“เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร” ในช่วงที่มีปัญหารุมเร้ามากมาย ทั้งจากผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานมากว่า 2 ปี ยิ่งในขณะนี้ เรามีผลกระทบเพิ่มขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างยูเครน และพันธมิตรชาติตะวันตก กับรัสเซียมาซ้ำเติมอีก ส่งผลให้ความพยายามในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยากลำบากมากขึ้น
และแม้ว่าจะไม่รวมผลกระทบเฉพาะหน้าที่เราเผชิญอยู่เหล่านี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ตระหนักดีว่า “เศรษฐกิจไทย” เป็นเศรษฐกิจที่มีปัญหาเดิมสะสมมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และมีความเปราะบางเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องการการแก้ไขยกเครื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
คำตอบของคำถามนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ การเงิน การคลังคนหนึ่งของไทยที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวฝ่าฟัน “วิกฤติเศรษฐกิจไทย” มาหลายต่อหลายครั้ง
และในครั้งนี้ เราได้ให้นิยามที่ชัดเจนสำหรับเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวคิดที่น่าสนใจที่ว่า “เศรษฐกิจไทย” ต้องใช้ “ยุทธศาสตร์ใหม่” สร้างเศรษฐกิจสำหรับอนาคต (Future Economy) เพื่ออยู่รอดระยะยาว
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเสีย “สมดุล”
ดร.วรพลเริ่มต้นให้สัมภาษณ์ โดยมองว่า “เศรษฐกิจไทยขณะนี้มีปัญหารุมเร้าทั้งปัจจัยภายนอก ภายใน และปัญหาเชิงโครงสร้าง”
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความไม่สมดุล เพราะพึ่งพิงต่างประเทศสูง พึ่งการส่งออกและท่องเที่ยวมากกว่า 75% มีกำลังเศรษฐกิจในประเทศเพียง 25% จึงมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยนอกประเทศมาก รวมทั้งยังได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจปี 2565 คาดว่ามีอัตราเติบโตต่ำกว่า 3.5% ต่ำสุดในอาเซียน
“คาดว่าเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาจะเติบโตประมาณ 5% จีนเติบโต 7.5% อินเดียเติบโตประมาณ 8% อาเซียนเติบโตเฉลี่ย 5.5% แต่ไทยเติบโตน้อยกว่า เพราะปัจจัยภายนอกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไม่สมดุล ต้องพึ่งพิงภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว และตลอดระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการพัฒนาปรับโครงสร้างให้เศรษฐกิจภายในเข้มแข็งขึ้น และมีสัดส่วนเศรษฐกิจภายในเพิ่มขึ้น”
ภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ไม่มีนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้าและบริการ และไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงได้ สินค้าส่งออกหลักยังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐาน เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันปาล์ม ยิ่งไปกว่านั้นสินค้า ที่มีนวัตกรรมพอจะแข่งขันระดับสากลก็มีจำนวนจำกัด และไทยเริ่มสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่ง
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโน โลยีเป็นหลักเริ่มลดลง และได้ทยอยย้ายฐานไปลงทุนในประเทศคู่แข่ง เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนนวัตกรรมและขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักท่องเที่ยวที่เคยมี 40 ล้านคนต่อปี แต่ในปี 2565 คาดว่าจะเหลือต่ำกว่า 5% สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปมากกว่า 200,000 ล้านบาท
ภาคประชาชนอ่อนแอ-รัฐวิกฤติรุมเร้า
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนอยู่ในสถานะที่อ่อนแอลง เห็นได้จากภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงถึง 14 ล้านล้านบาท ประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในขณะนี้ประชาชนมีรายได้ ต่อคนต่อปีต่ำ โดยเฉลี่ยเพียง 200,000 บาทต่อคนต่อปี และมีความแตกต่างระหว่างรายได้สูง ขณะที่จังหวัดระยอง ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี หนองบัวลำภู กลับมีรายได้เพียง 50,000 บาทต่อคนต่อปี ประชาชนรายได้ต่ำจึงไม่อาจอยู่ได้
“ภาระหนี้สินสูง ประกอบกับการระบาดของโควิด ทำให้ธุรกิจต้องปิด ประชาชนว่างงานจำนวนมาก ประกอบกับขาดทักษะวิชาชีพสำคัญที่จะเข้าตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และขาดความสามารถในการประกอบอาชีพอื่น ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมขาดการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่มีระบบการผลิตที่ทันสมัย ไม่มีนวัตกรรม”
ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะที่ขาดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ล้ำหน้า มีมูลค่าสูงแข่งขันระดับโลกได้ อีกทั้งไม่สามารถหาบุคลากรที่มีความสามารถในงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงไม่อาจขยายการจ้างงาน และการลงทุน
ขณะที่ “ภาครัฐ” วันนี้ มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหลายด้าน ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยโควิด มีรายจ่ายงบประมาณเกินกว่ารายรับมาก ต้องบริหารงบประมาณแบบขาดดุล ออกพันธบัตรกู้ยืมเงินปีละมากกว่า 500,000 ล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะสะสมรวมใกล้ 10 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นวงเงินที่สูงมาก เพราะแม้หากสามารถพัฒนาให้เศรษฐกิจเติบโต ธุรกิจและประชาชนมีรายได้เพิ่ม สามารถเสียภาษีให้รัฐเป็นรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้นได้อีกปีละ 100,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้คืนหนี้เงินต้น ยังต้องใช้เวลานานถึงเกือบ 100 ปี
ทั้งหมดนี้ ถือเป็น “ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง” และเป็นปัจจัยรากฐานของปัญหาเศรษฐกิจไทยจึงจำเป็นต้องมี “ยุทธศาสตร์ใหม่” เพื่อสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคต
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
ทั้งนี้ “ยุทธศาสตร์ใหม่” จะต้องแก้ไขปัญหาที่กำลังรุมเร้าเฉพาะหน้า และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากปัญหาการขาดดุลงบประมาณสะสม เป็นหนี้สาธารณะจำนวนมากต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น ต้องปรับโครงสร้างเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการจ้างงานสูง ภาคเอกชนและประชาชนมีรายได้ เพิ่มมาเสียภาษีมากขึ้น ทำให้รัฐมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งทำได้ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่เรียกว่า “CIC โมเดล”
ยุทธศาสตร์ที่ 1 C = Connectivity Based Economy โดยไทยต้องใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และยุทธภูมิที่ได้เปรียบ ที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และอยู่ระหว่าง 2 มหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยมากกว่า 6% และเป็นตลาดขนาดใหญ่ ทั้งประเทศจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคนกับประเทศอินเดีย 1,300 ล้านคน และอยู่ศูนย์กลางอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน
“ประเทศไทยมีตลาดที่กำลังซื้อสูงรอบข้างมากกว่า 3,300 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หากพัฒนาความเชื่อมโยงด้วยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากยุทธภูมิและยุทธศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นในการเกื้อหนุนให้เรากลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทาง ท่องเที่ยว การค้า การขนส่ง ไทยจะกลายเป็น Logistic Hub นานาชาติ เป็นศูนย์กลาง (Hub) กระจายสินค้าในภูมิภาค เป็น Hub สำนักงานภูมิภาคขององค์กรธุรกิจข้ามชาติ ศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ Work from Home Hub และ Workation Hub”
ยุทธศาสตร์ที่ 2 I = Innovation Based Economy ไทยต้องพัฒนาเศรษฐกิจที่นำด้วยนวัตกรรม ต้องใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการให้มีคุณค่าเพิ่มเหนือคู่แข่งขัน จึงจะแข่งขัน ในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 C = Creativity Based Economy ไทยต้องพัฒนาเศรษฐกิจด้วยฐานความคิดสร้างสรรค์ ด้วยภูมิปัญญา ศิลปะประเพณี อาหาร หัตถกรรม ทุนและมรดกทางวัฒนธรรม ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สามารถยกระดับเป็นเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft power)
ยกระดับ 5 เทคโนโลยี 10 คลัสเตอร์
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 ฐาน สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับอนาคตได้สำเร็จ เราจะต้องเร่งพัฒนายกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี 5 ด้านหลัก สร้าง 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอนาคตของประเทศขึ้น พร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสามารถแข่งขันในตลาดโลก สร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้อย่างก้าวกระโดดให้กับประเทศ
โดย ด้านที่ 1 คือ การยกระดับเทคโนโลยีด้านอาหาร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนา 2 คลัสเตอร์ที่สำคัญขึ้น 1.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ และ 2.คลัสเตอร์เทคโนโลยีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ
ด้านที่ 2 เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข สุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะทำให้ไทยพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทุกด้าน
ด้านที่ 3 เทคโนโลยีด้านเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเลกทรอนิกส์ควบคุม จะทำให้เกิด 3 คลัสเตอร์สำคัญคือ 1.คลัสเตอร์อุตสากรรมหุ่นยนต์ 2.คลัสเตอร์อุตสากรรมยานยนต์สมัยใหม่ และ 3.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์นานาชาติ
ด้านที่ 4 เทคโนโลยีด้านดิจิทัลเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว จะพัฒนาให้เกิด 2 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสำคัญ 1.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและ AI และ 2.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล
ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญมาก เพราะจะทำให้โลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สู่การเชื่อมต่อที่ไร้ขอบเขตและพบกันได้โดยไร้ตัวกลาง โลกจินตนาการจะเป็นจริง รัฐต้องบุกเบิกเชื่อมโยงให้เกิดดิจิทัล แพลตฟอร์มของเราเองจะได้ไม่ต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มต่างชาติ จนกลายเป็นอาณานิคมทางดิจิทัลของชาติอื่น
สุดท้าย ด้านที่ 5 เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง จะส่งเสริมให้เกิด 2 คลัสเตอร์ คือ 1.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมูลค่าสูง และ 2.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมซอฟต์ เพาเวอร์
โดยรัฐต้องปรับบทบาทใหม่มาเป็นดั่งหุ้นส่วนที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary Partner) ที่ชัดเจน แม่นยำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนจะเดินตามข้ามมหาสมุทรของปัญหาสู่เป้าหมายความสำเร็จ
ต้องปรับบทบาทมาเป็นนักพัฒนา ใช้การกำกับน้อยลง เพราะการพัฒนาที่ดีจะนำไปสู่การกำกับที่ดีได้เช่นกัน การพัฒนาเท่านั้นที่จะเกิดสัมฤทธิผลในการขับเคลื่อน ปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจสำหรับอนาคต
“ต้องเห็นก่อนใคร ต้องมองไกลกว่า เปิดทางประสานทุกภาคส่วน ร่วมเดินไปด้วยกันทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และประชาชน”
ใช้เงินจาก “ตลาดทุน” พัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะการณ์ที่รัฐบาลมีภาระงบประมาณแผ่นดินขาดดุลมาก และมีหนี้สาธารณชนเพดาน การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเชิงพาณิชย์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ดร.วรพลเสนอให้ใช้กลไกตลาดทุนซึ่งทันสมัย เป็นสากล มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมสูง เป็นกลไกรวมทุนทั่วโลกมาร่วมพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านการจัดตั้งกองทุน 3 ประเภท กับ 1 ตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ 1.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ใช้ระดมทุนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบทางพิเศษ ระบบราง ระบบสนามบินท่าเรือ ระบบสื่อสารดิจิทัล
2.กองทุนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Economy Fund) กำหนดกลยุทธ์เทคโนโลยี และ Road Maps สนับสนุนการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจสำหรับอนาคตตั้งกองทุนเงินร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพทางเทคโนโลยี (Tech Startups Fund) สนับสนุนเครดิตภาษี ผ่อนปรนกฎเกณฑ์บางข้อ เพื่อจูงใจนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนา บ่มเพาะบริษัท Tech Firms เข้าระดมทุนในตลาดทุนต่อไป
3.กองทุนปรับโครงสร้างการศึกษาและพัฒนาทักษะวิชาชีพใหม่ (Future Skills Fund) ซึ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสำหรับอนาคต ยกตัวอย่าง หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น เนเธอร์แลนด์ มากกว่า 1 ใน 4 ของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแต่ละปี เป็นผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการมีบุคลากรที่มีคุณภาพมากพอ เป็นปัจจัยหลักดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนประเมินว่า ขณะนี้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้าน AI 5,000 คน หากไทยต้องการเป็นเทคโนโลยี Hub ของภูมิภาค
และที่สำคัญมาก คือ การตั้งตลาดหลักทรัพย์ใหม่ขึ้นมาสำหรับบริษัทเทคโนโลยี (Stock Exchange for Tech Firms) แห่งภูมิภาค เป็นศูนย์กลาง การระดมทุนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีในเอเชีย
“วันนี้รัฐบาลต้องบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมกับปรับโครงสร้าง ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้อยู่รอด ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ประชาชน ต้องไปด้วย เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจสำหรับอนาคตให้ประเทศไทย” ดร.วรพลกล่าวทิ้งท้าย.
ทีมเศรษฐกิจ