สรุปการยื่นภาษีคริปโตเคอร์เรนซี พร้อมแนะ 2 วิธีคิดต้นทุนอย่างละเอียด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุปการยื่นภาษีคริปโตเคอร์เรนซี พร้อมแนะ 2 วิธีคิดต้นทุนอย่างละเอียด

Date Time: 4 ก.พ. 2565 08:24 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • วิธียื่นภาษีสำหรับนักลงทุนคริปโตฯ หลังสรรพากรประกาศแนวปฏิบัติยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมผลกำไร-ขายทุนในปีภาษีเดียวกัน เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี ด้วยการทำบัญชีกำไร/ขาดทุนในการเทรด

Latest


  • วิธียื่นภาษีสำหรับนักลงทุนคริปโตฯ หลังสรรพากรประกาศแนวปฏิบัติยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย
  • รวมผลกำไร-ขาดทุนในปีภาษีเดียวกัน เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี ด้วยการทำบัญชีกำไร/ขาดทุนในการเทรด
  • ทำบัญชีต้นทุนในการขุดเหรียญให้ละเอียดชัดเจน เพื่อใช้คิดเงินได้รวมกับรายได้อื่นๆ สำหรับยื่นภาษีประจำปี

เรียกได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 64 จนถึงต้นปี 65 เป็นต้นมา เรื่องการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาพอสมควร โดย วีระพล บดีรัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า และ K WEALTH GURU ธนาคารกสิกรไทย อธิบายว่า ภาษีคริปโตฯ ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด เพราะมีจำนวนนักลงทุนในตลาดคริปโตฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

จากข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในเดือน พ.ย. 64 ที่ผ่านมามีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสูงถึง 1,979,847 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่มีจำนวนบัญชีเพียงหลักหมื่น

ล่าสุด กรมสรรพากรได้ประกาศแนวปฏิบัติการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซีที่ชัดเจนมากขึ้นในหลายประเด็น สามารถสรุปได้ดังนี้

1. การยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายคริปโตฯ ผ่าน Exchange Platform ยังไม่สามารถระบุตัวตนของผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบความถูกต้อง และหักภาษีได้ถูกฝาถูกตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้

2. สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีภาษีเดียวกันได้ เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี จากแต่เดิมที่ให้คิดเฉพาะรายการที่ได้กำไร ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์อย่างมากถึงความไม่เป็นธรรมสำหรับนักลงทุน

3. วิธีการคิดต้นทุน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

- คิดด้วยวิธี เข้าก่อน-ออกก่อน First in, First out หรือที่เรียกว่า FIFO

- วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average Cost ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 1 ก.พ. ซื้อคริปโตฯ A จำนวน 1 เหรียญในราคา 10,000 บาทต่อเหรียญคริปโตฯ ต่อมาในวันที่ 3 ก.พ. ซื้อเพิ่มอีก 1 เหรียญในราคา 12,000 บาท

ถ้าใช้วิธี FIFO ในการคิดต้นทุนเมื่อจะขายออก 1 เหรียญ จะใช้ราคาของเหรียญที่ซื้อเข้ามาก่อน นั่นคือ 10,000 บาท

แต่ถ้าใช้วิธี Moving Average Cost ทั้งสองเหรียญจะมีต้นทุนเฉลี่ย 11,000 บาท คือนำราคาซื้อทั้งหมดมารวมกันหารด้วยจำนวนเหรียญ

4. การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้วัด ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ย

นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้พูดถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในอนาคต เช่น การให้เจ้าของ Exchange Platform เป็นผู้ดูแลในการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับสรรพากร เนื่องจากอาจเกิดความผิดพลาดได้ในกรณีที่นักลงทุนมีปริมาณการซื้อขายหลายรายการในหนึ่งปี

รวมถึงการเปลี่ยนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อ ปกติจะใช้กับสินค้าหรือบริการที่หามูลค่าเพิ่มได้ยาก ซึ่งเหมาะกับการคำนวณรายได้และการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ มากกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ขณะเดียวกัน แนวปฏิบัติเรื่องการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายและการนำผลกำไรและขาดทุนรวมกันเพื่อคำนวณภาษี จะมีผลเฉพาะการซื้อขายผ่าน Exchange Platform ที่อยู่ภายใต้การดูแลของก.ล.ต. เท่านั้น และนักลงทุนยังคงต้องนำเงินได้จากคริปโตฯ มารวมกับเงินได้อื่นๆ เช่น เงินเดือน เงินจากธุรกิจ นำมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ เพื่อยื่นภาษีประจำปี และจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้า 5-35%

"เราอยากแนะนำให้นักลงทุนเตรียมยื่นภาษีด้วยการสรุปทำบัญชีกำไร ขาดทุนในการซื้อขาย หรือเทรด การ Stake เหรียญ และทำบัญชีต้นทุนในการขุดเหรียญให้ละเอียดชัดเจน"

ทั้งนี้ หากดูแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ในต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์และโปรตุเกส ยกเว้นภาษีคริปโตฯ ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์ ยกเว้นให้ในกรณีที่ลงทุนระยะยาว

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีอัตราเดียวกับหลักทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ อย่างหุ้น และสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับรายได้ที่ใช้คำนวณภาษี ในกรณีที่ไม่มีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ