ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าทัพนักลงทุนจาก “สาธารณรัฐเกาหลี” หรือ “เกาหลีใต้” ได้ยกระดับกระชับความสัมพันธ์กับ “ประเทศไทย” เพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้เม็ดเงินการค้าการลงทุนจากเกาหลีใต้มาสู่ประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ประเทศไทย” นับเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนของเกาหลีใต้ในภูมิภาคอาเซียน
ทำไม “เกาหลีใต้” ถึงได้เพิ่มความสนใจในประเทศไทย และความในใจของนักลงทุนเกาหลีใต้ที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างไร
“จอน โจยอง” อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ทั้งยังเป็นรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของเกาหลีประจำประเทศไทย และผู้แทนถาวรสาธารณรัฐเกาหลีประจำยูเอ็นเอสแคป (คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก) จะมาช่วยไขปมเหล่านี้
พร้อมสะท้อนให้ทางการไทยได้รับทราบเพื่อนำไปปรับใช้ ซึ่งจะช่วยให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้พอกพูนมากขึ้น
“ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณคนไทยและประเทศไทย ประเทศแรกในเอเชียที่ส่งทหารและความช่วยเหลือต่างๆให้แก่สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อช่วงปี 1950-1953” อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย เอ่ยเป็นประโยคแรกกับ “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ”
เพราะด้วยความกล้าหาญของทหารไทย ได้ทำให้เกาหลีใต้สามารถรักษาประเทศ รักษาเสรีภาพ ทำให้เกาหลีใต้มีความสงบสุขและสันติภาพมาจนถึงทุกวันนี้
หลังสงครามเกาหลี (ช่วงปี 1950-1953) เกาหลีใต้มีความยากลำบากอย่างมากในการที่จะบูรณะฟื้นฟูประเทศ ตอนนั้นเรามีคนน้อย ทรัพยากรต่างๆก็มีน้อย เพราะประเทศเพิ่งจะฟื้นจากภัยสงคราม
เกาหลีใต้ช่วงนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเริ่มจากศูนย์ ต้องค่อยๆเดิน ค่อยๆก้าว ลองผิดบ้าง ถูกบ้าง จากนั้นถึงได้เติบใหญ่ขยายตัวอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ (ปัจจุบันเกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดท็อปเทนของโลกโดยวัดจากจีดีพี)
เกาหลีใต้จึงอยากจะแบ่งปันความรู้ถึงการที่เกาหลีสามารถเติบโตอย่างทุกวันนี้ได้
โดยเฉพาะประเทศไทยที่เกาหลีใต้ยังรำลึกถึงน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของไทยที่ได้มาช่วยในช่วงสงครามเกาหลี จึงอยากจะมีส่วนร่วมกับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศให้พัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจหลักของเกาหลีก็เหมือนกับประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก (เกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 5 และผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 8 ของโลก)
และเกาหลีใต้ก็ต้องการที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศไทยมากขึ้น
ประเทศไทยกับเกาหลีไต้ได้มีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ทศวรรษ
แต่ได้เพิ่มความคึกคักมากขึ้นเมื่อปี 2555 ได้มีการยกระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” มุ่งหวังเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ
โดยรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศต่างมีเป้าหมายเดียวกันที่จะร่วมกันเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน
ดังนั้น เมื่อปี 2564 ซึ่งครบรอบ 10 ปีของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี จึงได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของการเสริมพลังให้กับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย และการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก 2022 (APEC Thailand 2022) ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (APEC) โดยจะมีการประชุมระดับผู้นำประเทศในเดือน พ.ย.นี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลทั้งสองประเทศคือไทยและเกาหลีใต้ในการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน และยังได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ของทั้งสองฝ่าย
เพราะในเดือน มี.ค.นี้ เกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ (วันที่ 9 มี.ค.2565) โดยรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นได้เพียงสมัยเดียว ดังนั้น ในการประชุมเอเปก 2022 ระดับผู้นำประเทศช่วงปลายปีนี้ เกาหลีใต้จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ สืบแทน “มุน แช อิน” (Moon Jae-in) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ในการประชุมเอเปก 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปีนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้จะได้มาทำความรู้จักกับนายกรัฐมนตรีของไทย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเพิ่มความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
ที่สำคัญทั้งไทยและเกาหลีใต้จะได้ใช้เวทีนี้ในการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้จะได้ถือโอกาสนี้รับรู้ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับประเทศไทยและผู้นำไทย ขณะเดียวกันยังจะมีการนำเสนอนโยบายใหม่ๆของเกาหลีใต้ในยุคผู้นำคนใหม่อีกด้วย
“เกาหลีใต้ต้องการเพื่อน ไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว เราจึงแสวงหาลู่ทางกระชับความสัมพันธ์กับทุกๆประเทศทั่วโลก เพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง”
และในการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆนั้น เกาหลีใต้ไม่ได้มุ่งแต่การค้าการลงทุนกับประเทศใหญ่ๆ หรือประเทศมหาอำนาจ แต่ยังได้พยายามเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน เป็นอีกกลุ่มประเทศที่เกาหลีใต้ให้ความสำคัญและความสนใจอย่างยิ่งยวด เห็นได้จากที่ประธานาธิบดีมุน แช อิน ได้ออก “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” (New Southern Policy-NSP) เพื่อต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
นโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” นี้ เกาหลีใต้ได้ประกาศขยายความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีมุน แช อิน ยังได้นำคณะนักลงทุนชั้นนำจากเกาหลีใต้มาร่วมเดินสายพบปะกับภาครัฐและเอกชนของประเทศต่างๆในอาเซียน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย เพื่อหารือลู่ทางในการเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างเกาหลีใต้กับอาเซียนให้มากขึ้น
โดยเกาหลีใต้ต้องการจะยกระดับความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนกับอาเซียน
สำหรับความสนใจของเกาหลีใต้ที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โครงการโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ตอัพ) เกาหลีใต้ยังให้ความสนใจกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลร่วมกันต่อไป รวมทั้งนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor-EEC) ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ยังพร้อมสนับสนุนประเทศไทยในนโยบายพัฒนาประเทศไทยไปสู่ “Thailand 4.0” และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ “BCG” (คือ B-Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ, C-Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว)
เกาหลีใต้มีความสนใจจะเข้ามาเพิ่มการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องสิ่งแวดล้อม หุ่นยนต์ สตาร์ตอัพ รวมทั้งเรื่องการวิจัยและการพัฒนา (R&D)
โดยเฉพาะเรื่องการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เห็นได้จากงบประมาณของเกาหลีในแต่ละปีจะให้กับเรื่องการวิจัยและการพัฒนาปีละประมาณ 10% เพราะการวิจัยและการพัฒนาจะทำให้ประเทศรุดหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์
จึงอยากจะมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยให้มีทักษะมากขึ้น เพราะไทยยังขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีทักษะ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งเพื่อรองรับนโยบายของไทยในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 และสมาร์ทซิตี้
เกาหลีใต้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก โดยในมุมมองของนักลงทุนเกาหลีใต้ที่มีต่อประเทศไทย มีความชื่นชมการบริหารจัดการของประเทศไทยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการควบคุมการระบาดของ “โควิด-19” ซึ่งรัฐบาลไทยทำได้ดีมาก และการที่ประเทศไทยมีทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี รวมทั้งสมาร์ทซิตี้ได้ยิ่งเพิ่มพูนความน่าสนใจของประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเกาหลีใต้เห็นว่าถ้าทางการไทยทำได้เพิ่มอีกสักหน่อยก็จะดีมาก จะยิ่งเอื้อต่อการค้าการลงทุน เพราะช่วยขจัดอุปสรรคการลงทุน
โดยนักลงทุนเกาหลีใต้อยากให้หน่วยงานของทางการไทยที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น บีโอไอได้มีการสอบถามนักลงทุนเฉพาะรายๆ ว่าต้องการอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ เพราะที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนมานั้น จะเป็นภาพโดยรวม ไม่ได้เจาะลึกในแต่ละส่วนแต่ละรายของประเภทธุรกิจ ซึ่งอาจมีความต้องการที่แตกต่างกันไป
ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย ซึ่งต้องการนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีความพยายามสร้างบรรยากาศการลงทุน โดยมีการสอบถามโดยตรงถึงความต้องการของนักลงทุนเกาหลีใต้ว่าถ้าจะให้เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย อยากจะให้ช่วยส่งเสริมการลงทุนอย่างไร เมื่อนักลงทุนเกาหลีได้แจ้งกลับไป ทางอินโดนีเซียก็ได้สร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนของเกาหลีในแต่ละราย ทำให้ที่ผ่านมามีนักลงทุนเกาหลีใต้เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก เช่น ฮุนได เข้าไปลงทุนในโครงการหุ่นยนต์ด้วยเม็ดเงินมหาศาล
ดังนั้น ถ้าไทยซึ่งทำดีอยู่แล้วในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน แต่ถ้าสามารถเพิ่มเติมในจุดนี้ ในเรื่องสอบถามนักลงทุนแต่ละรายว่าเขาต้องการอย่างไร และหาทางทำให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก
ขณะเดียวกันสิ่งที่นักลงทุนเกาหลีต้องการคืออยากให้ธนาคารเกาหลีสามารถเข้ามาตั้งในประเทศไทย เพื่อสะดวกต่อการทำธุรกรรมต่างๆมากยิ่งขึ้น แต่ติดขัดที่ทางการไทย โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีนโยบายให้ธนาคารต่างชาติได้เข้ามาเปิดเพิ่มในประเทศไทย ทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินของเกาหลีใต้จึงไม่สามารถเข้ามาจัดตั้งได้ ส่งผลให้นักลงทุนเกาหลีใต้ไม่สะดวกในการทำธุรกรรมในประเทศไทยมากนัก
การที่เกาหลีใต้เข้ามาทำธุรกิจทั้งการค้าการลงทุนกับประเทศไทยนั้น ถือว่าเกาหลีใต้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ เมื่อเทียบกับผู้เล่นเจ้าใหญ่ๆอย่าง ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ได้เข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยมายาวนาน
โดยเมื่อเทียบกับมิตรประเทศในเอเชีย สำหรับนักลงทุนเกาหลีใต้ช่วงแรกๆของการเข้ามาทำธุรกิจกับประเทศไทยจะรู้สึกอึดอัด มีความยากลำบากพอสมควร เพราะช่วงนั้นยังมีบริษัทเกาหลีใต้ในไทยไม่มากนัก ทำให้เวลาไปเจรจาการค้าการลงทุนจึงไม่ค่อยสะดวกราบรื่น ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่ 2 ฝ่ายจะรู้จักกันและไว้ใจกัน
แตกต่างกับนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะในประเทศไทยมีบริษัทญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก มีความเป็นปึกแผ่น เพราะเข้ามาทำธุรกิจในไทยมานานจนสร้างรากฐานที่มั่นคง
ขณะที่จีนก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยมายาวนาน มีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก การเข้ามาทำการค้าการลงทุนของจีนในไทยจึงเป็นไปอย่างอบอุ่น สามารถต่อยอดความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น
ดีที่ในช่วงหลังวัฒนธรรม “เคป๊อป” (K-Pop คือ เพลงป็อปของเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ) ได้เบ่งบานกระจายไปทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ทั้งยังแตกหน่อไปยังวงการบันเทิงสาขาต่างๆ ทั้งซีรีส์ ละครทางโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ได้ช่วยเป็น “สะพาน” ให้นักลงทุนเกาหลีใต้สามารถเข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งการค้าการลงทุนได้สะดวกราบรื่นมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้บรรยากาศการเจรจาทางธุรกิจดีขึ้นกว่าเดิม
“เคป๊อป” รวมทั้งซีรีส์ และภาพยนตร์เกาหลี นับเป็นหนึ่งใน “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่สำคัญของเกาหลีใต้ที่นอกจากช่วยเผยแพร่ประเทศและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ให้เป็นที่รู้จักกันทั้งโลก ช่วยบุกเบิกเส้นทางการค้าการลงทุนของเกาหลีไปยังประเทศต่างๆ และจากประเทศต่างๆมายังเกาหลีใต้
และเราได้เห็นศักยภาพและหลายสิ่งที่เป็น “ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทย” ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเลยก็คือ “ยิ้มสยาม” และ “อาหารไทย” ขณะที่ “ความประนีประนอม” เป็นอีกเอกลักษณ์ของสังคมไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดให้นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น!!!
ทีมเศรษฐกิจ