เส้นทางปั้น meb ของ 2 เพื่อนซี้เด็กวิศวะ จุดนัดพบเชื่อมคนอ่านและคนเขียน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เส้นทางปั้น meb ของ 2 เพื่อนซี้เด็กวิศวะ จุดนัดพบเชื่อมคนอ่านและคนเขียน

Date Time: 15 มี.ค. 2565 08:04 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ถ้าไม่มี E-Book เป็นหัวหอกทะลวงฟัน ก็จะไม่มีคนเข้าถึงหนังสือ ผู้บริโภคจะเลือกไปเสพสื่ออย่างอื่นแทน ฉะนั้นอีบุ๊กและหนังสือเล่ม ต้องสามัคคีกันให้ดีเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน

Latest


  • รู้จัก meb และ readAwrite แพลตฟอร์มยอดรักของนักอ่านและนักเขียน
  • E-Book เป็นเป็นอีโคซิสเท็มที่ทำให้นักอ่านและนักเขียนมาเจอกัน โดยมีขั้นตอนให้ยุ่งยากน้อยที่สุด
  • ถ้าไม่มี E-Book เป็นหัวหอกทะลวงฟัน ก็จะไม่มีคนเข้าถึงหนังสือ ผู้บริโภคจะเลือกไปเสพสื่ออย่างอื่นแทน ฉะนั้นอีบุ๊กและหนังสือเล่ม ต้องสามัคคีกันให้ดีเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน

มีผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนนับถือบอกไว้ว่า "ถ้าเราทำอะไรสักอย่างด้วยความรัก เราจะรู้สึกสนุก และมีความสุขกับมัน แม้จะมีอุปสรรคเข้ามา แต่เราจะพยายามเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้"

ครั้งแรกที่ได้ฟังก็รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในโลกของนิยาย แต่พอได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณโก๋ กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม และคุณไช้ รวิวร มะหะสิทธิ์ สองผู้บริหารจากบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่หลายคนรู้จักดีผ่านแพลตฟอร์ม meb และ readAwrite ทำให้ผู้เขียนกลับมานึกถึงประโยคข้างบนอีกครั้ง

เพราะการสัมภาษณ์ครั้งนี้เราสัมผัสได้ถึงความรัก และความใส่ใจในการทำงาน ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตัวแพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งคู่ยังช่วยทำจุดเชื่อมโยงจรรโลงสังคมระหว่างนักเขียน และนักอ่านในสังคมไทยอีกด้วย 

ปัจจุบัน meb ที่เน้นขาย E-Book มีหนังสือออนไลน์ที่วางอยู่ในแพลตฟอร์มประมาณ 200,000 title มีผู้ใช้งานเกือบล้านคน ส่วน readAwrite มีนิยาย หรืองานเขียนประมาณ 1 ล้านไทเทิล ผู้ใช้งานประมาณ 18 ล้านคน

ถ้าถามเรื่องรายได้ของทั้งสองแพลตฟอร์มนั้นก็เรียกได้ว่าเติบโต และมีอนาคตที่สดใส เพราะล่าสุด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเมพ มีแผนผลักดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET ในปีนี้

เหนือสิ่งอื่นใดบทสัมภาษณ์นี้จะไม่เจาะลึกเรื่องรายได้ของบริษัท แต่จะขอเจาะลึกเรื่องแนวคิด วิธีการทำงานที่น่าสนใจการทำ meb และ readAwrite ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในใจของผู้อ่าน และนักเขียนในตลอดหลายปีที่ผ่านมาท่ามกลางการแข่งขันในสมรภูมิ Digital content

จากหนังสือเล่มสู่วงการ E-Book

ทั้งคู่เริ่มต้นเล่าจุดเริ่มต้นของการทำแพลตฟอร์ม meb ให้เราฟังว่า เราเรียนวิศวะมาด้วยกัน และมีจุดที่เหมือนกัน คือ เป็นคนชอบอ่านหนังสือมากๆ เลยมานั่งคุยกันว่าเปิดสำนักพิมพ์กันไหม และช่วงนั้นเราทำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการทำหนังสืออยู่ เช่น โปรแกรมการจัดหน้า โปรแกรมช่วยตรวจคำผิด

ด้วยความที่ทำหนังสือ เราจึงเห็นขั้นตอนกระบวนการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มอย่างชัดเจน ตั้งการเขียน การตรวจต้นฉบับ การจัดหน้า การปรู๊ฟ การพิมพ์ ไปถึงสายส่ง จนถึงปลายทาง คือ ร้านหนังสือ

เราจึงได้เห็น Pain Point หรือจุดเจ็บปวดว่า ร้านหนังสือมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการรองรับจำนวนหนังสือมหาศาลที่หลั่งไหลมาจากหลายๆ สำนักพิมพ์ไม่ค่อยได้ แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามา เราจึงมองว่า อีบุ๊กน่าจะเข้ามาตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เพราะพื้นที่ไม่มีจำกัด ไม่ต้องดูแลจัดการสต๊อกหนังสือ ที่สำคัญไม่ต้องพิมพ์เป็นเล่ม เพราะต้นทุนที่สำคัญของคนทำหนังสือ คือ ขั้นตอนการพิมพ์

รวิวร ขยายความ Pain Point ของคนทำหนังสือเล่มอีกว่า หนังสือที่วางขายในร้านหนังสืออายุสั้นมาก ส่วนใหญ่สำนักพิมพ์ต้องประเมินไว้อยู่แล้วว่า หนังสือที่จะวางขายนี้ยอดขายจะดีหรือไม่ดี แต่ถ้าเราประมาณการผิด ปรากฏว่าเล่มนี้ควรขายดี แต่กลับขายไม่ค่อยได้ หนังสือเล่มนั้นก็จะถูกไปเก็บไว้ชั้นที่ไกลออกไป เพียงไม่นานเขาก็จะหันสันเล่มออก จากนั้นหนังสือก็จะถูกตีกลับมายังสำนักพิมพ์

ตอนผมทำสำนักพิมพ์ พวกเราพิมพ์หนังสือนิยายไซไฟ และก็จะเห็นว่าหนังสือที่ขายไม่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นเล่มต่อๆ ไป เช่น เล่มสาม เล่มสี่ นักอ่านที่ซื้อเล่มหนึ่งจะมาหาเล่มที่สอง ก็ไม่ทันจะซื้อเล่มต่อ เพราะถูกตีกลับสำนักพิมพ์ไปแล้ว เรียกได้ว่าคนอยากซื้อก็ไม่ได้ซื้อ

"ยุคนั้นยังไม่มีอีคอมเมิร์ซ พอตอนหนังสือโดนตีกลับ พอไม่ได้อยู่ที่ร้านหนังสือ มันก็จบ เราจะเห็นได้ว่าเส้นทางการขายหนังสือเล่มมันสั้น ซึ่งถ้าขายไม่ได้สำนักพิมพ์ก็จะเก็บเอาไว้ไปวางขายในงานหนังสือที่มีแค่ปีละสองครั้ง เราจึงมองว่าการมี E-Book จะทำให้นักเขียน และสำนักพิมพ์ มีเวลาในการขายหนังสือมากขึ้น"

กิตติพงษ์ บอกว่า จริงๆ แล้ว E-Book เป็นอีโคซิสเท็มที่ทำให้นักอ่านและนักเขียนมาเจอกัน โดยมีขั้นตอนให้ยุ่งยากน้อยที่สุด เราอยากให้ meb เป็นจุดที่นักเขียน และนักอ่านต่อตรงกันได้ อยากให้ meb เป็นที่ขายหนังสือเยอะๆ อยากให้ meb เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ของนักเขียน หรือสำนักพิมพ์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

การเปลี่ยนแปลงจากหนังสือเล่มสู่ E-Book นั้นจะเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ยอมรับ และปรับตัวเข้าหากัน ทั้งนักอ่าน นักเขียน และสำนักพิมพ์ แต่ก่อนก็ต้องยอมรับว่า สำนักพิมพ์ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ E-Book มากนัก แต่พอเวลาผ่านไป ก็จะค่อยๆ เห็นว่า อีบุ๊กได้เข้ามาเสริมหนังสือเล่มมากขึ้น

ลองจินตนาการดู เราเข้าไปในร้านหนังสือขนาดใหญ่ เราจะเห็นหนังสือวางขายอยู่ประมาณ 30,000 เล่ม แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนังสือในเมืองไทยมีเป็นแสนๆ เล่ม แต่ถูกเอามาวางในเชลฟ์ขายแค่ 3 หมื่นเล่มนั่นหมายความว่า นักอ่านมีทางเลือกในการอ่านอย่างจำกัด เล่มขายดีอยู่ที่ร้าน เล่มที่ขายได้น้อยก็จะถูกหันสัน แต่ถ้าขายได้น้อยมากๆ ก็จะถูกตีกลับสำนักพิมพ์

รวิวร เสริมว่า ช่วงแรก E-Book ที่ขายได้ส่วนใหญ่มาจากคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ รวมถึงหนังสือเก่าๆ ที่ไม่มีนำกลับมาพิมพ์แล้ว ก็มาทำอีบุ๊กได้ ครั้งแรกที่เราทำแพลตฟอร์ม meb คือปีที่น้ำท่วมใหญ่ หรือปี 2554 ทำให้มองอีกมุมว่า ซื้อหนังสือก็ไม่ได้จีรังขนาดนั้น เพราะนอกจากจะต้องระวังปลวกแล้ว ก็ต้องระวังน้ำอีกต่างหาก

จาก meb สู่ readAwrite

สำหรับ readAwrite หรือ รี้ดอะไร้ต์ นั้นเราทำแพลตฟอร์มนี้มา 3 ปีแล้ว เริ่มจากทำเมพได้ 6-7 ปี เราก็มองเห็นว่า อีบุ๊กน่ะโอเคแล้ว และอีบุ๊กถือเป็นปลายน้ำของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ นักเขียนอาจจะทำนิยายเป็นตอนๆ ไปลงในแพลต์ฟอร์มอื่นๆ เช่น เว็บนิยาย เมื่อเขียนจบแล้วก็มาเปิดขายมาเป็นอีบุ๊ก จุดนี้เองที่เรามองว่า นักเขียนไม่ได้อยู่กับเราแต่แรก

โดยต้นน้ำเหล่านี้เป็นที่ให้นักเขียนลงงานฟรี ให้นักอ่านได้เสพฟรีๆ แน่นอนว่านักเขียนก็ไม่ได้มีรายได้อะไร เหมือนเป็นที่ให้นักเขียนปล่อยของ แต่เราอยากสร้างต้นน้ำที่ดีให้นักเขียน ให้พวกเขาสามารถหารายได้เลี้ยงชีพกับมันได้ด้วย ทั้งนี้ เรามองว่าถ้าทำ readAwrite ขึ้นมาจะทำให้เราสามารถดูแลนักเขียนได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งจะเป็นภาพรวมที่ดีของวงการจึงเปิดรี้ดอะไร้ต์ขึ้นมา

"เราเข้าใจคนทำเขียนหนังสือ ตัว readAwrite จึงแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับนักเขียนที่ค่อนข้างเป็นธรรม พอนักเขียนลงงานให้อ่านฟรี พอมาจุดหนึ่งนักอ่านอยากจ่ายให้นักเขียน อยากโดเนตสนับสนุนให้นักเขียนโดยตรง ที่ไม่ใช่จ่ายให้แพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว"

readAwrite จะดูประสบการณ์ผู้ใช้ โดยเฉพาะนักอ่าน ซึ่งเราทำแพลตฟอร์มนี้ไม่ให้มีโฆษณา และเราก็เป็นเจ้าแรกในเมืองไทยที่เปิดให้นักอ่านโดเนตให้นักเขียนได้ ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่านักเขียนหลายคนเข้าใจดี บางคนให้อ่านฟรีจบเรื่อง ก่อนทำเป็น E-Book นักอ่านก็ซาบซึ้ง เราจะได้เห็นคอมเมนต์ขอบคุณจากนักอ่าน เราจึงหาวิธีช่องทางที่นักอ่านจะสนับสนุนให้กับนักเขียน โดเนตก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ดี และเราก็ให้เปอร์เซ็นต์นักเขียนค่อนข้างเยอะ

รวิวร อธิบายเพิ่มว่า จริงๆ แล้ว รี้ดอะไร้ต์ไม่ใช่ตัวหารายได้หลักของเรา แพลตฟอร์มนี้เหมือนเราทำ CSR ให้กับเมพมากกว่า เราตั้งใจทำให้รี้ดอะไร้ต์อยู่ได้ด้วยตัวเอง

"แต่ถ้าถามว่ามีกำไรอะไรไหม ก็แทบจะไม่ได้กำไรเท่าไร เพราะทราฟฟิกมหาศาลมาก ค่าจัดการต่างๆ สูงกว่าเมพเยอะ เรารู้ว่าถ้าหากเราทำอีโคซิสเท็ม readAwrite ให้ดี นักอ่าน นักเขียนก็จะมาซื้อขายกันในเมพเอง หลักๆ เลยอยากให้ทั้งคู่รู้สึกดี เราจึงไม่มีโฆษณา ขาดทุนไม่เป็นไร แต่คนใช้ต้องรู้สึกดี อันนี้เป็นเป้าหมายของเราแต่แรก 3 ปีที่ผ่านมา readAwrite ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องทราฟฟิก และหมวดต่างๆ ที่ไทยยังไม่มีคนกลุ่มนี้ แต่เราก็ได้มาแล้ว"

อย่างตอนไฟไหม้กิ่งแก้ว นักเขียนได้ใช้รี้ดอะไร้ต์เป็นแพลตฟอร์มแจ้งข่าวไฟไหม้ ตอนนั้นทราฟฟิกเรา Lag ทันทีที่นักเขียนยิงโนติแจ้งข่าว เพราะมีผู้เข้ามาใช้งานมากเป็นหลายสิบเท่า แต่เราก็รู้สึกดี เพราะเขามาช่วยสังคม กลายเป็นสังคมออนไลน์ในอีกรูปแบบ ดีใจมากๆ ทำให้ผมรู้สึกว่านักอ่าน และนักเขียนนี่เขาเก่งมากๆ เลยนะ ที่นำแพลตฟอร์มมาปรับใช้ และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์

ส่วนตัวช่วยตรวจปรู๊ฟภาษาไทยใน readAwrite เราสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนสังคมนักเขียนเต็มรูปแบบ เราไม่มีแบนเนอร์โฆษณาซึ่ง หลายคนก็มาถามบอกใส่โฆษณาก็ได้ อยากให้เครื่องมือนี้อยู่นานๆ กลัวเราจะไม่ทำแล้ว ก็ยืนยันว่าจะทำต่อไป

แบ่งรายได้ให้นักเขียนอย่างเป็นธรรม

readAwrite เป็นแพลตฟอร์มให้อ่านฟรีมากกว่าขาย ทำให้รี้ดอะไร้ต์มีกลุ่มคนในหลากหลายระดับตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น นักเรียน จนถึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ในขณะที่ meb จะเน้นขายมากกว่าจึงทำให้ผู้คนที่วนเวียนอยู่ในเมพจะเป็นคนที่มีกำลังซื้อ เช่น วัยทำงาน

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของรี้ดอะไร้ต์ เราตั้งธงแต่แรกแล้วว่า จะไม่เน้นการหารายได้ แต่ต้องการให้รี้ดอะไร้ต์ เป็นแพลต์ฟอร์มต้นน้ำสำหรับนักเขียน เป็นจุดที่นัดพบที่นักอ่านและนักเขียนได้มาจอยกัน รี้ดอะไร้ต์จึงยังไม่มีนัยสำคัญต่อรายได้

กิตติพงษ์ บอกว่า รูปแบบการแบ่งรายได้ให้กับนักเขียน และสำนักพิมพ์นั้น เรากำหนดตั้งแต่วันแรกว่าเราต้องเป็นธรรม เราก็ไม่เคยดูคู่แข่งว่าเขาจะแบ่งรายได้ให้มากน้อยกับนักเขียนอย่างไร จากนั้นไม่นานนักเขียนและสำนักพิมพ์ก็ค่อยๆ ปรับมาที่เรา

ยกตัวอย่าง เช่น รี้ดอะไร้ต์ เราจ่ายรายได้จากการที่นักอ่านโดเนตให้กับนักเขียนนั้น เราหักเพียง 10% ส่วนที่เหลือ 90% เป็นของนักเขียน ส่วนการขายนิยายเป็นตอนเราจ่าย 70% เพื่อให้นักเขียนอยู่ได้

ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยเห็น บางแพลตฟอร์มที่ให้ลงนิยายฟรี แต่เขาไม่ได้มีรายได้ให้นักเขียน และเอาทราฟฟิกไปขายโฆษณา เราไม่ได้จะบอกว่าไม่ดี แต่มันเป็นข้อเท็จจริงยุคนั้น ซึ่งนักเขียนก็มองว่าโอเค เพราะเปิดพื้นที่ให้ลงฟรี เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน

แต่เราก็มานึกนะว่าจะมีวิธีไหนที่จะช่วยให้นักเขียนอยู่ได้ ซึ่งรายได้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการเขียน ฉะนั้นเวทีนี้ก็ต้องแฟร์กับนักเขียนไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่รายเล็ก สิ่งหนึ่งที่รี้ดอะไร้ต์ทำไว้ คือ การจ่ายเงินให้นักเขียน

แม้เขาจะมีรายได้จากงานเขียนเพียง 100 บาท เราก็จ่ายให้ทันที ลองนึกภาพตามหากคุณเป็นนักเขียนรุ่นจิ๋ว มีรายได้ 100-300 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ใหญ่ดูไม่เยอะ แต่ถ้าเป็นเด็กม.ต้น หรือ ม.ปลาย เขาก็มีเงินพิเศษจากค่าขนมที่ได้จากผู้ปกครอง เอาเป็นค่าขนมพิเศษ ค่าตำราเรียน เป็นต้น

"ส่วนนักเขียนที่ได้มีรายได้หลักหลายแสน พวกผมทั้งสองคนก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ"

รวิวร กล่าวเสริมว่า พวกเราพยายามทำรูปแบบการจ่ายเงินให้ง่าย โดยเฉพาะการไม่ต้องวางบิล หรือต้องมาคอยรับเช็คในอีก 2 อาทิตย์ถัดไป ซึ่งพวกเราพยายามแก้ไขในเรื่องนี้มาตลอด ด้วยความที่เราเคยเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ มาก่อน บางทีก็คิดว่า ทำไมต้องใจร้ายกับนักเขียนขนาดนั้น ช่วยทำระบบง่ายๆ ให้ได้ไหม

เราก็เลยเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ ถ้ายอดถึงก็จ่ายเงินได้เลย ไม่ต้องวางบิล ก็เลยต่างกับบริษัทใหญ่ๆ เราคิดอยู่เสมอนักเขียนไม่ใช่คนตัวใหญ่ สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มีไม่กี่ราย ที่เขาจะทำอย่างนั้นได้ คู่ค้าเรามีหลักแสนคน ทำไมต้องให้หลายร้อยหลายพันมาวางบิล ไม่ต้องวางบิลก็ถึงเวลาก็จ่ายได้เลย

"พวกผมเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ เพราะเราเคยทำสำนักพิมพ์เล็กๆ มาก่อน ถ้าเราไม่ชอบอะไรก็อย่าไปทำอย่างงั้นกับคนเขียน และคนอ่านของเรา"

แพลตฟอร์มการอ่านที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

ยุคแรกสำนักพิมพ์มักกังวลกลัวอีบุ๊กจะมาแย่งตลาดกัน แต่ในเวลาต่อมาเราเห็นว่า ไม่ได้แย่งตลาดแต่เป็นการเติบโตไปได้วยกัน ถ้าเราไม่เลือกขายอีบุ๊กเลยจะเสียมากกว่าได้เพราะมีนักอ่านจำนวนหนึ่งที่มองว่าถ้าคุณไม่มีอีบุ๊กเลย เขาก็เลือกที่จะไม่อ่านเลยก็ได้เพราะไม่มีที่เก็บ ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ แต่ก็จะมีคนกลุ่มที่เก็บทั้งหนังสือ และอีบุ๊กถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับสำนักพิมพ์ได้สองเท่า เก็บทั้งเล่มและอีบุ๊ก อันนี้สนพ.ได้สองเท่า

จากสถิติที่ญี่ปุ่นทำมาพบว่า ตั้งแต่มีอีบุ๊กตลาดมังงะขายดีขึ้นหลังจากถดถอยมาหลายปี แสดงให้เห็นว่าอีบุ๊กไม่ใช่ของที่มาแทนหนังสือ ผมมองว่าของที่มาแทนกันจริงๆ น่าจะเป็นความบันเทิงอย่างอื่นเช่น เน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ ถ้าผู้บริโภคเขาไม่อ่าน ก็เลือกไปดูอย่างอื่นเลย ฉะนั้นสำนักพิมพ์ไม่น่ากังวลถ้าพวกเรายังมีอีบุ๊ก

รวิวร บอกว่า สมัยก่อนผมเคยเดินสายตามสำนักพิมพ์มีบางที่เปิดใจ บางที่ไม่เปิดใจ แต่ตอนนี้หลายที่ก็เปิดใจแล้ว เพราะช่วงหลังๆ ยอดขายหนังสือดิ่งลง แต่พอมาตอนหลังๆ แม้จะเริ่มกลับมาขายได้บ้างแต่ก็ไม่ดีเท่ากับยุครุ่งเรือง ซึ่งหลายเจ้าที่มาจอยกับเรา เขาก็เชื่อแล้วว่าต้องไปด้วยกัน

ทั้งนี้ แม้ยอดขายหนังสือเล่มจะพอๆ กับอีบุ๊ก หรืออีบุ๊กขายได้น้อยกว่า แต่หลายสำนักพิมพ์แฮปปี้นะเพราะว่ากำไรสุทธิสูงขึ้น เพราะลดต้นทุนเรื่องการพิมพ์ ค่าสายส่ง ค่าสต๊อก ซึ่งถือเป็นรายจ่ายที่มาระหว่างทาง พอเป็นอีบุ๊กเขาจัดการง่าย แม้ยอดขายจะลดลง 5% แต่กำไรมากขึ้น

กิตติพงษ์ เสริมว่า ถ้าไม่มีอีบุ๊กเป็นหัวหอกทะลวงฟัน ก็จะไม่มีคนเข้าถึงหนังสือ แบบที่คุณรวิวรบอกผู้บริโภคจะเลือกไปเสพสื่ออย่างอื่นแทน ฉะนั้นอีบุ๊กและหนังสือเล่ม ต้องสามัคคีกันให้ดีเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน

ส่วนการจัดเรตหนังสือกับละเมิดลิขสิทธิ์นั้นต้องบอกก่อนว่า เราเปิดกว้างงานเขียนทุกแนว แต่เราพยายามจัดระเบียบให้อยู่ในที่ทางเหมาะสม เราให้อิสระกับนักเขียนทุกท่านแต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม

"ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ เราจริงจังมาก งานเขียนรี้ดอะไร้ต์เยอะมาก แต่เรามีคอมูนิตี้ที่ดี นักอ่าน นักเขียนช่วยกันตรวจสอบ ถ้ามีเหตุที่ได้รับแจ้งเราก็จัดการและเทกแอ็กชันเร็วมาก"

ถ้าไม่รักก็อยู่ไม่ได้นานขนาดนี้

ตั้งแต่เราลงมือทำแฟลตฟอร์มเราคำนึงถึงคนที่เข้ามาใช้งานกับเราไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน นักเขียน เราจึงนำ DNA เหล่านี้ไปใช้ในโปรดักต์อื่นๆ ที่จะเปิดในอนาคตอันใกล้ หรือดิจิทัลคอนเทนต์อื่นๆ ส่วนโปรดักต์ที่มีอยู่แล้วก็จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อให้คนอ่านหนังสือมีความสุขมากขึ้น โดยในไตรมาส 1 น่าจะได้เห็นกัน 

ปัจจุบัน พนักงานที่ทำงานกับเราประมาณ 70-80 คน พนักงานส่วนใหญ่ก็เคยเป็นผู้ใช้งาน และชื่นชอบเรามาก่อน โดยเฉพาะทีมรี้ดอะไร้ต์ ที่ผ่านมา เรามั่นคงในจุดยืน และหลักการ ดูแลนักเขียนทุกคนอย่างเสมอภาค ถ้าไม่มีหลักการอะไร มวลชนผลักไปผลักมา เราก็อาจจะเป๋ได้ ทำอะไรก็คิดให้หนักแน่น หนักแน่น เราฟังเสียงทุกคน ถ้าไม่เข้าใจเราก็อธิบาย หลายๆ ครั้งก็ขอบคุณนักอ่าน นักเขียนทุกท่าน พวกเราอยู่แบบเรียบง่ายเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าไม่รัก เราก็อยู่ไม่ได้นานขนาดนี้

ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ