ขบวนการแก้จน ตอนที่ 3 : สรรพาวุธพร้อม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขบวนการแก้จน ตอนที่ 3 : สรรพาวุธพร้อม

Date Time: 12 มี.ค. 2565 07:57 น.

Summary

  • ระบบ TPMAP พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้งานโดยหลายหน่วยงานในพื้นที่ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

Latest

กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย เอสเอ็มอีอ่อนแอ! เสี่ยงเป็นบริษัทซอมบี้

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย

จากสัปดาห์ก่อนหน้า “ขบวนการแก้จน” ระดมทัพจากทุกภาคส่วน และมีหลักคิดซึ่งถอดบทเรียนมาจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ แต่การจะเอา

ชนะศึกต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์เป็นสำคัญฉันใด การขจัดความยากจนก็ต้องอาศัยเครื่องมือฉันนั้น วันนี้จะมาคุยต่อถึงอาวุธหลักในการแก้จนซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตัวอย่างที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น โมเดลการแก้จนแบบจีน คือ การใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงลึกอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศจีนแล้ว มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมรับผิดรับชอบกับเป้าหมายการก้าวพ้นความยากจนของแต่ละครัวเรือนในพื้นที่ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าถึงเข้าใจคนจนแล้วจะสามารถใช้งานข้อมูลทุกมิติเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด ติดตามการดำเนินการจนกว่าจะลุล่วง

สำหรับไทยอาวุธสำคัญ คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินนโยบาย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC ดูแลระบบ และกระทรวงมหาดไทยถือสิทธิ์การใช้งานข้อมูลในแต่ละพื้นที่ในเชิงลึก

ระบบ TPMAP พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้งานโดยหลายหน่วยงานในพื้นที่ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และสำนักงานแรงงานจังหวัด เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้สัมผัสการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โดยตรง และได้เห็นการใช้ประโยชน์ตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบทานเพื่อพัฒนาคุณภาพของฐานข้อมูลไปในตัว

สำหรับผู้ดำเนินนโยบายในส่วนกลาง ได้ทดลองโครงการ Sandbox เชื่อมโยงข้อมูลแบบปกปิดตัวตนในบางจังหวัดเพื่อศึกษาความยากจน

ควบคู่กับสถานะหนี้สิน พฤติกรรมการเพาะปลูก และการรับเงินช่วยเหลือด้านเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับโมเดลแก้จนแบบจีน โดยอยู่ระหว่างพัฒนาความร่วมมือให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลภายใต้ธรรมาภิบาลที่รัดกุม ศึกษาวิจัยออกแบบนโยบายให้เกิดผลจริงในเชิงลึกและวงกว้าง

เทียบเคียงกับโมเดลการแก้จนแบบจีนแล้ว ขั้นตอนต่อไปหลังชี้ให้เห็นปัญหา คือ การมอบเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบกับการแก้ปัญหา และการสนับสนุนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละครัวเรือน เพื่อมุ่งสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยในหลายครั้งเราจะได้ยินคำถามจาก

คนในพื้นที่ว่าภาครัฐจะให้ปลูกพืชใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาครัฐเองก็ไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้ว่าพืชใดจะขาดแคลนหรือพืชใดจะมีปริมาณล้นตลาด จึงน่าสังเกตว่า การร่วมรับผิดรับชอบของภาครัฐควรมีขอบเขตแค่ไหน จะล่วงไปถึงการเสนอให้ผู้มีรายได้น้อยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้อย่างไร จึงเป็นช่องว่างเชิงนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือ

จากเอกชนและภาควิชาการ ที่แม้อาจจะอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของตลาด เช่นเดียวกัน แต่ก็มีความชำนาญในทางเทคนิคและการตลาดมากกว่าภาครัฐ อีกทั้งธุรกิจก็ต้องพึ่งพาความเข้มแข็งในพื้นที่เป็นแหล่งปัจจัยการผลิตและตลาดด้วย

โดยสรุปแล้ว ขบวนการแก้จนที่มีกระบวนทัพขนาดใหญ่ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ มีแผนงานหลักพิชัยยุทธ์เป็นรูปธรรม มีสรรพาวุธพร้อมทั้งข้อมูลชี้เป้าหมายและเครื่องมือสนับสนุนการดำรงชีพในมิติต่างๆ หากแต่คนทำงานเองก็อาจท้อถอยได้ แผนเองก็ต้องปรับเปลี่ยนตามความเป็นจริง และข้อมูลเองก็อาจคลาดเคลื่อน

ถึงที่สุดแล้ว หัวใจของการแก้จน คือการมีส่วนร่วมของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นทั้งมาตรวัดความสำเร็จเมื่อหายจน และเป็นหนทางให้ไม่กลับมาจนอีก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ