% ของความต้องการพลังงานรวมเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดกำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤติพลังงานรอบใหม่ และกำลังถูกล้อมกรอบด้วยผลกระทบจาก 5 ทิศทาง

ทางที่ 1 ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กำลังซื้อและการใช้จ่ายของครัวเรือนลดลง

เมื่อน้ำมันแพง รายจ่ายของครัวเรือนจะจมไปกับค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และมีเหลือสำหรับใช้จ่ายในด้านอื่นน้อยลง

EIC ประเมินว่า เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้ จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 14 ปี ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.9% นั่นหมายถึงกำลังซื้อโดยเฉลี่ยของครัวเรือนไทยที่จะลดลงในระดับใกล้เคียงกัน

จึงยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่แม้เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น แต่ยังมีแรงงานมากกว่า 6 แสนคนที่ตกงาน แรงงานจำนวนมากมีรายได้ลดลง หรือมีฐานะไม่มั่นคงจากการต้องออกจากระบบประกันสังคมไปทำอาชีพอิสระ

ทางที่ 2 ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนชิ้นส่วน จะกลายเป็นภาระต้นทุนและความเสี่ยงสำคัญของภาคธุรกิจ

นอกจากการส่งออกพลังงานแล้ว รัสเซียรวมถึงยูเครนยังเป็นแหล่งจัดหาและผลิตวัตถุดิบสำคัญในภาคการผลิตและเกษตรกรรม ทั้งโลหะอุตสาหกรรม ธัญพืช อาหารสัตว์ รวมถึงปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยโพแทสเซียมที่ใช้ในการเกษตร

ราคาโภคภัณฑ์จึงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังสงครามประทุขึ้น เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวของภาคธุรกิจ นอกเหนือจากค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติโลก

ยิ่งไปกว่านั้น แพลเลเดียมและก๊าซนีออน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งจัดหาสำคัญถึง 44% และ 70% ของอุปทานโลกตามลำดับ

เมื่อแพลเลเดียมและก๊าซนีออนขาดตลาด จึงส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนชิปที่รุนแรงอยู่แล้วจะหนักขึ้นกว่าเดิม และมีแนวโน้มจะกระทบต่อเนื่องถึงการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นแกนกลางของภาคการผลิตไทยในระยะต่อไป

ทางที่ 3 ได้แก่ ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมากส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเที่ยวบินระยะไกลที่สิ้นเปลืองน้ำมันในอัตราสูง โดยอาจถูกสะท้อนเข้าไปในราคาตั๋วหรือผ่านการเพิ่มค่าธรรมเนียมน้ำมัน (fuel surcharge) แล้วแต่กลยุทธ์ราคาของแต่ละสายการบิน
น่านฟ้ารัสเซียที่ปิดต่อการบินระหว่างประเทศส่งผลให้หลายเส้นทางบินจากยุโรป

โดยเฉพาะสแกนดิเนเวีย ต้องบินอ้อมเพื่อมายังเอเชียรวมถึงไทย บางเส้นทางต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3-4 ชั่วโมง เป็นต้นทุนการเดินทางทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่เพิ่มขึ้นมาก

การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่จะมายังไทยในปีนี้ จึงมีแนวโน้มชะลอลงจากประมาณการเดิมอย่างมีนัย โดยเฉพาะรัสเซียที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดของไทยในช่วงก่อนโควิด ซึ่งคาดว่าจะหายไปจำนวนมากจากเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงและการใช้จ่ายบัตรเครดิตในไทยที่จะประสบปัญหาจากการยุติธุรกิจของ Visa และ Mastercard ในรัสเซีย

ทางที่ 4 คือภาระด้านการคลังที่หนักขึ้นจากการอุดหนุนราคาขายปลีก
การตรึงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลไว้ที่ระดับ 30 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล

EIC ประเมินว่า ณ ราคาโลกปัจจุบัน ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลตามโครงสร้างราคาปกติจะอยู่ที่ราว 38-39 บาทต่อลิตร เท่ากับว่า รัฐต้องใช้เงินอุดหนุนดีเซลผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิตถึงเกือบ 9 บาทต่อลิตร

และหากยังตรึงราคาดีเซลไว้ที่ระดับเดิม รวมถึงยังอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ต่อเนื่อง อาจกลายเป็นภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2.6 แสนล้านบาทเฉพาะในปีนี้ เทียบเท่างบประมาณรายจ่ายทั้งปีของกระทรวงการคลัง และสูงกว่างบฯ ทั้งปีของกระทรวงสำคัญอย่างกลาโหม คมนาคม และสาธารณสุข

คำถามที่สำคัญที่ตามมาคือ การอุดหนุนดังกล่าวคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และตรงตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐในการลดภาระของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือไม่

ทางที่ 5 คือผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดและความผันผวนของค่าเงินบาท เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของประเทศพุ่งสูงขึ้นจากผลของราคาเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของประเทศ ทำให้บัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องในปีนี้

ผลของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคือเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก และอาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน และผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงในเศรษฐกิจตนเองที่ได้ฟื้นตัวไปก่อนหน้านี้

แม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่ผันผวนแรงเนื่องจากไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี เพียงพอสำหรับการดูแลค่าเงิน แต่เงินบาทที่อ่อนค่าอาจส่งผลอีกระลอกต่อต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบนำเข้า เป็นปัจจัยเร่งเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง

ด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในหลายด้าน EIC จึงปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาอยู่ที่ 2.7% จากเดิม 3.2% โดยเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวกลับไปเท่าระดับก่อนโควิดกระทั่งครึ่งปีหลังของปีหน้า

ปี 2565 นี้จึงจะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายอย่างยิ่ง


บทความ โดย ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ