ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ภายหลังจากผู้นำยูเครนแสดงเจตนารมณ์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้นำรัสเซียอย่างยิ่ง และแม้ว่าทั้งสองฝ่ายพยายามหันหน้าเจรจาสงบศึกกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.65 ได้มีการเจรจาทางการทูตกลับยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากยูเครนยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของรัสเซีย นั่นคือ ยูเครนจะต้องปลดอาวุธและยอมรับสถานะเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รวมถึงยูเครนจะต้องรับรองว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และจะต้องให้การรับรองภูมิภาค Donbas เป็นรัฐอิสระ ส่งผลให้รัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตียูเครนเพื่อกดดันให้ทำตามข้อเรียกร้อง
ขณะที่ชาติตะวันตกก็ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียรุนแรงกว่าวิกฤติความขัดแย้งบนคาบสมุทรไครเมีย ไม่ว่าจะเป็นการปิดน่านฟ้ายุโรปห้ามเครื่องบินของสายการบินในรัสเซียบินผ่านการระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของ ปธน.รัสเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเฉพาะมาตรการปิดกั้นธนาคารบางแห่งของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT และการคว่ำบาตรสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่
อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อหนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงเกิน 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน มี.ค. เพียง 1 เดือน ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียงกับมุมมองเดิมที่ 3.8% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หนุนราคาน้ำมันเพิ่มสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. อาจทำให้เศรษฐกิจปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่หากลากยาวถึง 6 เดือนหลังจากนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ค่อนข้างสูง
ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวอย่างรุนแรง
ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก หลังชาติพันธมิตร NATO พยายามพุ่งเป้าไปที่แหล่งรายได้หลักของรัสเซียอย่างการลดการนำเข้าพลังงาน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศใช้ไปแล้วในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รัสเซียหยุดรุกรานยูเครนได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทั้งหมดของรัสเซีย ขณะที่อังกฤษประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับยุโรปที่มีแผนจะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียราว 2 ใน 3 ภายในปีนี้
นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานในยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย) ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวที่รุนแรงขึ้น
และกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ดีดตัวขึ้นสูงเกิน 130 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาสัญญาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าของยุโรป (Dutch TTF) ที่เพิ่มขึ้นจาก 82 ยูโรต่อเมกะวัตต์ จนไปแตะระดับ 227 ยูโรต่อเมกะวัตต์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรและอาหารก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการถูกรุกรานในยูเครนที่ยาวนานทำให้เริ่มเกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศรุนแรงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลยูเครนระงับการส่งออกชั่วคราวในกลุ่มเนื้อสัตว์ ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต บัควีท น้ำตาล ข้าวฟ่าง และเกลือ ขณะที่การส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด สัตว์ปีก ไข่ และน้ำมัน จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น
เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศห้ามส่งออกสินค้าและธัญพืชรวมกว่า 200 ชนิดไปจนถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งหากความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อต่อไป นอกจากจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ยังกดดันต้นทุนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร เช่น น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร น้ำเชื่อมข้าวโพด อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามอีกด้วย
รัสเซียเผชิญทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ และการเงิน
คาดเศรษฐกิจรัสเซียปีนี้อาจหดตัวถึง 7% ที่ผ่านมา รัสเซียพยายามลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติในหลายมิติ ทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ลดลงกว่า 30% การระดมทุนผ่าน Eurobond และขนาดเงินทุนสำรองในรูปของดอลลาร์ฯ ที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2014 แต่การตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็กระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ไม่น้อย
โดย Goldman Sachs ประเมินว่า เศรษฐกิจรัสเซียปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมาหดตัว 7% (จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2%) ขณะที่เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นไปถึง 17% (จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5%) นอกจากนี้ หากการคว่ำบาตรครอบคลุมไปถึงการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็น 50% ของการส่งออก หรือ 1 ใน 3 ของรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเมืองของรัสเซียรุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เงินรูเบิลยังอ่อนค่าอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งจากการตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT กระทบสินทรัพย์ในตลาดการเงินของรัสเซียสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ แม้รัสเซียได้เพิ่มเงินทุนสำรองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2014 แต่การเข้าถึงเงินทุนสำรองของรัสเซียทำได้เพียง 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งอยู่ที่รัสเซียและจีน
ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลเทียบดอลลาร์ฯ (USDRUB) อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงถึง 60%YTD หรืออ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ (ณ วันที่ 11 มี.ค. ค่าเงิน USDRUB อยู่ที่ 120.38 รูเบิลต่อดอลลาร์ฯ) ทำให้ธนาคารกลางของรัสเซียจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทันทีจาก 9.5% เป็น 20% พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้นักลงทุนขายสินทรัพย์บางส่วน เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินรูเบิลไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงไปมากกว่านี้
นอกจากรัสเซียที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงแล้ว ยุโรปอาจประสบภาวะขาดแคลนพลังงานครั้งใหญ่เช่นกัน โดยรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก และมีตลาดยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลัก ซึ่งยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นอันดับ 1 หรือราว 27%
อีกทั้งยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติสูงถึง 41.1% และเชื้อเพลิงแข็ง (เช่น ถ่านหิน) 46.7% (เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่นำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันที่ผ่านการกลั่นจากรัสเซียเพียง 8% ส่วนอังกฤษนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพียง 6% เท่านั้น)
ทั้งนี้ หากรัสเซียหันมาพิจารณาปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักอย่าง Nord Stream 1 ที่เชื่อมต่อไปยังเยอรมนีและหลายชาติในยุโรปตอบโต้ที่ชาติตะวันตกยังคงคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียต่อไป ก็จะยิ่งทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการขาดแคลนพลังงานรุนแรงขึ้น
โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่า หากก๊าซธรรมชาติเกิดอุปทานชะงักงัน (Supply Shock) 10% เมื่อเทียบกับระดับปกติ จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม และกระทบมูลค่ารวมเพิ่ม (Gross value added) ของยุโรปลดลง 0.7%
3 ผลกระทบหลักต่อเศรษฐกิจไทย
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี
- กรณีดีที่สุด: ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 1 เดือน (สิ้นเดือน มี.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
- กรณีฐาน: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ภายใน 3 เดือน (สิ้นเดือน พ.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-พ.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
- กรณีเลวร้าย: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 6 เดือน (สิ้นเดือน ส.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-ส.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
ผลต่อเงินเฟ้อ
- เงินเฟ้อครึ่งปีแรกอาจสูงเกิน 4.0% โดยเฉพาะไตรมาสที่ 1 (ในกรณี Best และ Base) จากอิทธิพลของฐานต่ำในปีก่อนและราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นที่ 3.4% (กรณีฐาน) และอาจเร่งสูงถึง 4.2% หากสถานการณ์ลากยาวออกไป (กรณีเลวร้าย) ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการลดค่าครองชีพที่อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง
ผลต่อภาคส่งออก
ส่งออกไทยไปยุโรปอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ถึงแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสู่รัสเซียและยูเครนรวมกันเพียง 0.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดหรือราว 1 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ผลกระทบที่น่ากังวลจะเกิดจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวกว่าเดิมหากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานรุนแรงขึ้น
เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังทวีปยุโรปสูงถึงราว 10% และโดยมากเป็นสินค้าที่อิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Cyclical) อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์และส่วนประกอบ
นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าที่ยากลำบากขึ้นอาจกระทบการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากฝั่งรัสเซียมายังเอเชียจะต้องขนถ่ายมายังท่าเรือหลักในยุโรป (เช่น Hamburg และ Rotterdam) ซึ่งจะขนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่ลงสู่เรือลำเล็กกว่าตามแต่ละประเภทสินค้าก่อน แล้วค่อยไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป ซึ่งภายหลังจากที่มีการประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้บริษัทขนส่งรายใหญ่ของโลกหลายรายตัดสินใจยุติคำสั่งเพื่อขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกจากรัสเซีย
โดยเฉพาะท่าเรือขนาดใหญ่อย่าง Great Port of Saint Petersburg ในทะเลบอลติก และท่าเรือ Novorossiysk ในทะเลดำ ทำให้รัสเซียใช้เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านระบบรางทรานส์-ไซบีเรียและการขนส่งทางบกจากจีน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งไทยนำเข้าจากรัสเซียสูงถึง 10% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทั่วโลก
ผลต่อภาคการท่องเที่ยว
ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจรัสเซียและการอ่อนค่าของเงินรูเบิลอย่างรุนแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย และหากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อก็อาจกระทบลามไปถึงยุโรปตะวันออกให้ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวออกไป
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมากจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เกิด COVID-19 ทำให้สัดส่วนชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือราว 3 หมื่นคนในปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ที่ไม่ถึง 4% ในปี 2019
บทวิเคราะห์โดย มานะ นิมิตรวานิช, พิมฉัตร เอกฉันท์ Krungthai COMPASS