ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ประชุม กนง. 30 มี.ค. 65 นี้ ยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ประชุม กนง. 30 มี.ค. 65 นี้ ยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5%

Date Time: 30 มี.ค. 2565 08:42 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ประชุม กนง. วันที่ 30 มี.ค. 65 นี้ ยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% โดย กนง. น่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ประชุม กนง. วันที่ 30 มี.ค. 65 นี้ ยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% โดย กนง. น่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้ราคาพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งไปเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของไทย และไปบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีความเปราะบางอยู่แต่เดิมจากผลกระทบของโควิด-19

นอกจากนี้ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ยังมีผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของไทย ที่ปัจจุบันพึ่งพานักท่องเที่ยวจากยุโรปอย่างมากในช่วงที่จีนยังคงปิดประเทศ อีกทั้งยังจะกระทบการส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นสำคัญ

ดังนั้น ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่า กนง. จะยังพิจารณาคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในการประชุมที่จะถึงนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดย กนง. คงจะให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี กนง. คงเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ท่ามกลางแนวโน้มราคาพลังงานที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 4.5%

ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่เร่งสูงขึ้นในตลาดโลกได้ส่งผลให้ภาระค่าเชื้อเพลิงและค่าขนส่งในประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่มาตรการภาครัฐที่ช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและการขนส่ง อาจจะทำได้ในระยะสั้นๆ เนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลให้ผู้ผลิตเผชิญกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 9.4% ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ผลิตบางรายอาจทยอยส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ไปยังราคาสินค้าผู้บริโภค

ในท้ายที่สุดส่งผลให้เงินเฟ้อนั้นเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก อีกทั้งจะยิ่งไปบั่นทอนการบริโภคและการลงทุนไปมากกว่าเดิม

ดังนั้น คาดว่า กนง. คงจะยังไม่พิจารณาเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ ขณะที่นโยบายการคลังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาผลกระทบของครัวเรือนจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

ขณะที่ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คงจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี

จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ครั้งที่ผ่านมา เฟดได้เริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นโดยมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 0.25-0.50% อีกทั้ง เฟดยังได้ส่งสัญญาณจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งในระยะข้างหน้า

โดยช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น รวมถึงหากเงินเฟ้อในไทยยืนในระดับสูงต่อเนื่องจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยติดลบมากขึ้น เป็นการเปิดความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพการเงิน ดังนั้น กนง. คงพิจารณาสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นรอบๆ ไป โดยชั่งน้ำหนักความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันเงินทุนไหลออก รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งแรงกดดันน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม หากภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ฟื้นตัวตามที่คาดเนื่องมาจากผลกระทบจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมิน เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงอาจเผชิญการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบอีกครั้งในปีนี้ ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าไปอีก

ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. ครั้งนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดคงจะต้องติดตามการปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของ กนง. เนื่องจากจะเป็นการสะท้อนมุมมองของ กนง. ในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. คงจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงไม่มากนักจากประมาณการเดิม ณ เดือน ธ.ค. 64 ที่ 3.4% แต่หาก กนง. มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ