ธปท.เดินหน้าดูแลเงินเฟ้อ สินค้าบางประเภทแพงขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นแบบวงกว้าง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท.เดินหน้าดูแลเงินเฟ้อ สินค้าบางประเภทแพงขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นแบบวงกว้าง

Date Time: 11 ก.พ. 2565 17:07 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • แบงก์ชาติ อธิบายเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้นจึงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท ไม่ใช่การปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าในวงกว้าง พร้อมเดินหน้านโยบายการเงินยังให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

Latest


แบงก์ชาติ อธิบายเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้นจึงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท ไม่ใช่การปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าในวงกว้าง พร้อมเดินหน้านโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน และนางรุ่งพร เริงพิทยา ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน อธิบายเรื่องเฟ้อในประเทศไทยดังนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคมปรับเพิ่มมาที่ร้อยละ 3.23 จาก 1. ราคาพลังงานเป็นสำคัญโดยราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30 เทียบกับปีที่แล้ว

2. อาหารสด เช่น เนื้อหมู โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเฉพาะบางหมวด ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นในหลายๆ สินค้าพร้อมกันเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ มีสินค้าจำนวนมากเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราคาที่คงที่หรือลดลง

สำหรับเงินเฟ้อในระยะต่อไป แนวโน้มของราคาน้ำมันรวมถึงการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ และเนื้อหมู จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ อีกทั้งกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

โดยธปท. จะติดตามภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว จะทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการการเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อลดภาระหนี้ แก้หนี้เดิม เติมเงินใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ การขึ้นราคาของสินค้าบางรายการตั้งแต่ต้นปี เช่น ราคาน้ำมันขายปลีก อาหารสด อาหารนอกบ้าน เครื่องปรุงอาหาร เกิดจากปัจจัยเฉพาะของหมวดสินค้านั้นๆ (sector specific factor) เช่น ปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และอุปทานหมูที่ลดลงจากโรคระบาด ขณะที่เงินเฟ้อเป็นการวัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยรวม ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 400 รายการ และเป็นการเฉลี่ยราคาไปตามสัดส่วนของรายจ่ายที่ผู้บริโภคใช้ซื้อสินค้าแต่ละรายการ โดยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่น่ากังวลคือการที่ราคาสินค้าจำนวนมากปรับสูงขึ้นยกแผงไปด้วยกัน

โดยในช่วงเดือน ม.ค. 65 ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนรายการสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 56% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทย ขณะที่สินค้าเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อมีราคาคงที่หรือลดลง ตัวเลขเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้นจึงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท ไม่ใช่การปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าในวงกว้าง นอกจากนี้ สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติมีประมาณ 10% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทยซึ่งต่างจากในสหรัฐฯ ที่มีสูงถึง 35%

นอกจากนี้ จะเห็นว่าสินค้าที่มีการขึ้นราคานั้นเป็นสินค้าจำเป็นและคนซื้อบ่อยๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันพืช เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มขึ้นบ่อยครั้งและทำให้รู้สึกว่าขึ้นราคาบ่อยครั้ง เมื่อเทียบกับสินค้าที่นาน  คนซื้อที เช่น ทีวี หม้อหุงข้าว ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงราคาที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งนัก

ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค แต่ผลกระทบดังกล่าวจะมีมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นกับรายได้ของผู้บริโภคแต่ละคน รวมถึงลักษณะสินค้าและปริมาณที่บริโภคว่าเป็นสินค้าที่ราคาแพงขึ้นมากหรือไม่

โดยปกติแล้วราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายครั้งราคาปรับสูงขึ้นชั่วคราวหรือเฉพาะสินค้า เช่น ในกรณีสินค้าขาดตลาดจากน้ำท่วมหรือโรคระบาด ราคาจะปรับลดลงเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ในทางตรงข้ามการปรับขึ้นราคาที่น่ากังวลจะมีลักษณะเป็นวงกว้างในหลายสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยมากเกิดจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและกำลังซื้อที่อยู่ในระดับสูง (demand-pull) ทำให้มีความต้องการสินค้าอย่างมากขณะที่ปริมาณสินค้าที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อของผู้บริโภค

การเปลี่ยนแปลงของราคาที่ควรต้องเฝ้าระวัง คือ 1. ราคาเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้าพร้อมๆ กัน 2. ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และ 3. ราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อพฤติกรรมการตั้งราคาและมุมมองอัตราเงินเฟ้อในอนาคต เพราะหากผู้บริโภคมีมุมมองว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเพิ่ม อาจยิ่งเพิ่มความต้องการซื้อสินค้าต่างๆ ตั้งแต่วันนี้และทำให้ราคาเพิ่มขึ้นทันทีในวันนี้ และการเพิ่มขึ้นของราคาในวันนี้ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคมองว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้ประกอบการ

หากคาดว่าราคาสินค้าและวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นในอนาคต อาจมีการกักตุนวัตถุดิบล่วงหน้าซึ่งอาจทำให้ราคาวัตถุดิบปัจจุบันปรับขึ้น หรืออาจมีการขึ้นราคาสินค้าล่วงหน้าเผื่อต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งทั้ง 2 ทางนี้ทำให้ราคาสินค้าและวัตถุดิบปัจจุบันเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ผู้ประกอบการคิดว่าราคาในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ มุมมองที่ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอาจทำให้ลูกจ้างเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งหากนายจ้างเพิ่มค่าจ้างให้จริง ผู้ประกอบการอาจต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีและผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้านั้น ๆ

ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสัญญาณการขึ้นราคาในหลายหมวดสินค้าพร้อม ๆ กัน โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค. 2565 มีการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและเนื้อสัตว์เป็นหลัก ขณะที่สินค้าและบริการอีก 188 รายการจาก 430 รายการมีราคาทรงตัวหรือลดลง แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะมีการเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทใดอีกบ้างในระยะต่อไป

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดลดลง เช่น เนื้อหมู หรือจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่งทางเรือ ซึ่งในปัจจุบัน ธปท. คาดว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่ได้เพิ่มต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

โดยอุปทานหมูคาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในเวลา 10 เดือน ส่วนปัญหาปัจจัยการผลิตชะงักงันในต่างประเทศ เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ จะทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านราคาทยอยลดลง

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อของหลายกลุ่ม เช่น ผู้บริโภค ธุรกิจ นักวิเคราะห์ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 2.1 และ 1.0 ตามลำดับ แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย สะท้อนว่าประชาชนยังมองว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราว โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง แต่ต้องติดตามต่อไปว่าหากเศรษฐกิจและกำลังซื้อฟื้นตัวเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการจะตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นหรือไม่และมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกคน แต่ผู้บริโภคแต่ละคนอาจจะรับรู้ถึงผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน โดยผู้บริโภคอาจจะเผชิญกับผลกระทบของการขึ้นราคาที่แตกต่างกันขึ้นกับลักษณะการบริโภคสินค้า เช่น น้ำมันพืชบางประเภทที่ราคาเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคน้ำมันพืชนั้นจะรู้สึกถึงผลของราคามากกว่าผู้บริโภคน้ำมันพืชประเภทอื่นที่ไม่ได้มีการขึ้นราคา หรือขึ้นราคาไม่มากเท่า

ในขณะเดียวกัน ประชาชนกลุ่มที่บริโภคสินค้าและบริการที่มีการขึ้นราคาในสัดส่วนที่สูงกว่า จะรับรู้ถึงผลกระทบของราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคนกลุ่มอื่น อาทิ หากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับสูงขึ้น กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มถึง 45% เมื่อเทียบกับกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่ 26% จะได้รับผลกระทบมากกว่า

สำหรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดูแลเรื่องเงินเฟ้อนั้น ธปท. จะติดตามภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นโยบายการเงินยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว จะทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในปัจจุบันขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการการเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อลดภาระหนี้ แก้หนี้เดิม เติมเงินใหม่ให้กับประชาชน เพื่อเสริมให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ