โพลล์ ม.หอการค้าไทย สำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในวันวาเลนไทน์และวันมาฆบูชา ลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน เหตุปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ลด สินค้าราคาแพง กลัวโควิดโอมิครอน ห่วงการจ้างงานและรายได้ ส่วนใหญ่นัดฉลองวาเลนไทน์ในบ้านแทนการออกนอกบ้าน ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภค–ธุรกิจร่วง จี้รัฐคุมค่าครองชีพ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.65 ว่า คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 2,068 ล้านบาท ลดลง 19.20% จากปีก่อนที่มูลค่า 2,560 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าต่ำสุดรอบ 15 ปีนับตั้งแต่ที่เริ่มสำรวจมา คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 1,176 บาท จากปีก่อนที่เฉลี่ย 1,306 บาท ผู้ตอบส่วนใหญ่กว่า 51% มองว่าบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้คึกคักน้อยกว่าปีก่อน เพราะเศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพงขึ้น การแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง ความกังวลเรื่องความปลอดภัยและตกงาน นอกจากนี้ ผู้ตอบ 83% เตรียมฉลองกับคู่รักในที่พัก หรือในบ้านแทนการออกนอกบ้าน จึงลดการใช้จ่ายลง นอกจากนี้ การสำรวจภาคสังคม คือ นักเรียน นักศึกษา มีความน่ากังวล เพราะผลสำรวจพบว่าจะมีเพศสัมพันธ์กันในวันวาเลนไทน์ โดยใช้โรงแรมและม่านรูด อีกทั้งกลุ่มวัยรุ่นและคนเริ่มทำงาน ระบุการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้ตอบ 47.6% ระบุว่า ยอมรับได้หากสามี/ภรรยาเคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน โดยกลุ่มที่ยอมรับได้มากที่สุดคือเจนซี ขณะที่อีก 52.4% ยอมรับไม่ได้ นำโดยเจนเอ็กซ์
ผู้ตอบจำนวนมากยังมองว่าปัจจุบันปัญหาเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นมากเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโสเภณีเด็ก การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ติดยาเสพติด เด็กเร่ร่อน พ่อ-แม่ไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดู ขาดศีลธรรม การยกพวกตีกัน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน คลอดแล้วทิ้ง ล่วงละเมิดทางเพศของคนใกล้ชิด และล่อลวงทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาดูแลเพื่อไม่เป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงในอนาคต
นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ยังได้สำรวจการใช้จ่ายเงินในวันมาฆบูชาวันที่ 16 ก.พ.65 ประชาชนระบุว่าจะใช้จ่ายลดลง เพราะปัญหารายได้ วิตกต่อเศรษฐกิจ การเมือง โอมิครอน รวมถึงเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ คาดเงินสะพัด 1,900-2,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ใช้จ่าย 2,321 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 7 ปี นับจากเริ่มสำรวจมา
นายธนวรรธน์ยังเปิดเผยการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ม.ค.65 ว่า ลดลงทุกรายการ โดยความเชื่อมั่น ผู้บริโภค อยู่ที่ 44.8 ลดลงจาก 46.2 ในเดือน ธ.ค.64 ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และความเชื่อมั่นหอการค้า ที่สำรวจจากสมาชิกหอการค้าไทยอยู่ที่ 37.2 ลดลงจาก 37.8 ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เพราะความกังวลการแพร่ระบาดโอมิครอน, การยกเลิกเทสต์แอนด์โก ทำให้รายได้การท่องเที่ยวลดลง, ผลกระทบราคาน้ำมัน วัตถุดิบและราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและครึ่งแรกปีนี้ มีโอกาสสูงถึง 3% รวมถึงการเมืองมีเสถียรภาพลดลง เพิ่มแรงกดดันให้ประชาชนระมัดระวังใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าให้ประเมินความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. มีแนวโน้มลดลงอีก สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ การเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนเอสเอ็มอี การผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนกลับมาทำธุรกิจได้ และเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ, ขยายคนละครึ่ง เฟส 5 วงเงินเกิน 1,500 บาทต่อคน เพราะช่วยเติมเงินเข้าระบบการค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่งผลต่อไปถึงให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น, รับนักท่องเที่ยวมากขึ้น, ยกเลิกแนวคิดล็อกดาวน์จำกัดพื้นที่, เร่งเคาะมาตรการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเดินทาง รวมทั้งลดภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็น.