กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ชี้เป้ากรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน พ่นพิษ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างให้อุตสาหกรรมเหล็กวิกฤติไปทั่วโลก โดยหากยืดเยื้อกินเวลานาน จะทำให้การผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กและการจัดหาวัตถุดิบเกิดการขาดแคลนในระยะยาว เกิดการแย่งซื้อสินค้าไปทั่วโลก
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดสินค้าเหล็ก และห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าเหล็กทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตและใช้เหล็กต่างเร่งปรับตัวหาแหล่งวัตถุดิบอื่นทดแทน
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดสินค้าเหล็ก รัสเซีย และยูเครนเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 และ 12 ของโลก สินค้าเหล็กจากทั้งรัสเซีย และยูเครนมีส่วนแบ่งตลาดราว 14% ของการส่งออกสินค้าเหล็กของทั้งโลก โดยรัสเซียเป็นประเทศ ที่ส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากจีน และญี่ปุ่น) ขณะที่ยูเครนเป็นประเทศส่งออกสินค้าเหล็กอันดับ 8 ของโลก
สงครามทำพิษเหล็กจ่อขาดแคลน
โดยเมื่อปี 2564 มีการส่งออกสินค้าเหล็ก จากรัสเซีย 30.3 ล้านตัน และยูเครน 15.6 ล้านตัน ดังนั้น จากสถานการณ์ที่ยูเครนตกอยู่ในภาวะสงครามถูกรุกราน เหมืองแร่ และโรงงานเหล็กหลายแห่งในยูเครนต้องหยุดหรือลดการผลิต เช่น Metinvest ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดมากถึง 40% ของทั้งยูเครน ต้องหยุดการผลิตเหล็กของโรงงาน Ilyich และ Azovstal ที่เมืองท่า Mariupol โรงงานเหล็กและโรงงานถ่านโค้ก ที่เมือง Zaporizhstal ซึ่งถูกกองทัพรัสเซียรุกราน ในขณะที่รัสเซียถูกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ดังนั้น การส่งออกสินค้าเหล็กของจากทั้งรัสเซียและยูเครน ได้หายหรือถดถอยไปจากตลาดเหล็กโลก
“หลายๆ ประเทศที่เคยซื้อเหล็กจากรัสเซีย ยูเครน ต่างพยายามหาซื้อสินค้าเหล็กจากประเทศอื่นๆ เช่น จากจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าเหล็กรายใหญ่สุดของโลก แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้เต็มความต้องการ เพราะรัฐบาลจีนยังคงยึดนโยบายควบคุมการผลิต และการส่งออกสินค้าเหล็กโดยมีเป้าหมายต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง ทำให้สัดส่วนการผลิตเหล็กดิบของจีนเมื่อเทียบกับทั้งโลก ลดลงจาก 57% ในปี 2563 เหลือ 54% เมื่อปีที่ผ่านมา และคาดว่าความต้องการใช้เหล็กของจีนปีนี้จะยังใกล้เคียงปีที่แล้ว หากมีแนวโน้มที่จะมีการส่งออกสินค้าเหล็กจากจีน มากเกินไป รัฐบาลจีนอาจออกมาตรการ เพื่อควบคุมการส่งออก เช่น เพิ่มภาษีส่งออก”
หวั่นปัญหา “ห่วงโซ่อุปทาน” ดันราคาพุ่ง
ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าเหล็ก ก็ได้รับผลกระทบรุนแรงเสมือนการล้มของโดมิโน (Domino Effect) เนื่องจากทั้งยูเครนและรัสเซียเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับเหล็กแหล่งใหญ่ของโลก ทั้งถ่านโค้ก สินแร่เหล็ก แร่เหล็กปั้นเม็ด (Iron Ore Pellets) เป็นต้น ยกตัวอย่างการใช้แร่เหล็กปั้นเม็ดของทั้งโลกอยู่ที่ 120 ล้านตัน และเป็นวัตถุดิบจากรัสเซียและยูเครนมากถึง 30% โรงถลุงเหล็กจำนวนมากทั่วโลก แม้กระทั่งจีนก็ใช้สินแร่เหล็กจากยูเครน 17.5 ล้านตัน หรือประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทเหล็กใหญ่สุดของญี่ปุ่น ใช้แร่เหล็กปั้นเม็ดจากยูเครนและรัสเซียสัดส่วนมากถึง 14% ตลอดจนถ่านโค้กจากยูเครน เป็นต้น
“ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผู้ใช้เหล็กทั่วโลกกังวลว่าจะเกิดปัญหาปริมาณการผลิตเหล็กที่จะป้อนตลาดโลกมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาจเกิดภาวะขาดแคลน ทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็ก จึงมีการแย่งซื้อวัตถุดิบและสินค้าเหล็กกัน ขณะนี้ส่งผลกระทบถึงการส่งมอบวัตถุดิบ และสินค้าเหล็กยาวไปถึงไตรมาส 2 ของปีนี้แล้ว หากความขัดแย้งยืดเยื้อต่อไปอีก วัตถุดิบและสินค้าเหล็กจะยิ่งขาดแคลนยิ่งขึ้นในไตรมาสที่ 3”
“ประเทศไทยโดนผลกระทบของตลาดเหล็กโลกนี้ด้วย โดยก่อนเกิดโควิด-19 สินค้าเหล็กจากรัสเซีย และยูเครนมีส่วนแบ่งตลาดในไทยค่อนข้างมากถึง 1.04 และ 0.29 ล้านตันตามลำดับ โดยปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของการใช้เหล็กทั้งหมด แต่จากโควิด-19 ประกอบกับปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือ ทำให้การนำเข้าสินค้าเหล็กจากรัสเซียและยูเครนถดถอยลง 66% เหลือเพียง 0.31 และ 0.14 ล้านตันตามลำดับ รวมมูลค่าราว 9,000 ล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.4% เพราะผู้นำเข้าสินค้าเหล็กในไทย ได้ลดความเสี่ยง เน้นนำเข้าเหล็กในภูมิภาคเอเชีย”
ทั้งนี้ หากดูเพียงผลกระทบจากปริมาณสินค้าเหล็กจากรัสเซีย และยูเครนที่อาจหายไปจากตลาดไทย ดูเหมือนว่าเราอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ผลกระทบจากมิติห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบ สำหรับการผลิตสินค้าเหล็กส่งผลรุนแรงไปในวงกว้างกว่าจากการขาดแคลนวัตถุดิบ จนส่งผลให้ราคาสินค้าเหล็กทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก
จี้รัฐสนับสนุนเหล็กในประเทศ
นายนาวากล่าวว่า จากผลกระทบรุนแรงต่อตลาดเหล็กโลกจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เป็นกรณีให้ตระหนักว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นเสมือนกระดูกสันหลังที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ แนวโน้มที่น่าเป็นห่วง คือ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าเหล็กรวม 12.88 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2563) มากสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก หากประเทศไทยต้องพึ่งพิงสินค้าเหล็กจากต่างชาติมากเกินไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และความมั่นคงแห่งชาติ จึงขอสนับสนุนภาครัฐ ให้รักษาสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานภายในประเทศสามารถอยู่รอดรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกับการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างชาติไม่มากจนเกินไป
สำหรับมาตรการส่งเสริมให้ใช้สินค้าเหล็ก ที่ผลิตในประเทศไทยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าเหล็กด้วย ขณะที่การเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกำลังการผลิตเหล็กภายในประเทศไทยอย่างจริงจัง ด้วยการวางแผนการเพิ่มจำนวนโรงงาน และกำลังการผลิตเหล็กอย่างมีทิศทาง เน้นเพิ่มกำลังการผลิตเหล็ก เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ยังผลิตไม่ได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความ ต้องการทั้งปัจจุบันและแนวโน้มอนาคต ได้แก่ เหล็กคุณภาพสูงหรือเกรดพิเศษ เพื่อสอดรับกับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น เหล็กสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เหล็กสำหรับรองรับระบบขนส่งทางราง เป็นทิศทางที่เหมาะสม
“ที่สำคัญ รัฐบาลควรมีการพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยให้ผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตสินค้าเหล็กได้ทัน เพื่อบรรเทาหรือป้องกันปัญหาเหล็กขาดแคลน”.