คนกรุงรายได้ต่ำกว่า 15,000 อ่วม สินค้าพาเหรดขึ้นราคา ค่าใช้จ่ายพุ่ง 20%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนกรุงรายได้ต่ำกว่า 15,000 อ่วม สินค้าพาเหรดขึ้นราคา ค่าใช้จ่ายพุ่ง 20%

Date Time: 18 ม.ค. 2565 15:00 น.

Video

โลกร้อน ทำคนจนกว่าที่คิด "คาร์บอนเครดิต" โอกาสในเศรษฐกิจโลกใหม่

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบ คนกรุงเทพฯ ที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนอ่วม ของแพงทำค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20% ส่วนใหญ่มองภาวะนี่จะลากยาวมากกว่า 1 ปี

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบ คนกรุงเทพฯ ที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนอ่วม ของแพงทำค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20% ส่วนใหญ่มองภาวะนี่จะลากยาวมากกว่า 1 ปี

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่น่าจะกระทบจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้สะดุดลงอย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 มีผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน 

สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ราคาไข่ไก่ ราคาน้ำมันพืช ราคาพลังงาน ตลอดจนราคาค่าสาธารณูปโภค หรือ ค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ ภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้บริโภคบ้างแล้ว เช่น มาตรการตรึงราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาแก๊สหุงต้ม ราคาเนื้อไก่ โครงการหมูธงฟ้า เป็นต้น

แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหมวดค่าอาหาร เช่นเนื้อสัตว์ ผักสด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารปรุงสำเร็จ และอาหารนอกบ้าน รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า และ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันค่าขนส่งสาธารณะ

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น

คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 36% มองว่า มีค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 64 ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ

ขณะที่คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบและสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้มากกว่า

ทั้งนี้ ค่าครองชีพที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในระยะสั้น คนกรุงเทพฯ วางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยจะเลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ลดหรือชะลอการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน รวมไปถึงลดกิจกรรมสังสรรค์

โดยธุรกิจที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบหนักน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ยิ่งจะกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจดังกล่าวในระยะถัดไป

นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ยังเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ในราคาที่ถูกลง เช่น สินค้ามือสอง สินค้าแบรนด์รอง หรือ House brand สินค้าในช่วงจัดโปรโมชั่น รวมถึงการเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีราคาถูกลง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสของสินค้าแบรนด์รองที่จะเข้ามาทำการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคต่อไป

เมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรก คือ

1. ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในหลายประเภทมากขึ้น เช่น ราคาอาหารสดประเภทอื่นๆ เช่น อาหารทะเล ของใช้ในชีวิตประจำวัน และราคาพลังงาน

2. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดจนต้องการให้ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ที่สิ้นสุดลงตั้งแต่ ก.ย 2564

3. ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า หรือลดปริมาณสินค้า หรือ Resize แทนการปรับขึ้นราคาหากจำเป็น และเพิ่มการจัดโปรโมชั่นกิจกรรมลดราคาสินค้าให้ถี่ขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น อาหารปรุงสำเร็จ ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น

ในระยะข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าสถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นน่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และกว่า 50% คาดว่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นน่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และกว่า 50% คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะลากยาวมากกว่า 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการรับมืออยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงน้อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกเหนือจากการออกมาตรการเฉพาะหน้าที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคในระยะสั้นแล้ว เช่น การตรึงและควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น การจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า แล้วนั้น

ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนควรเร่งมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ให้ตรงจุด ตลอดจนควรเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดควบคู่ไปด้วย

เช่น การเพิ่มปริมาณหมูในนตลาดผ่านการสนับสนุนเงินทุนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้มาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรดระบาดในสัตว์ต่างๆ อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ภาคธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคและสร้างโอกาสการเติบโตในระยะถัดไป

เช่น ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า แทนการปรับขึ้นราคา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า รวมถึงการนำฐานข้อมูลลูกค้า มาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการได้แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ